เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเห็ดแครงขาย อีกหนึ่งทางเลือก สร้างรายได้เสริม
   
ปัญหา :
 
 
เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแก เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และงอกได้ตลอดปี โดยเฉพาะฤดูฝนจะพบเห็ดแครงงอกตามวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า กระดาษ ในภาคใต้ของไทยพบมากบนท่อนไม้ยางพารา ต้นยางพาราที่ตัดโค่นไว้ เมื่อท่อนไม้ตายและมีฝนตกก็จะพบเห็ดแครงขึ้นเป็นจำนวนมาก เห็ดแครงมีคุณค่าทางโภชนาการไม่แพ้เห็ดชนิดอื่น มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูง จึงให้พลังงานสูงกว่าเห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดฟาง และเห็ดหูหนู ในประเทศญี่ปุ่นจะใช้ทำเป็นยาได้ด้วย เพราะในเห็ดแครงมีสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อไวรัส และยับยั้งเซลล์มะเร็ง ส่วนในประเทศไทยเห็ดแครงจะเป็นที่รู้จักมากในแถบภาคใต้ โดยจะนิยมนำมาแกงคั่วกับปลาย่าง หรือนำมาย่างโดยโขลกพริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ ขมิ้น พริกไทย แล้วนำเห็ดแครงผสมลงไป พร้อมด้วยมะพร้าวขูด และไข่ไก่ แล้วห่อด้วยใบตองนำไปปิ้งกับเตาถ่าน ส่งกลิ่นหอมชวนให้น้ำลายไหลเลยทีเดียว

ปัจจุบัน เห็ดแครง เริ่มหายากขึ้น เพราะไม้ยางพารามีราคาสูงเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้น พื้นที่ป่าก็เหลือน้อย กลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ทำให้กว่าจะได้กินเห็ดแครงก็ต้องรอให้ถึงช่วงหน้าฝนถึงจะพบเจอเห็ดแครงบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เหตุนี้ทำให้มีผู้คิดค้นวิธีการเพาะเห็ดแครงขึ้น เพื่อจะได้มีเห็ดแครงบริโภคได้ตลอดปี



เกษตรกระบี่ เพาะเห็ดแครง

อาจารย์กาญจณี เตชะวรรักษ์ ครูชำนาญการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยอาจารย์ในภาควิชาอีกหลายท่าน เป็นผู้คิดหาวิธีการเพาะเห็ดแครง โดยเพาะหัวเชื้อจากเมล็ดข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น ซึ่งสูตรนี้จะมีวิธีการทำที่ยุ่งยากคือโดยแช่เมล็ดข้าวฟ่างในน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน นำไปต้มไฟปานกลาง เมื่อเมล็ดข้าวฟ่างเริ่มนุ่ม สรงขึ้นให้สะเด็ดน้ำบนตะแกรง เมื่อเย็นกรอกใส่ขวดแบน จากนั้นปิดจุกสำลี นำไปนึ่งความดัน โดยใช้ความร้อน 121 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วตัดเส้นใยจากแม่เชื้อในอาหารวุ้น ถ่ายลงไปด้วยเข็มเขี่ยในสภาพปลอดเชื้อ บ่มเส้นในที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 7-10 วัน ก็นำไปถ่ายลงวัสดุเพาะได้

จากนั้นให้นำเมล็ดข้าวฟ่างแช่ในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน แล้วเทน้ำทิ้ง เปลี่ยนน้ำใหม่ต้มให้เดือด จนเมล็ดข้าวฟ่างค่อนข้างสุก แล้วรินน้ำทิ้ง พักไว้ให้เย็นหมาดๆ ระหว่างนี้ให้ผสมขี้เลื่อย ปูนขาว และรำ เข้าด้วยกันก่อน จากนั้นจึงผสมน้ำลงไป (หากผสมพร้อมกันหมด รำจะจับติดเป็นก้อน) เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงนำเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้มาผสมอีกที จากนั้นกรอกใส่ถุงพลาสติค ขนาด 6 x10 นิ้ว ให้มีน้ำหนัก 600 กรัม ใส่คอขวด รัดยาง และปิดสำลีแล้วปิดด้วยฝาปิด จากนั้นนำไปนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน 15 ปอนด์ เป็นเวลา 30 นาที หรือนึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ได้เวลาแล้วพักไว้ให้เย็น จึงรีบใส่เชื้อในเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้ทันที พยายามอย่าทิ้งถุงไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนสูง

และเพื่อลดขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากลง อาจารย์กาญจณีจึงได้คิดค้นสูตรก้อนเชื้อใหม่ มาเป็นการใช้รำละเอียดแทน เพื่อช่วยลดขั้นตอนการผลิต จนประสบความสำเร็จ เป็นที่สนใจของเกษตรกรในท้องที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก จึงได้นำสูตรออกมาเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจในการเพาะเห็ด เพื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ต่อไป



สูตรก้อนเชื้อเห็ดแครง

อาจารย์กาญจณี บอกว่า การเพาะเห็ดแครงนั้น ขั้นตอนและการดูแลง่ายกว่าการเพาะเห็ดฟางมาก โดยขั้นตอนการเพาะเห็ดแครงสูตรใหม่นั้น มีดังนี้

ขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือไม้เนื้ออ่อน 100 กิโลกรัม รำละเอียด หรือปลายข้าว 50 กิโลกรัม ภูไมท์ 2 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม และน้ำสะอาด 75-80 กิโลกรัม



ขั้นตอนการเตรียมอาหารเพาะเห็ดแครง

1. คลุกขี้เลื่อย รำละเอียด และภูไมท์ให้เข้ากัน จากนั้นเติมน้ำสะอาดผสมดีเกลือ คลุกเคล้าให้เข้ากันพอหมาดๆ ระวังอย่าให้แฉะ

2. บรรจุใส่ถุงพลาสติคเพาะเห็ด ขนาด 6.5 x 10 นิ้ว ประมาณ 3 ใน 4 ของถุง หรือน้ำหนัก 600 กรัม ต่อถุง

3. อัดวัสดุเพาะพอแน่น สวมคอขวดใช้ยางรัด เจาะรูตรงกลางเพื่อให้เชื้อเห็ดอยู่ตรงกลางถุง ปิดจุกประหยัดสำลี

4. นำไปนึ่งในหม้อนึ่งลูกทุ่ง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด เมื่อครบกำหนดเวลา พักไว้ให้เย็นลำเลียงไปไว้ในห้องเขี่ยเชื้อ แล้วรีบใส่เชื้อ อย่าทิ้งไว้ให้เกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้การปนเปื้อนของเชื้อสูง

5. การเขี่ยเชื้อเห็ดควรเขี่ยในห้องที่สะอาดและลมสงบ นำเชื้อเห็ดที่จะเพาะมาเคาะให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายก่อน เพื่อสะดวกในการเทหัวเชื้อเห็ดลงถุง เปิดปากขวดออกลนด้วยเปลวไฟจากตะเกียงแอลกอฮอล์ ดึงจุกประหยัดสำลีที่จุกปากถุงออก แล้วเทหัวเชื้อที่เลี้ยงบนเมล็ดข้าวฟ่างลงไป ประมาณ 20-30 เมล็ด ผู้เพาะต้องระวังอย่าให้มือถูกเมล็ดข้าวฟ่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ก้อนเชื้อเสียได้ จุกสำลีที่จุดปากถุงห้ามวางกับพื้นเด็ดขาด และเมื่อเขี่ยหัวเชื้อลงในถุงแล้ว ต้องรีบปิดจุกสำลีทันที หัวเชื้อเห็ด 1 ขวด จะใส่ได้ประมาณ 30 ถุง

6. การบ่มก้อนเชื้อ ก้อนเชื้อที่เขี่ยเชื้อแล้วนั้น ควรเก็บในโรงเรือนสำหรับบ่มเชื้อทันที ภายในโรงเรือนบ่มเชื้อต้องสะอาด และที่สำคัญจะต้องมืด ขนาดที่อ่านหนังสือพิมพ์ไม่เห็นในระยะ 1 ฟุต มิฉะนั้นแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก ทั้งที่เส้นใยยังเจริญสะสมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจ หลังจากพักบ่มเส้นใยประมาณ 15-20 วัน เส้นใยจะเจริญเต็มถุง จึงนำไปเปิดดอก



วิธีการทำให้เห็ดแครงเกิดดอก

เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเต็มก้อนเชื้อแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การทำให้เห็ดแครงเกิดดอก ซึ่งอาจารย์กาญจณีแนะนำว่า ควรปฏิบัติดังนี้

1. การกรีดถุง ให้คัดเลือกถุงก้อนเชื้อที่เชื้อเจริญเติบโตเต็มที่ จากนั้นถอดคอขวดพลาสติคพร้อมกับจุกประหยัดสำลีออก รวบปากถุงใช้ยางรัดให้แน่น และใช้มีดคมๆ กรีดข้างถุงให้เป็นแนวยาว 4 แถว โดยให้กรีดในลักษณะเฉียงดีกว่าการกรีดตรง เพราะก้อนเชื้อจะเก็บความชื้นได้ดีกว่า และรอยกรีดจะยาวกว่าการกรีดตรง

2. การวางก้อนเชื้อ ในการวางก้อนเชื้อให้เกิดดอก วางได้ 2 วิธี คือ

2.1 การวางบนชั้น โดยให้แต่ละถุงห่างกันประมาณ 5-7 เซนติเมตร

2.2 การวางก้อนเชื้อแบบแขวน โดยตัวที่จะแขวนก้อนเห็ดประกอบด้วยเชือก 4 เส้น และแป้นพลาสติค จำนวน 3-4 แป้น เชือกจะร้อยเข้ารูแต่ละแป้นติดกันเป็น 1 ชุด แต่ละชุดจะแขวนก้อนเห็ดได้ 10 ก้อน



การดูแลรักษาก้อนเชื้อ หลังจากเปิดถุงแล้ว

สิ่งที่ต้องระมัดระวังให้มากก็คือ ความสะอาด มิฉะนั้น โรงเรือนอาจเป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงศัตรูเห็ดได้ ส่วนการดูแลรักษาก้อนเชื้อโดยทั่วไปให้ปฏิบัติดังนี้

หลังจากกรีดก้อนเชื้อและนำเข้าโรงเรือนเปิดดอกแล้ว ในระยะแรกของการรดน้ำควรรดเฉพาะที่พื้นโรงเรือน เพื่อให้ภายในโรงเรือนมีความชื้นที่เหมาะสมต่อการออกดอก เพราะในระยะแรกตรงบริเวณรอยกรีดเส้นใยจะขาด ต้องรอให้เส้นใยเจริญประสานกันก่อน ถ้ารดน้ำไปถูกก้อนเชื้ออาจจะทำให้น้ำเข้าตรงบริเวณรอยกรีด ก้อนเชื้อเห็ดอาจจะเน่าเสียหายได้ การรดน้ำและให้ความชื้นก้อนเชื้อเห็ดในโรงเรือนควรทำอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศแห้งก็ควรรดน้ำมากขึ้น เพื่อรักษาความชื้นในโรงเรือนให้ได้นานที่สุด

การเก็บผลผลิต ควรเก็บผลผลิตในระยะที่ดอกมีสีขาวนวลก่อนที่จะสร้างสปอร์ มิฉะนั้นสีจะคล้ำออกสีน้ำตาล หลังจากกรีดถุงและรดน้ำเห็ด ภายใน 2-3 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มปรากฏตุ่มดอกออกมา หลังจากนั้น ประมาณ 3-4 วัน ดอกเห็ดก็จะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ โดยใช้มือดึงดอกเห็ดเบาๆ ดอกเห็ดก็จะหลุดได้ง่าย ดอกเห็ดที่เก็บได้ในรุ่นแรกจะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-90 กรัม ต่อเห็ด 1 ก้อน หลังจากเก็บเห็ดรุ่นแรกแล้ว ประมาณ 5-7 วัน ก็เก็บเห็ดรุ่นที่ 2 ซึ่งจะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 30-40 กรัม ตามลำดับ

ดังนั้น เห็ดแครง 1 ก้อน (600 กรัม) จะให้ผลผลิตประมาณ 110-130 กรัม เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้ว ให้ขนก้อนเชื้อไปทิ้งให้เป็นที่และหมักให้ย่อยสลายดีก่อนแล้วจึงนำไปทำปุ๋ย เพราะเห็ดแครงสามารถย่อยสลายเนื้อไม้ได้ดี อาจเป็นอันตรายต่อผลิตผลทางการเกษตรบางชนิด สำหรับโรงเรือนเปิดดอกหลังขนย้ายก้อนเชื้อเก่าทิ้งไปแล้ว ควรทำความสะอาดโรงเรือนและพักโรงเรือนให้แห้ง เป็นเวลา 10-15 วัน แล้วจึงนำก้อนเชื้อเห็ดรุ่นใหม่ไปเปิดดอกต่อไป



ต้นทุนในการผลิตเห็ดแครง

ในการเพาะเห็ดแครงโดยใช้สูตรขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม รำละเอียด 50 กิโลกรัม ภูไมท์ 2 กิโลกรัม ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม น้ำ 80 กิโลกรัม จะได้ก้อนเชื้อเห็ดแครง จำนวน 385 ถุง (ถุงละ 600 กรัม) ผู้เพาะเห็ดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 1,377 บาท ดังนั้น เห็ดแครง 1 ถุง มีต้นทุนในการผลิตโดยเฉลี่ย ประมาณ 3.50 บาท เมื่อนำเห็ดแครงไปเปิดดอก เห็ดแครง 1 ถุง จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 100 กรัม



ปัญหาในการเพาะเห็ดแครง

ปัญหาของการเพะเห็ดแครงคล้ายกับการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ เช่น



1. เห็ดออกดอกที่จุก ทั้งที่เส้นใยยังเดินไม่เต็มก้อน สาเหตุเกิดจากขณะทำก้อนเชื้อไม่ได้เจาะรูให้ลึก จึงทำให้หัวเชื้อไม่ได้อยู่ตรงก้อนเชื้อ

2. เชื้อเห็ดที่ใส่ลงในก้อนเชื้อไม่เจริญ เกิดจากหัวเชื้อเห็ดเป็นเชื้ออ่อน หรือเส้นใยที่นำมาทำหัวเชื้อผ่านการต่อเชื้อมาหลายครั้ง ทำให้เส้นใยอ่อนแอ จึงไม่ควรมีการต่อเชื้อมากกว่า 6 ครั้ง

3. เส้นใยเดินแล้วหยุด สาเหตุเกิดจากถุงก้อนเชื้อมีความชื้นเกินไป

4. การเจริญเติบโตของดอกเห็ดไม่สมบูรณ์ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความชื้นในโรงเรือนไม่เพียงพอ ทำให้ดอกแห้งได้ รดน้ำมากเกินไป ทำให้น้ำขังอยู่ในถุงเห็ด ทำให้เห็ดเน่า เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ดหลังจากเปิดถุง เนื่องจากโรงเรือนสกปรก จึงควรทำความสะอาดโรงเรือน หรือมีแมลงเข้าไปทำลายก้อนเชื้อเห็ด ทำให้เห็ดไม่งอก จึงควรขุดฝังก้อนเชื้อที่เก็บผลผลิตแล้ว เพื่อช่วยลดการระบาดของศัตรูเห็ด



สำหรับราคาจำหน่าย ณ ปัจจุบัน ส่งหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 100-120 บาท ซึ่งจากปริมาณผลผลิตที่มีจำหน่ายในท้องตลาดถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงเห็ดแครงอีกเป็นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมาได้เปิดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจหลายๆ กลุ่ม ทั้งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และจังหวัดอื่นๆ อาทิ สตูล ภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช ระยอง น่าน ร้อยเอ็ด เป็นต้น เป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-5 วัน สอนตั้งแต่การทำเชื้อจนกระทั่งเปิดดอกและเทคนิคในการเพาะเห็ดแครงนั้นได้บรรจุให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัย โดยเน้นให้ความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ต่อไป



เห็ดแครงนั้นถือได้ว่าเป็นเห็ดเศรษฐกิจอีกตัวที่น่าสนใจ การเพาะและการดูแลรักษาก็ไม่ยากนัก ที่สำคัญเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงน้อย ทำให้ได้ราคาดี หากท่านใดสนใจวิธีการเพาะที่ละเอียด นำไปทำเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ สามารถติดต่อขอรับการฝึกอบรมและสอบถามได้ที่ สูตรก้อนเชื้อเห็ดแครง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี กระบี่ โทร. (081) 676-0606, (075) 666-022
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 465
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM