เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเห็ดโอ่ง และปลูกผักในกระสอบ อาชีพเกษตรกรรมพอเพียง
   
ปัญหา :
 
 
ในสภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำอยู่ในปัจจุบันนี้ มีประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์หลายรายประสบสภาวะกับการขาดทุนและผลผลิตราคาตกต่ำ ได้เปลี่ยนหันมาหาอาชีพเกษตรกรรมอื่นที่ทำได้เร็วและลงทุนไม่สูง อาชีพยอดนิยมที่สร้างรายได้เร็ว ได้แก่ การเพาะถั่วงอก การเพาะเห็ด ฯลฯ โดยเฉพาะการเพาะถั่วงอกตัดรากแบบอินทรีย์และการเพาะเห็ดในตะกร้าพลาสติคแบบไม่ใช้โรงเรือน หรือแม้แต่การปลูกตะไคร้ ข่า หรือพืชผักสวนครัวอีกหลายชนิด การเพาะเห็ดในโอ่งเพื่อบริโภคในครัวเรือนและการปลูกผักปลอดสารพิษในกระสอบเป็นอาชีพเกษตรกรรมที่ทำง่ายและลงทุนไม่สูงมาก

หลายคนต่างก็ทราบดีว่า อาชีพการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเห็ดฟาง ซึ่งมีวิธีเพาะหลากหลายรูปแบบ ที่นิยมกันมากในขณะนี้ก็คือการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติคแบบไม่ใช้โรงเรือน หรือการเพาะเห็ดฟางในกระสอบ โดยวิธีการเพาะใช้แรงงานไม่มากนัก และต้นทุนการผลิตต่ำ สำหรับเห็ดชนิดอื่นๆ อาทิ เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดภูฏาน เห็ดหูหนู ฯลฯ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะซื้อเห็ดถุงมาเปิดดอก โดยทั่วไปการเพาะเห็ดดังกล่าวเหล่านี้จะต้องสร้างโรงเรือน ใช้เงินทุนสูงพอสมควร และถ้าจะเพาะในเชิงพาณิชย์ต้องตววจสอบเรื่องการตลาดให้ดีเสียก่อน แต่ถ้าจะเพาะเพื่อการบริโภคในครัวเรือนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลดความยุ่งยากและไม่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือน อีกทั้งใช้วัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนมาใช้ให้เกิดประโยชน์คือ โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว นำมาเพาะเห็ด จึงได้เกิดวิธีการ "เพาะเห็ดโอ่งไม่ต้องใช้โรงเรือน"

คุณสถาพร ตะวันขึ้น บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 4 ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 75120 เริ่มต้นด้วยการเพาะเห็ดโดยซื้อก้อนเชื้อมาเปิด แต่พบว่าจะต้องมีการลงทุนและมีความยุ่งยากในการสร้างโรงเรือน ถึงแม้มีข้อมูลว่าการเพาะในโรงเรือนเห็ดจะออกดอกได้ดี แต่ดูแล้วไม่ค่อยสะอาด จึงได้พยายามค้นหาวิธีการที่ลงทุนต่ำ มีวิธีการเพาะที่ง่าย และสะอาดปลอดภัย ได้ดอกเห็ดที่มีคุณภาพดี ที่บ้านคุณสถาพรมีโอ่งแตกอยู่และไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ จึงได้นำมาทดลองเพาะเห็ด วิธีการเพาะเห็ดโอ่งจึงเกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้โรงเรือน โดยเน้นเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เพราะจะได้เห็ดที่มีความสด คุณภาพดี และรสชาติอร่อย

โดยใช้โอ่งเก่า โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว เป็นที่เพาะ สำหรับวัสดุอื่นๆ ก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ซื้อก้อนเชื้อเห็ดถุงชนิดที่ต้องการจะเพาะ กระสอบป่านใส่ข้าวสารหรือตาข่ายพรางแสงสีดำและบัวรดน้ำเท่านั้น ขั้นตอนการเพาะอันดับแรกจะต้องเลือกสถานที่ใช้เพาะควรเป็นใต้ร่มไม้หรือบริเวณที่มีร่มเงา



วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดในโอ่ง

โอ่งมังกร (โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว) จำนวน 1 ใบ ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าหรือเห็ดถุงชนิดอื่นๆ จำนวน 20 ก้อน ซาแรนหรือกระสอบป่าน สำหรับปิดปากโอ่ง จำนวน 1 ผืน ไม้ไผ่ตีเป็นตะแกรง ขนาดความกว้างxยาว ให้พอดีกับขนาดโอ่งที่เตรียมไว้ กรอบไม้ทำฐานรองพื้นโอ่ง (ด้านนอก) ทรายหยาบ รองพื้นโอ่ง และเชือกฟาง เป็นต้น



ขั้นตอนการเพาะ

1. นำไม้ที่เตรียมไว้สำหรับทำฐานรองโอ่งด้านนอก มาตีล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างกรอบไม้เพียงพอต่อการวางพื้นที่ผิวของโอ่งที่จะวางในแนวนอน ไม่ให้โอ่งกลิ้ง

2. นำโอ่งมาวางในแนวนอน บนฐานกรอบไม้ที่เตรียมไว้ในบริเวณที่มีร่มเงา และอากาศถ่ายเทสะดวก

3. นำทรายหยาบมาเทรองพื้นโอ่งที่วางไว้ในแนวนอน กะให้มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อกักเก็บความชื้น

4. นำตะแกรงไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางด้านในโอ่ง โดยให้มีพื้นที่ว่างด้านบนมากกว่าพื้นที่ว่างด้านล่าง

5. นำก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก ด้วยวิธีการเปิดจุกก้อนเชื้อด้านบน บังคับให้ดอกออกเป็นกระจุกด้านบน ก่อนวางเรียงก้อนเชื้อเห็ดจนเต็ม (แล้วปิดปากโอ่งด้วยกระสอบป่านหรือซาแรน แล้วใช้เชือกผูกยึดกระสอบ (ด้านบน) กับขอบปากโอ่งให้แน่น โดยปล่อยชายกระสอบให้สามารถเปิดขึ้นลงได้

6. รดน้ำบนก้อนเชื้อเห็ด เช้า-กลางวัน-เย็น ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไป ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้กระบอกฉีดน้ำ พ่นน้ำให้เป็นฝอยๆ ในโอ่ง เพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่ก้อนเห็ด แล้วปิดปากโอ่งไว้ หลังเพาะประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมองเห็นตุ่มสีขาวเล็กๆ เกิดขึ้นบนก้อนเชื้อเห็ด ในช่วงนี้ต้องระวังเรื่องการรดน้ำ อย่าให้ดอกเห็ดโดนน้ำเป็นอันขาด มิฉะนั้น ดอกจะฝ่อและเน่าเสียหาย แต่ยังคงต้องพ่นน้ำให้ความชื้นอยู่ทุกวัน

7. หลังจากสังเกตเห็นตุ่มดอกเห็ด ประมาณ 7-10 วัน ตุ่มเห็ดจะพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สามารถเก็บมารับประทานได้จนกว่าดอกเห็ดจะหมดรุ่น ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน

ควรระมัดระวังเรื่องความชื้นในช่วงวันที่ 1-3 อย่าให้อุณหภูมิภายในโอ่งร้อน หรือขาดความชื้น ถ้าร้อนเกินไปให้เปิดปากกระสอบป่านเพื่อระบายอากาศออกจากโอ่ง

น้ำที่ใช้สำหรับการรดก้อนเชื้อเห็ดจะต้องเป็นน้ำที่จืด มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีคลอรีนเจือปน เรื่องน้ำที่ใช้รดก้อนเห็ดนั้นสำคัญมาก ถ้าน้ำกร่อยหรือเค็มจะส่งผลให้เห็ดไม่ออกดอก น้ำที่ดีที่สุดคือ น้ำฝน หรือจะใช้น้ำประปาที่ผ่านการขจัดคลอรีนออกแล้วก็ได้ผลดีเช่นกัน (การรองน้ำประปาตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จะช่วยขจัดคลอรีนออกไปได้)

เห็ดที่จะนำมาใช้ในการเพาะแต่ละชนิดนั้น จะมีความต้องการและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน เช่น เห็ดประเภทนางรม หูหนู และเป๋าฮื้อ จะต้องการสภาพอากาศที่ร้อนชื้นจนถึงสภาพอากาศตามปกติ ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดหอม จะต้องการอากาศที่ค่อนข้างเย็นในการเจริญเติบโต การเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดใดๆ ควรจะมีการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดนั้นๆ ด้วย

ปัจจุบัน วิธีการเพาะเห็ดโอ่ง ได้นำไปถ่ายทอดความรู้ยังศูนย์เรียนรู้ในเครือข่าย มหาวิทยาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณสรณพงษ์ บัวโรย โทร. (081) 315-3843 หรือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม โทร. (034) 702-829



คุณโสทร รอดคงที่ บัณฑิตหนุ่มจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 6 ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง โทร. (086) 463-7424 หันหลังจากงานประจำมาเริ่มต้นทำงานเกษตรแบบพอเพียง โดยการปลูกผักแบบปลอดสารพิษในกระสอบเก่า ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีพื้นที่น้อย เช่น อยู่ตึกแถว บ้านจัดสรร หรือสภาพดินไม่ดี



ขั้นตอนการปลูกผักปลอดสารพิษ

คุณโสทร แนะนำว่า สามารถใช้ได้ทั้งกระสอบปุ๋ย กระสอบอาหารสัตว์ กระสอบแป้งสาลี หรือกระสอบต่างๆ ขนาดใดก็ได้ ยกเว้นกระสอบป่านซึ่งไม่เหมาะสม สำหรับกระสอบปุ๋ยบางชนิดที่น้ำซึมผ่านยากนั้น ควรนำมาเจาะรูให้สามารถระบายน้ำได้ก่อน แต่ถ้าเป็นกระสอบที่รั่วน้ำได้ดี ก็นำมาใช้ได้เลยทันที ดินที่จะนำมาใส่กระสอบนั้นก็จะต้องผสมให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเน้นวัสดุปลูกที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ปุ๋ยคอกเก่า ปุ๋ยหมัก แกลบ แกลบเผา เศษใบไม้ ฯลฯ คลุกเคล้าให้เข้ากัน คุณโสทรแนะว่า ถ้าผสมปุ๋ยหมักจุลินทรีย์โบกาฉิผสมได้ด้วยก็จะยิ่งดี วิธีการทำปุ๋ยหมักจุลินทรีย์โบกาฉิคือ นำปุ๋ยคอกเก่า 1 ส่วน ผสมกับรำละเอียด 1 ส่วน ผสมกับแกลบหรือหญ้าแห้ง ฟางแห้ง ทะลายปาล์ม หรืออื่นๆ 1 ส่วน คลุกเคล้ากันให้ทั่ว จากนั้นนำกากน้ำตาล 40 ซีซี ละลายน้ำ 10 ลิตร ใส่จุลินทรีย์ 40 ซีซี คนให้เข้ากัน นำน้ำที่ได้ไปราดคลุกเคล้ากับวัสดุที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้แล้วทดสอบว่าปุ๋ยหมักใช้ได้หรือยัง ทดสอบโดยใช้มือขยำวัสดุดู หากมีน้ำไหลออกระหว่างนิ้ว แสดงว่าวัสดุแฉะเกินไป ให้เพิ่มวัสดุเข้าไปอีก ถ้าขยำเป็นก้อน แล้วปล่อยมือ ถ้าก้อนไม่แตกออกมาแสดงว่าพอดี ถ้าปล่อยมือแล้วก้อนวัสดุแตกทันที แสดงว่าวัสดุยังแห้งเกินไป ให้ราดน้ำจุลินทรีย์เพิ่มลงไป หมักวัสดุดังกล่าวโดยการกองไว้ในที่ร่ม ใช้กระสอบป่านคลุม ควรกลับกองวันละ 1 ครั้ง กลับกองปุ๋ยเรื่อยไปจนกว่าจะเย็น ซึ่งปุ๋ยหมักจุลินทรีย์โบกาฉิ จะนำมาใช้ได้ก็ราว 7-10 วัน



เทคนิคการใส่ดินในกระสอบ

ก่อนที่จะใส่ดินในกระสอบนั้น ผู้ปลูกจะต้องรู้ก่อนว่าจะปลูกผักชนิดใด เพื่อใส่ดินให้เหมาะกับชนิดผักนั้นๆ เช่น ถ้าปลูกผักที่มีรากยาว อย่างพริก มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ฯลฯ เราก็ต้องพับหรือม้วนปากกระสอบลงมาแล้วใส่ดินปลูกให้สูงสัก 20-25 เซนติเมตร ถ้าปลูกผักที่มีรากสั้น อย่างผักกินใบ พวกคะน้า กวางตุ้ง ฮ่องเต้ ฯลฯ ก็ใส่ดินน้อยลงมา ให้สูงสัก 10-15 เซนติเมตร แต่การวางกระสอบในแนวตั้งจะทำให้ได้พื้นที่ในการปลูกน้อยแนะนำให้ใช้วิธีการใส่ดินในกระสอบประมาณครึ่งกระสอบแล้วมัดปากกระสอบด้วยเชือก วางกระสอบให้นอนลง จากนั้นก็เจาะรูที่กระสอบ อุปกรณ์ในการเจาะ หากระป๋องปลากระป๋องมาทาบแล้วใช้มีดคัตเตอร์ตัดเป็นวงกลม เพื่อให้หยอดเมล็ดผักได้ โดยจำนวนรูที่เจาะก็ตามความเหมาะสม ประมาณ 9-12 รู แล้วแต่ขนาดของกระสอบ จากนั้นนำเมล็ดผักมาหยอดปลูกได้เลยทันที รดน้ำเช้า-เย็น เมื่อต้นผักงอกมีใบจริง 2-3 ใบ ก็ให้รดน้ำหมักชีวภาพจากปลา หอยเชอรี่ หรือน้ำหมักจากเศษผัก ผลไม้ หรือซื้อจุลินทรีย์ที่มีขายตามท้องตลาดนำมาผสมน้ำรดผัก ตามสะดวกที่จะหามาได้ ทุกๆ 5-7 วัน หรือจะใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก บ้างตามสะดวก ผักก็จะงามปลอดภัยกับสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากจะได้รับประทานผักจากฝีมือตัวเองแล้ว หากปลูกมากก็ยังนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เป็นอย่างดีทีเดียว





หนังสือ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 4" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ "อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 1- เล่มที่ 3" รวม 4 เล่ม จำนวน 336 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สมุทรสงคราม
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 466
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM