เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"ด้วงกว่าง" สัตว์เลี้ยงพื้นบ้าน เจ้าสังเวียนแมลงนักรบ
   
ปัญหา :
 
 
เสียงก๊อกๆ เคาะไม้ดังๆ ที่ใครได้ยินก็นึกว่ารถขายหมี่เกี๊ยวมาล่อความหิว แต่สำหรับเด็กๆ ในซอยสารภี 3 ย่านเจริญนคร เมื่อหลายสิบปีก่อน ต่างรู้กันดีว่า "ของเล่นมีชีวิต" ได้เดินทางมาส่งความสนุกกับพวกเขาแล้ว เพราะเสียงนั้นไม่ใช่รถเข็นหมี่เกี๊ยว แต่เป็นเสียงจากชายคนหนึ่ง ที่เดินถือกระแป๋งสีฟ้า ภายในเต็มไป "ด้วงกว่าง" มีทั้งเขาเล็ก เขาใหญ่ กำลังตะเกียกตะกายเดินทับกันไปมาอยู่กระแป๋งใบนั้น

"ตัวละ 5 บาท" ข้อความบนแผ่นกระดาษติดไว้ข้างกระแป๋ง

ทั้งผู้เขียนและเด็กคนอื่นต่างควักเงินจ่ายลุง ที่ไม่รู้แกหอบหิ้วมาจากที่ไหน บางคนวิ่งไปขอสตางค์พ่อแม่แล้วนำกลับมาแลกกับด้วงมีเขาตัวใหญ่ จากนั้นคุณลุงพ่อค้าก็นำเชือกฟางมัดเขาด้วงไว้ ตัวไหนเขาสั้นมัดแล้วหลุดง่ายก็ใช้เชือกผูกคอ ทิ้งปลายเชือกให้ยาว แล้วยื่นให้หนูน้อยจับไว้ เพื่อไม่ให้ด้วงบินหนีไปไหน ด้วงกว่างในตอนนั้นจึงกลายเป็นสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ ของพวกเรา ซึ่งไม่ประสาเรื่องวิธีการเลี้ยงหรือดูแลด้วงกว่างแต่อย่างใด รู้แค่เพียงผูกมันไว้ที่ไหนสักแห่ง หาอ้อยสักแท่งวางไว้ เฝ้ามองดูมันเดินไปมา จับมาไต่มือเล่นบ้าง จับชนกันบ้าง เพื่อฟังเสียงขู่แค่ดๆ หรือไม่ก็จับโยน เพราะอยากเห็นมันบิน...

สุดท้าย ด้วงกว่าง ตัวละ 5 บาท ก็ตายแหง่กภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เช่นเดียวกับด้วงตัวอื่นๆ ของเด็กในซอย ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกรู้สาอะไร เพราะอีกไม่กี่วัน เดี๋ยวคุณลุงก็หิ้วกระแป๋งสีฟ้ามาให้พวกเราเลือกซื้อด้วงกว่างตัวใหม่ได้เล่นกันอีก

หลายปีผ่านไป ไม่มีใครหิ้วด้วงกว่างมาขายในซอยอีกแล้ว คงมีแต่ตามต่างจังหวัดที่ยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง จนด้วงกว่างเริ่มหายไปจากชีวิตของผู้เขียนที่เติบโตขึ้น พร้อมความสนใจในเรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าสำคัญกว่า จนเมื่อได้รับจดหมายจากเด็กชายคนหนึ่ง ถามถึงการเลี้ยงด้วงกว่าง พลันให้หวนคิดถึงเจ้าแมลงเขาสวยที่เคยบินว่อนอยู่ในห้วงความทรงจำเหล่านั้นอีกครั้ง

แต่ภาพความจริงในปัจจุบันกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จากสัตว์ที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ มีพ่อค้าเร่ขายในเมือง กลับกลายเป็นสัตว์ที่กำลังถูกหยิบยกมาเป็นแมลงอนุรักษ์ เนื่องจากหาพบตามธรรมชาติได้น้อยลง อันเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีในการเกษตรกรรมและจำนวนป่าลดลง จะพบเห็นกันมากก็แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งหากใครได้ไปเที่ยวตามตลาดพื้นบ้านในช่วงฤดูฝน คงได้เห็นชาวบ้านจับด้วงกว่างผูกเชือกมัดกับท่อนอ้อย วางขายเหมือนกับเนื้อสัตว์ ผักหญ้าในตลาดสด บ้างอยู่ข้างแผงรถด่วนหรือหนอนตัวอวบแสนอร่อย บ้างจับแขวนอยู่ตามศาลารอรถข้างทาง มีราคาค่าตัวอยู่ที่ตัวละ 50 บาท

ครั้งที่ผู้เขียนไปแอ่วตลาดเชียงราย เห็นชาวบ้านนำด้วงกว่างมาขาย จึงสอบถามกับแม่ค้า ได้ความว่า ชาวบ้านมักจับด้วงมาจากตามป่าในหมู่บ้าน แต่ยอมรับว่ามีจำนวนไม่มากเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ทั้งยังต้องเข้าไปในป่าที่ต้องเข้าลึกไปทุกที และการซื้อขายก็ไม่คึกคักเหมือนสมัยก่อน อาจเพราะธรรมชาติเปลี่ยนไป รวมถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนาที่เคยใช้เวลาว่างจากการทำนามุ่งมั่นหาด้วงกว่างลักษณะดีมาจับกลุ่มกัน "ชนกว่าง" ก็ลดน้อยลงไปด้วย เพราะคิดแต่จะทำมาหากิน หาเงินทองมากกว่าหาความเพลิดเพลินให้ตัวเอง ขณะเยาวชนรุ่นใหม่ก็นิยมเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากกว่ามาสนใจเกมโบราณคร่ำครึแบบนี้

ฟังแม่ค้าเล่าก็ยังไม่ละเหี่ยใจเสียทีเดียว เพราะทราบมาว่ายังคงมีนักอนุรักษ์บางกลุ่มที่รวมตัวกันส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นหลังหันมารู้จักเกมการละเล่นพื้นบ้าน และแมลงนักสู้ชนิดนี้กันมากขึ้น อย่างเช่น "งานเทศกาลโลกของกว่างอำเภอปัว" งานใหญ่ในจังหวัดน่าน และ "งานรวมพลคนรักกว่าง" จังหวัดเชียงราย ที่จัดกันทุกปีในช่วงตุลาคม ทำให้วิธีการอันแยบยลในการหลอกล่อสัตว์ด้วยภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานได้รับการสืบทอดเรื่อยมา ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวงานดังกล่าว ก็คงจะได้เห็นว่า ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสามารถดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ รุ่นใหม่ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวได้อย่างไม่ยากนัก

แต่สำหรับมุมมองของคนรักสัตว์อีกกลุ่ม ด้วงกว่าง คือแมลงปีกแข็ง ที่มีความสวยงาม น่าเลี้ยง น่าศึกษา มากกว่าในฐานะแมลงนักสู้ โดดเด่นด้วยลักษณะเขาตามชนิดพันธุ์ อาทิ "กว่างชน" พระเอกนักสู้ที่บางท้องถิ่นเรียกว่า กว่างโซ้ง แต่ถ้าตัวเล็กหน่อย เรียก กว่างกิ ตัวผู้มีเขาสองแฉกที่ส่วนหัว โค้งตั้งขึ้นเล็กน้อย ส่วนที่สันหลังอกก็มีเขายื่นยาวออกไปทางด้านหน้า ส่วนปลายเป็นแฉกแหลมสองแฉก แต่ในเพศเมียไม่มีเขา มีลำตัวค่อนข้างสั้นกว่ากว่างอื่นๆ มีสีแดงเปลือกมังคุดไปจนถึงสีดำสนิทมันเงา ขนาดโตเต็มที่เฉลี่ยราว 1-2.5 นิ้ว แต่หากเป็นกว่างซางเหนือ ตัวผู้จะมีเขาที่ส่วนหัวยาวตั้งขึ้นและโค้งมาทางด้านหลังเล็กน้อย ส่วนที่อกปล้องแรกมีสีดำ มีเขาอีกสองคู่อยู่ที่ด้านข้างทั้งสองด้าน เมื่อมองโดยรวมแล้วดูจะมีเขามากกว่าเพื่อน หลายคนจึงเรียกว่า กว่างห้าเขา แต่ตัวเมียไม่มีเขา สีคล้ายกับตัวผู้ ปีกมีสีน้ำตาลอ่อนปนเหลือง ขนาดของลำตัวราว 4-7 นิ้ว

นอกจากนี้ ยังมี กว่างสามเขา กว่างหูกระต่าย กว่างเฮอร์คิวลิส กว่างเนปจูน และกว่างอีกหลายชนิดที่จัดเป็นแมลงสวยงามในแวดวงนักเลี้ยงแมลง แต่สำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่นิยมเริ่มต้นที่กว่างชน เนื่องจากหาเลี้ยงง่าย เพาะพันธุ์ง่าย ราคาถูก

ซึ่งแม้ความเจริญในเมืองใหญ่ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ของด้วงกว่างก็ตาม แต่กลุ่มผู้นิยมหรือนักสะสมด้วงก็มีวิธีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ด้วงกว่าง โดยสร้างที่อยู่อาศัยในตู้ปลาหรือตู้พลาสติค

สำหรับเด็กชายที่สอบถามถึงเรื่องวิธีการเลี้ยงบื้องต้น เพราะอยากเปลี่ยนที่อยู่ด้วงใหม่ จากที่มีเพียงชิ้นอ้อยเล็กๆ แถมเยลลี่แบบปีโป้อีกชิ้น บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติคเท่าถ้วยน้ำพริกที่ได้จากร้านค้า มาเป็นตู้เลี้ยงที่พอให้ด้วงได้หายใจได้นานขึ้น จึงขอนำเสนอข้อมูลดีๆ จากประสบการณ์ตรงของผู้เลี้ยงในเว็บไซต์ siambeetle.comั้ศูนย์กลางการซื้อขายด้วงและอุปกรณ์การเลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีคำแนะนำในการเลี้ยงพอสมควร แต่ขอนำมาสรุปพอสังเขปรวมกับจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการเลี้ยงด้วงกว่างแก่ผู้สนใจ

เริ่มต้นจาก เตรียมอุปกรณ์การเลี้ยงเบื้องต้น ได้แก่ ตู้เลี้ยงด้วง อาจใช้เป็นตู้ปลาเก่า หรือตู้พลาสติคก็ได้ เจาะให้มีรูระบายอากาศเล็กน้อย มีความสูงพอสมควร (แนะนำตู้ ขนาด 40x20x30 เซนติเมตร) รองด้วยวัสดุรองพื้นสำหรับด้วงกว่าง ซึ่งมีแบบสำเร็จรูปให้เลือกใช้ แต่ผู้เลี้ยงบางท่านใช้ดินผสมกับไม้ผุสับและแกลบ บางท่านใช้ขี้เลื่อยจากไม้เนื้ออ่อนแช่น้ำ 1-2 คืน ก็ได้ผลดีเช่นกัน แต่ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าว) วัสดุรองสำหรับด้วงกว่างควรผสมน้ำให้พอชื้นก่อนปูพื้นตู้ แต่ไม่ควรฉ่ำจนเกินไป เพราะจะมีผลต่อการขยายพันธุ์ของด้วง หรือทำให้เกิดอาการ "ตู้เน่า" ได้ หากกำขี้เลื่อยแล้วไม่มีน้ำไหลจากร่องนิ้วเป็นอันใช้ได้

จากนั้นนำวัสดุมารองพื้นตู้ โดยกดให้แน่น หนาประมาณ 2 นิ้ว รองทับอีกชั้น แต่ไม่ต้องกดแน่นอีก 3-4 นิ้ว หากสังเกตดูเห็นว่าวัสดุรองแห้งเกินไป ให้ใช้ฟ็อกกี้ฉีดพ่นน้ำเล็กน้อยเพิ่มความชื้น วางท่อนไม้ให้ด้วงได้เกาะไต่หรือพลิกตัว เพราะถ้าด้วงหงายท้องนานอาจตายได้ ปล่อยด้วงกว่างให้เริงร่าอยู่ในตู้ แล้วนำตู้เลี้ยงไปวางไว้ที่ที่มีแสงน้อย โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับด้วงกว่างก็คือ 20-30 องศาเซลเซียส หากต้องการเลี้ยงด้วงชนิดอื่นต้องศึกษาด้วยว่าควรอยู่ในอุณหภูมิเท่าใด

ส่วนอาหารที่ด้วงกว่างชื่นชอบก็คือ อ้อย ผู้ลี้ยงไม่จำเป็นต้องปอกเปลือกทั้งหมด เพียงแค่ผ่าครึ่งหรือปอกไว้บางส่วน เพื่อป้องกันน้ำอ้อยแห้งและป้องกันมด ผลไม้สุกงอมอื่นๆ ด้วงก็ชอบเช่นกัน เช่น กล้วย แอปเปิ้ล มะม่วง หรือเยลลี่ (ปีโป้สีม่วง และสีขาว ด้วงไม่ชอบกินนะจ๊ะ) แต่การวางอาหารควรรองด้วยใบไม้หรือแผ่นไม้บางๆ ก่อน ป้องกันด้วงลากลงพื้นลึกตามสัญชาตญาณการสะสมอาหารซึ่งอาจทำให้เกิดการเน่าเสียภายในตู้เลี้ยงได้

นอกจากจะเป็นนักรบแห่งขุนเขาแล้ว ด้วงกว่างนับยังเป็นนักรักตัวยง ในตัวเต็มวัย (อายุราว 8-10 เดือน) ตัวผู้สามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายครั้งต่อวัน และผสมพันธุ์กับตัวเมียได้มากกว่า 1 ตัว ซึ่งโดยทั่วไป ผู้เลี้ยงมักเริ่มต้นเลี้ยงด้วงเป็นคู่ จึงเอื้อโอกาสในการผสมพันธุ์ได้ง่าย เมื่อผู้เลี้ยงเห็นแน่ว่าตัวเมียสูญเสียพรมจรรย์แล้ว ก็เตรียมรอลุ้นการกำเนิดของด้วงตัวน้อยได้เลย แต่ต้องเตรียตัวเพิ่มเติมอีกนิดหน่อยเพื่อให้หนอนด้วงเจริญพันธุ์ได้สมบูรณ์ เริ่มต้นจากการนำเพศเมียมาแยกเลี้ยงไว้เพื่อให้มันวางไข่ได้อย่างสบายใจเฉิบ ไร้ผู้รบกวน

ตู้สำหรับวางไข่ แนะนำให้ใช้ตู้ขนาดใหญ่ ปูอัดวัสดุรองพื้นชั้นล่างสุดให้แน่นเช่นเดียวกับตู้เลี้ยง แต่ในชั้นต่อมาที่ปูหลวมๆ ให้สูงขึ้นอีก 6-8 นิ้ว ขึ้นไป เพราะด้วงกว่างต้องการวางไข่ในที่ลึก ให้อาหารโดยวางบนแผ่นไม้ด้านบนตามปกติ ประมาณ 1-2 เดือน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่กลมๆ ชุดแรกราว 10 ฟอง และอาจวางไข่ไปเรื่อยจนเป็นร้อยฟองก็เป็นได้ ราว 1 เดือน ไข่จะฟักเป็นหนอน นักเพาะพันธุ์ด้วงนิยมแยกหนอนด้วงมาเลี้ยงในกระปุกพลาสติคหรือขวดแก้ว เจาะรูที่ฝาปิด และบรรจุด้วยไม้ผุ ขี้เลื่อยหรือไม้บดที่มีส่วนผสมของดินดำ ซึ่งเกิดจากการสลายของซากพืชซากสัตว์ และมูลสัตว์เก่า ซึ่งจะเป็นทั้งที่อยู่และอาหารหนอนด้วง วัยนี้มีระยะเติบโตในช่วงเป็นหนอน 6-8 เดือน จึงจะกลายเป็นดักแด้ จากนั้นอีก 1 เดือน ก็จะกลายเป็นด้วงกว่างเต็มวัยให้ได้ลุ้นเพศและความสวยงามอีกครั้ง

อาจจะดูเป็นเรื่องง่าย แต่ไม่ว่าสัตว์ชนิดใดก็ต่างต้องการการดำรงชีวิตที่เหมาะสมที่สุด สำหรับคนรักแมลงไทยก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะปัจจุบันมีแหล่งความรู้เกี่ยวกับแมลงหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์แมลง ของภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และอุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน หรือแม้แต่ที่สวนสัตว์แมลงสยาม ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ก็นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจมาก

ใกล้ที่ไหน ก็ลองเข้าไปศึกษาเยี่ยมชมก่อนตัดสินใจครอบครอง ซึ่งไม่เพียงแค่ได้เห็นแมลงบางชนิดที่งดงามจนละสายตาแทบไม่ได้ บางทียังอาจทำให้เราได้รู้สึกว่า ความอัศจรรย์ของธรรมชาติได้สรรค์สร้างแมลงที่มีคุณค่ามากกว่าการเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง...

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 467
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM