เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม ประโยชน์จากของเหลือใช้ สร้างรายได้หลักหมื่น
   
ปัญหา :
 
 
ปัจจุบัน วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเกษตรในแต่ละปีมีจำนวนมาก และสามารถหาได้ง่ายในแต่ละท้องถิ่น หากไปหาซื้อก็มีราคาถูกแสนถูก อย่างเช่น เศษขี้ฝ้าย ฟางข้าวหรือเปลือกมันสำปะหลัง ชานอ้อย เปลือกถั่วเขียว เปลือกถั่วเหลืองและทะลายปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้หากนำประยุกต์และคิดค้นนำมาทำผลิตภัณฑ์หรือใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า ก็สามารถสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ทะลายปาล์มที่เหลือจากการบีบน้ำมันนำมาเพาะเห็ดฟาง ถือเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นภาคใต้ นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดรายได้ แถมเป็นการช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นการนำสิ่งที่ทุกคนคิดว่าไม่มีคุณค่ามาสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดฟางยังสามารถมาทำปุ๋ยใส่ให้กับต้นไม้ได้อีก นับว่าเป็นการใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจรเลยทีเดียว

ตัวอย่างที่น่าสนใจที่นำวัสดุเหลือใช้มาพลิกแพลงสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดีนั้นคือ คุณสฤษดิ์ วิเศษมาก เกษตรกรชาวสวนปาล์ม อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 5 ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่

คุณสฤษดิ์ เล่าว่า เดิมนั้นเป็นคนจังหวัดสุราษฎ์ธานี แต่ตอนหลังมาแต่งงานอยู่กินกับภรรยาซึ่งเป็นคนกระบี่ ซึ่งมีสวนปาล์มอยู่ประมาณ 20 ไร่ ด้วยกัน ตั้งแต่เริ่มมาอยู่ สังเกตเห็นทะลายปาล์มที่เหลือถูกนำมากองรวมกันและทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ จึงคิดว่าน่าจะนำมาเพาะเห็ดฟางได้ ด้วยตั้งแต่เด็กนั้นอาชีพการเพาะเห็ดเป็นอาชีพที่พ่อแม่ทำมานานแล้ว จึงซึมซับและมีประสบการณ์พอสมควร จนเมื่อปลายปีที่แล้วได้กลับไปศึกษาวิธีการเพาะเห็ดจากคุณแม่และให้คุณแม่มาช่วยแนะนำการเพาะที่กระบี่ จนประสบความสำเร็จ เห็ดที่เพาะได้เป็นที่ต้องการของลูกค้ามาก โดยมีตลาดหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง จนถึงขนาดนี้ยังผลิตได้ไม่เพียงต่อความต้องการของตลาด

"ผมเป็นคนสุราษฎร์ พอแต่งงานก็ย้ายมาอยู่บ้านแฟนที่กระบี่ ตอนแรกก็ช่วยกันทำสวนปาล์ม แล้วเห็นว่ามีทะลายปาล์มที่บีบน้ำมันออกแล้วถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ จึงคิดว่าน่าจะนำมาเพาะฟาง น่าจะดีกว่า ประกอบกับผมเป็นคนที่เห็นพ่อกับแม่เพาะเห็ดขายมาตั้งแต่เด็กแล้ว ที่นี้ก็เลยให้แม่มาช่วยสอนวิธีการเพาะ ปรากฏว่าก็ได้ผลดี แถมตลาดก็ไปได้ดี ทำให้ผมหันมาทุ่มเทให้กับการเพาะเห็ดฟางเป็นรายได้หลักอย่างเดียวเลยครับ" คุณสฤษดิ์ เล่า

คุณสฤษดิ์บอกถึงเคล็ดลับและวิธีการเพาะเห็ดให้สำเร็จว่า การเพาะเห็ดฟางนั้นฟังดูเหมือนง่าย แต่พอทำแล้วไม่ง่ายอย่างที่คิด คนที่คิดจะทำต้องศึกษาให้ถ่องแท้ รู้จักอดทน มีความละเอียดถี่ถ้วน เพราะต้องดูแลเป็นอย่างดีเหมือนกับการเลี้ยงลูกเลยทีเดียว และการเพาะเห็ดฟางของเขาจะต่างจากที่อื่นๆ ที่ต้องลงทุนสร้างโรงเรือนขนาดใหญ่หรือใช้อุปกรณ์ในการเพาะ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ตนเองนั้นใช้ทะลายปาล์ม ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่ายในพื้นที่มาใช้เป็นอุปกรณ์ในการเพาะเห็ด โดยเมื่อก่อนจะใช้ทะลายปาล์มจากสวนของตนเอง แต่หลังจากได้ขยายพื้นที่การเพาะเห็ดเพิ่มขึ้น จึงต้องไปหาซื้อจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในราคาตันละ 400 บาท ซึ่งคุณสฤษดิ์บอกว่า คนที่อยากเพาะเห็ดนั้นต้องเริ่มต้นดังนี้



วิธีเตรียมพื้นที่

พื้นที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดฟาง


ต้องเป็นที่ราบสม่ำเสมอและใกล้แหล่งน้ำ ควรเป็นพื้นที่ไม่มีปัญหาของปลวก มด และน้ำท่วม ขณะเพาะเห็ดฟาง ก่อนเพาะต้องปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยเสียก่อน การเพาะเห็ดฟางไม่ควรเพาะซ้ำที่ เพราะจะเป็นการสะสมโรคและแมลงศัตรูเห็ด แต่ถ้าต้องการเพาะซ้ำที่เดิมให้ขุดพลิกดินตากแดดไว้ 7 วัน เพื่อกำจัดศัตรูเห็ดที่ตกค้างอยู่ และใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อปรับปรุงดิน

อุณหภูมิ (Temperature)

เห็ดฟางเป็นเห็ดที่ต้องการอุณหภูมิค่อนข้างสูงสำหรับการเจริญเติบโต ดังนั้น ในแปลงเพาะจึงมีการคลุมด้วยผ้าพลาสติค เพื่อให้อุณหภูมิในแปลงสูงขึ้น ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตควรอยู่ระหว่าง 30-35 องศาเซลเซียส

การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการเพาะ อุปกรณ์ในการเพาะเห็ด

ประกอบด้วย

1. ทะลายปาล์มน้ำมัน

2. อาหารเสริม หรือฮอร์โมน เป็นสิ่งสำคัญในการเพาะเห็ด เพราะวัสดุที่นำมาใช้มีธาตุอาหารน้อย เราจำเป็นต้องเพิ่มอาหารเสริมให้แก่แปลงเห็ด ซึ่งอาหารเสริมที่นำมาประกอบด้วย กากฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวาแห้งสับ หากต้องการให้มีสารอาหารมากขึ้น ก็นำมาคลุกกับรำละเอียด ก็จะเป็นอาหารเสริมชั้นดีของเห็ดได้

3. เชื้อเห็ดฟาง ควรเป็นเชื้อเห็ดพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง และเชื้อเห็ดไม่ควรแก่หรืออ่อนจนเกินไป

4. บัวรดน้ำ ควรมีฝักบัวช่วยให้น้ำแพร่กระจายทั่วแปลง และความชื้นในแปลงสม่ำเสมอ

5. พลาสติคสีดำคลุมแปลง เพื่อช่วยรักษาความชื้น และอุณหภูมิในแปลงเพาะเห็ดได้เหมาะสมต่อการเจริญของเห็ด

6. ไม้ไผ่ใช้ทำโครงคลุมผ้ายางพลาสติค

7. เชือก ใช้วัดขนาดของแปลงเพาะ ให้ได้มาตรฐานและสม่ำเสมอ

8. ภาชนะผสมเชื้อเห็ด+อาหาร

9. สายยางสำหรับใช้ฉีดล้างทำความอาดทะลายปาล์ม

10. เครื่องสูบน้ำ (ในกรณีที่ไม่มีน้ำประปา)



วิธีการเตรียมทะลายปาล์มน้ำมันและการหมักทะลาย

นำทะลายปาล์มน้ำมันมากองรวมกัน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม ใช้พลาสติคดำคลุมกองทะลายปาล์ม หมักไว้ทิ้ง 7-10 วัน หลังจากนั้นนำทะลายปาล์มที่หมักไว้มาเรียงในแปลง เรียงแบบให้ทะลายซ้อนๆ กัน ให้หัวทะลายอยู่ข้างบน ขนาดแปลงกว้าง 80 เซนติเมตร หรือขนาดทะลายปาล์มประมาณ 3 หัว ความยาว 4 เมตร โดยประมาณ (นี่เป็นการวางช่วงหน้าฝนที่ต้องวางให้หนา ทะลายปาล์มจะได้อมน้ำไว้เยอะๆ) ถ้าเป็นทะลายปาล์มยังใหม่มีลูกปาล์มติดอยู่ ซึ่งทำให้มีน้ำมันเยอะจะทำให้เป็นเชื้อราได้ ให้ทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน สังเกตว่า 4-5 วัน ทะลายปาล์มจะมีเชื้อราสีเหลืองขึ้น รอให้เชื้อราที่ขึ้นยุบลงก็ให้รดน้ำให้ชุ่ม แล้วคลุมผ้าไว้ 7-10 วัน เปิดดูถ้าทะลายปาล์มเริ่มนิ่มก็นำวางเรียงเป็นร่องได้เลย และถ้าเป็นช่วงหน้าฝนต้องใช้ทะลายปาล์มที่หนา ถ้าเพาะช่วงหน้าร้อนให้ใช้ทะลายปาล์มแบบบางๆ สาเหตุเพราะเห็ดฟางเป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ เห็ดจะขึ้นดีหรือไม่อยู่ที่การรักษาอุณหภูมิให้พอดี ถ้าหน้าฝนทะลายปาล์มบางไป เชื้อเห็ดก็ขึ้นรา ไม่สามารถขึ้นได้ ช่วงหน้าร้อนถ้าทะลายปาล์มหนาไป เห็ดก็ฝ่อไม่ขึ้นอีกเพราะว่ามีความชื้นมากไป สรุปคือถ้าชื้นมากไป เห็ดจะขึ้นรา หากร้อนมากไป เห็ดก็จะฝ่อ เพราะฉะนั้นผู้เพาะต้องเอาใจใส่ในเรื่องอุณหภูมิเป็นอย่างมาก จากนั้นให้ขึ้นไปใช้เท้าเหยียบลงบนทะลายปาล์มและใช้น้ำฉีดล้างจนสะอาด

เมื่อล้างจนแน่ใจว่าทะลายปาล์มสะอาดแล้ว ให้นำเชื้อเห็ดฟางผสมกับอาหารเสริมอัตราส่วน 12:1 คือเชื้อเห็ด 1 โหล ใช้อาหารเสริม 1 ถุง (อาหารเสริมราคา 25 บาท ต่อ 1 ถุง) ส่วนเชื้อเห็ดนั้นเขาบอกว่าสั่งซื้อมาจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง ซึ่งเขาบอกว่าเป็นเชื้อที่ดีที่สุด งอกแน่นอน ซื้อมาในราคา 15 บาทกว่า ต่อ 1 ก้อน และโดยจะใช้เชื้อจำนวน 2 ก้อน ต่อ 1 ร่อง โดยตอนที่ผสมเชื้อกับอาหารเสริมนั้นให้บดเชื้อกับอาหารเสริมให้ละเอียดด้วยมือเปล่าหรือใช้เครื่องปั่นก็ได้ จะทำให้เชื้อเห็ดขึ้นดี จากนั้นนำเชื้อที่ผสมแล้วไปหว่านลงบนแปลงให้ทั่ว จากนั้นนำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ทำเป็นโครง แล้วใช้พลาสติคดำคลุม (ถ้าขนาดร่อง 4 เมตร ให้ตัดผ้าพลาสติคเป็น 6 เมตร คลุมให้มิดตัว ความสูงของโครงนั้นสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดอุณหภูมิ แต่ภูมิภาคสภาพอากาศไม่เท่ากัน อย่างเช่น ถ้าเพาะแถวภาคกลางให้ใช้ความสูงของโครงประมาณ 1.90 เมตร ถ้าเพาะในภาคใต้อากาศร้อนมากให้โครงสูงประมาณ 2 เมตร) ทิ้งไว้นาน 3-4 วัน (ในระยะนี้ห้ามเปิดพลาสติคโดยเด็ดขาดเพราะเห็ดต้องการความร้อน) หลังคลุมพลาสติคไป 3-4 วันแล้ว ให้คอยกลับด้านพลาสติคหรือเปิดแง้มๆ ไว้ ทุก 3 วัน ต่อครั้ง เพื่อป้องกันเห็ดฝ่อหรือน็อคเพราะความร้อนเกินไป หรือถ้าวันไหนแดดแรง ช่วงเย็นก็ต้องเปิดพลาสติคออก เป็นการระบายอากาศให้เห็ดด้วย

"ผมทำอยู่ประมาณ 100 ร่อง แต่ละร่องจะยาว 4 เมตร กว้าง 80 เซนติเมตร และจะใช้ทะลายปาล์ม 3 หัว เรียงติดต่อกัน ผลผลิตแต่ละร่องจะเก็บได้ประมาณ 5-6 กิโลกรัม ต่อวัน เก็บผลผลิตได้เฉลี่ยอยู่ที่ 60 กิโลกรัม ต่อวัน" คุณสฤษดิ์ เล่า

การเก็บเกี่ยวและการตัดแต่งดอก หลังเพาะเห็ดไปได้อายุประมาณ 13-15 วัน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว การเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลา 05.00-07.00 น. เห็ด 20 ร่อง สามารถเก็บได้ 40 กิโลกรัม และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 20-25 วัน ต่อรุ่น และหลังจากเก็บเกี่ยวมาแล้วก็ให้ตัดแต่งสิ่งสกปรกออกจากเห็ดให้หมด

การคัดเลือกเกรด ขนาดใหญ่ จะมีขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไป ขนาดเล็ก น้อยกว่า 3 เซนติเมตร นอกจากนั้น ก็เป็นเห็ดหัวบาน เห็ดหัวแตกเป็นเกรดต่ำสุด

การบรรจุและการจัดจำหน่าย นำเห็ดไปบรรจุใส่ตะกร้า ตะกร้าละ 7 กิโลกรัม จากนั้นก็นำไปส่งให้กับพ่อค้าที่กรุงเทพฯ ทั้งที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ในราคาประกัน 45 บาท ต่อกิโลกรัม โดยจะไปส่งที่สนามบินกระบี่ทุกวัน นอกจากนั้น ก็นำไปจำหน่ายตลาดในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในราคา 38-40 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้มีรายได้ถึง 1,600 บาท ต่อวัน

ต้นทุนลงทุนครั้งแรก 4,000 บาท



ศัตรูเห็ดที่ต้องระวัง

โรคและศัตรูเห็ดฟาง (Diseases and Pests)


โรคและศัตรูเห็ดฟาง เป็นปัญหาในการเพาะเห็ด เพราะโรคและศัตรูเหล่านี้จะคอยทำลายเส้นใยเห็ด ทำให้ผลผลิตของเห็ดฟางลดลง หรือบางครั้งทำให้เห็ดไม่ออกดอก สาเหตุดังกล่าวเกิดจากโรคและแมลงศัตรูเห็ดที่สะสมเพิ่มมากขึ้น และเข้าทำลายเห็ด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ผู้เพาะเห็ดไม่ควรเพาะเห็ดซ้ำที่เดิม

- โรคราเขียว และราดำ ซึ่งเกิดขึ้นในบางจุดของทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน จุดใดที่มีราเขียวขึ้นพบว่าเห็ดฟางจะไม่ขึ้น ส่วนในกรณีของราดำเกิดขึ้นจากการที่ล้างทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันไม่สะอาด ซึ่งในจุดที่พบราดำก็จะไม่มีเห็ดขึ้น เช่นเดียวกัน

- เชื้อราเมล็ดผักกาด (Sclerotium sp.) เชื้อราพวกนี้ส่วนใหญ่ติดมากับฟางข้าวที่เป็นโรคลำต้นเน่า มีลักษณะเป็นเมล็ดคล้ายเมล็ดผักกาด จึงเรียกว่า ราเมล็ดผักกาด เพราะฉะนั้นการเลือกฟางข้าวมาเพาะเห็ด ควรเลือกฟางข้าวที่ไม่เป็นโรคลำต้นเน่า ทั้งนี้ เพราะเชื้อราจะแย่งอาหารของเห็ดฟาง

- โรคเน่า (Bubbles) เกิดจากฟองมีความชื้นมากเกินไป จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต และทำให้วัสดุที่ใช้เพาะเน่าเหม็น หากพบว่ามีโรคเน่าระบาด ให้เกษตรกรกันส่วนที่เน่าทิ้ง และการเก็บผลผลิตของเห็ดไม่ควรให้มีเศษตกค้างอยู่ในแปลง เพราะ ส่วนที่เหลือตกค้างจะเน่า และทำให้เชื้อแบคทีเรียระบาด

- ไร (Staw Mite) ไรพวกนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tyrophagus Dimidiaus จัดเป็นไรที่มีขนาดเล็ก มีสีขาวเหลือง มองเห็นยาก และมีขนสีน้ำตาลยาวที่ส่วนหลังและขา สามารถเจริญและแพร่พันธุ์ได้ดีในบริเวณที่ชื้น กินเส้นใยเห็ดและอินทรียวัตถุเป็นอาหาร ส่วนมากจะพบไรชนิดนี้จากกองเห็ด และกัดกินดอกเห็ดที่มีขนาดเล็ก การป้องกัน ให้ใช้ยาฉุนละลายน้ำฉีดพ่นก็สามารถยับยั้งได้

- มด ปลวก เป็นศัตรูเห็ดฟาง เพราะแมลงพวกนี้ชอบอาศัยอยู่ในแปลงเห็ด และกัดกินเส้นใยเห็ด การป้องกัน ให้ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดรอบๆ แปลงเห็ดก็ได้

การใช้ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันเพาะเห็ดฟางนั้น ทะลายปาล์มน้ำมันจะมีเชื้อจุลินทรีย์มากมายหลายชนิดช่วยย่อยอาหาร เช่น เชื้อรา และแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อต่างๆ เหล่านี้สามารถตรึงธาตุไนโตรเจนจากบรรยากาศได้ และบางชนิดจะย่อยสลายอาหารที่อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ดังนั้น หลังจากการเพาะเห็ดเสร็จสิ้นแล้ว เศษทะลายปาล์มที่เหลือเหมาะที่ใช้เป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้ในสวนไม้ผลและพืชผักต่างๆ หรือนำกลับมาใช้ในสวนปาล์มน้ำมันอีก ซึ่งจะเป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมี

"เมื่อก่อนผมจะเพาะเห็ดแบบง่ายๆ ไม่มีความรู้ทางวิชาการเลย ทำให้บางครั้งก็เกิดปัญหาผลผลิตเสียหายมากมาย มีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องทำลายทิ้ง เป็นหนี้เป็นสินแบบไม่รู้จบ แต่เดี๋ยวนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความสนใจมากขึ้น เข้ามาแนะนำให้นำทะลายที่เพาะเห็ดแล้วไปทำปุ๋ยอินทรีย์ หลังจากที่เมื่อก่อนทิ้งอย่างเดียว" คุณสฤษดิ์ บอก

คุณสฤษดิ์ฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เห็ดฟางนั้นเมื่อเพาะและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะเพาะตรงที่เดิมไม่ได้ ต้องย้ายที่ไปตลอด ถ้าจะกลับมาเพาะตรงที่เดิมใหม่นั้น ต้องทิ้งระยะไว้ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ถึงจะกลับมาเพาะที่เดิมได้อีกครั้ง และที่สำคัญ หากใครเข้าไปในแปลงนั้น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามใส่น้ำหอม ห้ามนำลูกเหม็น ยากันยุง เข้าไปใกล้แปลงโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เห็ดเหลืองและตาย

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการที่รู้จักสังเกตและนำสิ่งที่เหลือใช้ และดูไร้ค่า มาทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มมูลค่าให้แก่ตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

สนใจศึกษาวิธีการเพาะเห็ดฟางอย่างละเอียดและให้ได้ผลดี ติดต่อได้ที่ คุณสฤษดิ์ โทร. (082) 283-8613
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กระบี่
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 467
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM