เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ยูคาลิปตัส พืชเศรษฐกิจทนเค็ม แม้อาจจะทำลายความสมบูรณ์ของดิน แต่แก้ได้โดยปลูกพืชหมุนเวียน
   
ปัญหา :
 
 
การที่น้ำในมหาสมุทรมีปริมาณสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดการแพร่กระจายของพื้นที่ดินเค็มมากขึ้นตามไปด้วย จึงเกิดผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย การแก้ปัญหาดินเค็มนั้นทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับสภาพดินให้มีความเค็มน้อยลง หรือจะเลือกปลูกพืชพรรณไม้ที่สามารถปรับตัวและเจริญเติบโตดีในสภาพดินเค็ม ซึ่ง "ยูคาลิปตัส" ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการปลูกเป็นไม้เศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตดีแม้ปลูกในพื้นที่ดินเค็ม

คุณศยามล สิทธิสาร
นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวของพืชเพื่อเผชิญหน้ากับสภาวะความเครียดจากความเค็ม ซึ่งจะทำให้พืชสร้างสารเพื่อเป็นกลไกในการต้านทานความเค็มขึ้นได้เอง หนึ่งในสารอินทรีย์ที่สำคัญที่พืชสร้างคือไกลซีนบีเทน (glycinebetaine) ซึ่งเป็นสารหลักที่ยูคาลิปตัสจะสร้างขึ้นมาเพื่อรักษาและคงสภาพให้เซลล์มีชีวิตอยู่ได้เมื่อเผชิญกับสภาวะความเครียดต่างๆ โดยในการทดลองนี้ความเครียดที่ถูกสร้างขึ้นกับยูคาลิปตัสคือความเค็ม ในพืชหลายชนิดเมื่ออยู่ในสภาวะความเค็มก็มักจะเกิดการสะสมของสารไกลซีนบีเทนเช่นกัน ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาจำเพาะเจาะจงในพืช "ยูคาลิปตัส" เพื่อดูการสะสมของไกลซีนบีเทนในยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซีส ภายใต้สภาวะความเค็ม มีกระบวนการศึกษาวิจัยโดยเริ่มจากการเลี้ยงเนื้อเยื่อยูคาลิปตัสในอาหารที่มีเกลือโซเดียมคลอไรด์ 0 ถึง 500 มิลลิโมลาร์ เพื่อดูการสะสมของไกลซีนบีเทน ศึกษาการทำงานของเอ็นไซม์บีเทนอัลดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส ซึ่งมีหน้าที่ในการสังเคราะห์ไกลซีนบีเทน, บันทึกข้อมูลและสังเกตการเจริญเติบโตของยูคาลิปตัสในระยะเวลา 45 วัน และปริมาณคลอโรฟิลล์ ทั้งในสภาวะภายใต้ความเค็มและสภาวะปกติ ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ รศ.ดร.ปุณฑริกา หะริณสุต อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

ผลการทดลองพบว่า การสะสมของไกลซีนบีเทนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความเข้มข้นจาก 0 ถึง 500 มิลลิโมลาร์ของโซเดียมคลอไรด์ และการแสดงออกของเอ็นไซม์บีเทนอัลดีไฮด์ดีไฮโดรจีนเนสสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของโซเดียมคลอไรด์ และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของไกลซีนบีเทนภายใต้สภาวะความเค็ม และไม่พบการเปลี่ยนแปลงปริมาณคลอโรฟิลล์ที่ความเข้มข้น 200 มิลลิโมลาร์ของเกลือโซเดียมคลอไรด์ ในช่วง 13 วันแรก อธิบายได้ว่ายูคาลิปตัสสามารถปรับตัวและเจริญเติบโตได้ดีด้วยตนเองในสภาวะที่มีความเค็ม ดังนั้น จึงเหมาะที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ดินเค็มและยังให้ผลผลิตที่ดีในสภาวะแล้งอีกด้วย และด้วยความที่ยูคาลิปตัสสามารถทนเค็มและทนแล้งได้ดีนี้ เป็นเพราะยูคาลิปตัสได้ดูดสารอาหารและแร่ธาตุในดินเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกลไกในการทนสภาวะความเครียดต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้ดินขาดสารอาหารอย่างรวดเร็วและกลายเป็นดินที่มีคุณภาพไม่ดี และต้องใช้ระยะเวลานานกว่าดินจะคืนสภาพสมบูรณ์ จึงมีข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกยูคาลิปตัสเป็นพืชเศรษฐกิจว่า ไม่ควรปลูกในปริมาณมาก และควรปลูกสลับหมุนเวียนกับพืชชนิดอื่นๆ บ้างเพื่อปรับความสมดุลให้ดิน อาทิ หญ้า พริก มะเขือ มันสำปะหลัง พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

นอกจากนั้น ควรมีระบบการกระจายน้ำที่ดี ซึ่งอาจขุดดินให้มีร่องกว้าง 1.0-1.5 เมตร ลึก 0.5-1.0 เมตร ทำคันดินอัดแน่นล้อมรอบ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและใช้น้ำล้างเกลือออกไปจากดิน ปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี และปลูกพืชคลุมดิน ระยะปลูกยูคาลิปตัสควรปลูกด้วยระยะห่าง 1x1 ถึง 2x2 เมตร ถ้าเนื้อดินมีลูกรังหรือเศษหินปน ให้ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกรองก้นหลุมก่อนใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ซึ่งตามหลักวิชาการด้านการเกษตรแนะนำให้ใส่ปุ๋ยโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ใส่ในอัตรา 55 กรัม ต่อต้น โดยใส่แบบรองก้นหลุมก่อนปลูก ระยะที่ 2 ใส่ในอัตรา 55 กรัม ต่อต้น โดยโรยรอบโคนต้นหลังปลูก 15 วัน และระยะที่ 3 ใส่อัตรา 55 กรัม ต่อต้น โรยรอบโคนต้นตอนปลายฤดูฝน

ผลสรุปที่ได้จากการศึกษาวิจัยการทนเค็มของยูคาลิปตัสในครั้งนี้ ซึ่งผู้วิจัยได้เลือกใช้ปริมาณความเค็มในการทดลองด้วยระดับที่สูงมากคือ เกลือโซเดียมคลอไรด์ 0 ถึง 500 มิลลิโมลาร์ ถือว่าเป็นระดับความเค็มที่สูงกว่าระดับความเค็มของดินเค็มที่มีอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งในพื้นที่ที่พบสภาวะความเค็มส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 350 มิลลิโมลาร์ ดังนั้น แม้ในพื้นที่ที่ดินมีสภาวะความเค็มสูงสุดหรือมีความแห้งแล้งสูง ก็สามารถปลูกยูคาลิปตัสเพื่อเป็นไม้เศรษฐกิจได้ เพราะยูคาลิปตัสจะสร้างกลไกในการปรับตัวให้เจริญเติบโตได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับดินโดยเกิดการสูญเสียแร่ธาตุต่างๆ ทำให้ดินบริเวณนั้นขาดความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็แก้ปัญหาได้โดยการปลูกพืชหมุนเวียนหรือพืชคลุมดินร่วมกับการบำรุงดินด้วยปุ๋ยชนิดต่างๆ ก็จะสามารถฟื้นฟูสภาพดินให้ดีได้
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 465
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM