เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
จันทน์ผา หลากลีลา ณ ช่องสาริกา ลพบุรี พืชพรรณท้องถิ่น ที่สร้างงานทำเงิน
   
ปัญหา :
 
 
เดิมทีไม้สกุลจันทน์ผา พบว่า มีความหลากหลายน้อย พบอยู่ตามป่า เป็นไม้ที่ทางการหวงห้าม มิให้คนตัดออกมาใช้ประโยชน์ได้ตามอำเภอใจ กระนั้นก็ตาม เพราะลีลาที่สวยงาม จึงมีผู้แอบนำออกมาปลูก

จันทน์ผารุ่นลูกรุ่นหลานที่มีเมล็ด ถูกขยายพันธุ์ปลูกเป็นไม้ประดับเศรษฐกิจ เกษตรกรบางรายปลูกจันทน์ผาจำนวน 10-20 ไร่ เหมือนปลูกอ้อย จันทน์ผาขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ดังนั้น ระยะหลังๆ จึงพบว่า มีการกลายพันธุ์พบลักษณะแปลกๆ บางต้นมีใบด่าง สร้างคุณค่าเพิ่มราคาให้อย่างมาก

พบเห็นมีการปลูกจันทน์ผากระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเหนือ อีสาน กลาง รวมทั้งภาคใต้ แต่แหล่งใหญ่ที่สุด น่าจะอยู่ที่ตำบลช่องสาริกา ที่นั่นเกษตรกรปลูกกันทั้งตำบล มากบ้างน้อยบ้าง คนมีมากที่สุด จำนวน 10,000 ต้น



พบกับเกษตรกร

สะสมมากว่า 12 ปีแล้ว


คุณสุนทร สุขสว่าง อยู่บ้านเลขที่ 17/5 หมู่ที่ 9 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นผู้ที่ปลูกจันทน์ผามานาน 12 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 13 ปีแล้ว

คุณสุนทร มีอาชีพทำไร่ข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ต่อมาได้ผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ใกล้กับที่ดินของคุณสุนทรมีภูเขาที่อุดมไปด้วยต้นจันทน์ผา เมื่อ 12 ปีที่แล้ว เขาเห็นว่าจันทน์ผาสวยงามดี จึงนำมาปลูกไว้จำนวน 1 ต้น โดยไม่เคยคิดเลยว่า จะสามารถจำหน่ายได้อย่างทุกวันนี้ เมื่อเจ้าของปลูกจันทน์ผาทิ้งไว้ ต้นเจริญเติบโตดี พร้อมกับมีดอกและติดเมล็ด คุณสุนทรปล่อยให้เมล็ดร่วงไปหลายชุด

จนกระทั่งอยู่มาปีหนึ่ง นักจัดสวนผ่านไปที่หน้าบ้านคุณสุนทร เขาถามซื้อต้นที่คุณสุนทรปลูกไว้ โดยเสนอราคาเรือนหมื่น ปัจจุบัน 20,000 บาท คุณสุนทรอยากได้เงิน แต่หากขายไป คงหาไม่ได้อีกแล้ว จะไปตัดที่เขาเอราวัณก็มีหวังทางการเล่นงานแน่ เมื่อต้นจันทน์ผาออกดอกมา คุณสุนทรจึงศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์ โดยลองถูกลองผิดอยู่นาน สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ เมื่อมีต้นใหม่ คุณสุนทรก็จำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง เฉพาะตัวคุณสุนทรเองปัจจุบันมีจันทน์ผาที่ได้จากการขยายพันธุ์เอง อยู่ในความดูแลไม่ต่ำกว่า 10,000 ต้น



จันทน์ผา มีลักษณะที่แยกย่อย

มีความแตกต่าง


ปลูกจันทน์ผามานานกว่า 10 ปี ทำให้คุณสุนทรพบว่า ไม้สกุลนี้มีญาติพี่น้อง ที่หน้าตาแตกต่างกันออกไป

คุณสุนทรแยกแยะให้ทราบ ดังนี้

หนึ่ง...จันทน์ผา จุดเด่น ต้นมีขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านใบใหญ่ พบว่าใบมีหลายลักษณะด้วยกัน ติดเมล็ดมาก เพาะไม่ยาก

สอง...จันทน์หอม ต้นเล็กกว่าจันทน์ผา แตกเป็นกอ ที่เขาเอราวัณไม่มี แต่พบที่เขาจีนแล อำเภอโคกตูม จังหวัดลพบุรี

จันทน์แดง...ต้นเล็กกว่าจันทน์หอม เจริญเติบโตช้ามาก ทรงพุ่มกะทัดรัดสวยงามมาก ติดเมล็ดน้อย



ปลูก และดูแล อย่างไร

คุณสุนทร อธิบายว่า ไม้สกุลนี้ มีดอกเดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคม เมื่อเมล็ดสุกแก่ จะมีสีแดง ให้นำมาล้างน้ำ แล้วเพาะทันที อย่าได้นำไปตากแดด เพราะเปอร์เซ็นต์ความงอกจะลดลงมาก

จันทน์แดงและจันทน์ผา ใช้เวลาเพาะ 20 วัน ก็เริ่มงอก

ส่วนจันทน์หอม ต้อง 1 เดือนไปแล้ว จึงจะงอก

การดูแลรักษา ไม้สกุลนี้ คุณสุนทร บอกว่า ไม่มีความยุ่งยากแต่อย่างใด หากมีการน้ำรด ต้นจันทน์ผาเจริญเติบโตดี แต่หากไม่มีน้ำก็ไม่ตาย

"หน้าแล้งลำบากหน่อย ใช้น้ำประปารด ชาวบ้านก็เดือดร้อน เร็วๆ นี้ โครงการเครือเบทาโกรจะช่วยเรื่องแหล่งน้ำ เป็นเงินราว 200,000 บาท ชาวบ้านสมทบอีก 20,000 บาท ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม คงสูง น้ำขึ้นไปบนแท็งก์ แล้วนำมารด" คุณสุนทร บอก

เจ้าของพูดถึงการดูแลอย่างอื่นว่า ศัตรูของจันทน์ผามีน้อย ไม่ต้องใช้สารเคมี เพียงแต่คอยกำจัดวัชพืช

ส่วนปุ๋ย เน้นปุ๋ยจากขี้วัว เพราะแถบนั้นมีการเลี้ยงวัวมาก รวมทั้งขี้หมู

ปัจจุบัน คุณสุนทร เป็น อบต. เขาเป็นผู้นำในการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากปลูกพืชไร่ คุณสุนทรผลิตจันทน์ผา เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ปลูกผัก รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ



การตลาด

คนสนใจซื้อหากันมาก


เนื่องจากมีการขยายพันธุ์จันทน์ผาโดยการเพาะเมล็ด ทุกวันนี้ ที่บ้านคุณสุนทร พบว่า มีตันจันทน์ผาใบด่าง หลายลักษณะด้วยกัน มีคนมาขอซื้อต้นละ 20,000-40,000 บาท

ต้นจันทน์แดงและจันทน์หอม ก็มีรูปทรงแปลกๆ สวยงามดี

การซื้อการขายไม้สกุลนี้ เริ่มตั้งแต่ต้นเล็กๆ 10-20 บาท

ต้นที่อายุ 2-3 ปี แตกยอดเหมาะในการนำไปจัดสวน ราคา 1,000 บาท ขึ้นไป

"ต้นที่มียอดเดียว เขาซื้อไปจัดสวน เขาไม่ค่อยนิยม เขากลัวเสียหาย คือยอดหัก มี 2-3 ยอด จึงขายได้ดี ที่หมู่ที่ 9 ตำบลช่องสาริกา ปลูกกันทุกครัวเรือน ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่สุดในประเทศไทย คนซื้อมาจากปราจีนบุรี กรุงเทพฯ พัทยา" คุณสุนทร บอก

ต้นจันทน์ผา เริ่มจำหน่ายได้ตั้งแต่ต้นมีขนาดเล็กๆ หากไม่มีคนไปซื้อ เจ้าของก็จะเปลี่ยนถุงให้ จากนั้นก็ลงดิน ปลูกในแปลง เมื่อมีคนไปซื้อก็ขุดขาย

"โครงการเครือเบทาโกรมาสนับสนุนเกษตรกรแถบนี้ โดยเฉพาะคุณสุนทร พยายามถ่ายทอดเทคโนโลยี คุณสุนทรช่วยเผยแพร่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะทำอย่างไรให้เกษตรกร 10-20 ครัวเรือน นำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ปลูกเพื่ออยู่เพื่อกิน เหลือกินจึงขายเป็นการค้า จันทน์ผามีอยู่แล้ว มีการพัฒนาสายพันธุ์ เขาทำเป็นกลุ่ม ทางกลุ่มอยากให้โครงการเครือเบทาโกรดูเรื่องระเบียนพันธุ์ เป็นการพิสูจน์ว่าไม่ได้เก็บมาจากป่า แต่เพาะขยายพันธุ์ขึ้นเอง ต่อไปทางโครงการเครือเบทาโกรจะช่วยเรื่องระเบียนพันธุ์" คุณสิฐธิชัย อินทร์สุข ผู้จัดการแผนกชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าว

ผู้สนใจ ถามไถ่ได้ที่ คุณสุนทร สุขสว่าง โทร. (081) 852-9268



จันทน์ผา



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena loureiri Gagnep.

ชื่อวงศ์ : Agavaceae

ชื่อพื้นเมือง : จันทน์แดง, ลักกะจันทน์

ชนิดพืช : ไม้พุ่ม

ขนาด : สูง 3-7 เมตร

สีดอก : สีขาวนวล

ฤดูที่ดอกบาน : กรกฎาคม-สิงหาคม

อัตราการเจริญเติบโต : ช้า

ลักษณะนิสัย : ดินปนทราย หรือหิน

การระบายน้ำ : ดี

ความชื้น : ปานกลาง

แสง : แดดเต็มวัน-รำไร

ลักษณะทั่วไป : ไม้พุ่มขนาดใหญ่ หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปทรงไข่ เมื่อต้นโตจะแผ่กว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามยาว

ใบ : ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับถี่ๆ ที่ปลายกิ่ง ใบรูปแถบยาวแคบ กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 45-60 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ก้านใบเป็นกาบหุ้มซ้อนทับ กันรอบลำต้น

ดอก : สีขาวนวลตรงกลางดอกมีจุดสีแดง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงขนาดใหญ่

ตามซอกใบที่ปลายกิ่ง มีดอกจำนวนมาก กลีบดอก 6 กลีบ

ผล : ผลสด ทรงกลมขนาดเล็กอยู่รวมกันเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงคล้ำ มีเมล็ดเดียว

การใช้งานด้านภูมิทัศน์ : ทรงพุ่มสวย ดอกมีกลิ่นหอม ปลูกเป็นไม้ประธานในสวนหิน ปลูกเป็นกลุ่ม ปลูกประดับในอาคาร สระว่ายน้ำ ริมทะเล ทนลมแรง ทนเค็ม ไม่ทนน้ำท่วมขัง

ประโยชน์ : แก่นมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้เลือดออกตามไรฟัน
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ลพบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 469
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM