เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
บุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรดีเด่นสาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2552 ผู้นำการผลิตหัวพันธุ์และการคิดค้นเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อสร้างมาตรฐานการปลูกมันฝรั่ง
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อครั้งปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรแปลงปลูกมันฝรั่งของ คุณบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรที่ได้ทำงานทดลองวิจัยร่วมกับโครงการหลวงที่บ้านเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และทรงรับสั่งก่อนจะเสด็จกลับว่า "มันฝรั่ง ไม่ใช่พืชท้องถิ่นของเรา ดูแล้วการพัฒนาการปลูกมันฝรั่งไม่ใช่เรื่องง่าย คงต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องเหนื่อยอีกนาน แต่ถ้าทำสำเร็จได้ จะช่วยให้คนอีกจำนวนมาก มีอาชีพที่ดีทำ ขอให้อดทนหน่อยนะ"

จากวันนั้นถึงวันนี้ 24 ปี ที่คุณบุญศรี ใจเป็ง ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการทดสอบ ทดลองและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกและการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งร่วมกับโครงการหลวง สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถผลิตหัวพันธุ์ลดปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังได้บริการเผยแพร่และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งมีความรู้และการจัดการที่ถูกต้องในการผลิตมันฝรั่งที่ได้คุณภาพ



ความคิดริเริ่มและความพยายาม

ในการพัฒนาการผลิตมันฝรั่ง


มันฝรั่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับต้นๆ ของชาวโลก ประเทศไทยมีการปลูกมันฝรั่งมาหลายสิบปีแล้ว การบริโภคมันฝรั่งในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ทั้งตลาดหัวมันฝรั่งสดและหัวมันฝรั่งเพื่อการแปรรูป ในแต่ละปีได้มีการนำเข้าหัวมันฝรั่งเพื่อการเพาะปลูกในประเทศ คิดเป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตมันฝรั่งของเกษตรกรสูงขึ้นตาม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า จึงสามารถจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังได้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องจักรกลเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันฝรั่งจนเป็นที่ยอมรับและขยายผลอย่างกว้างขวางแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่ง จากการที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพที่เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นที่ยอมรับแก่คนทั่วไปและสังคมส่วนรวม ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติ เมื่อปี 2547



ผลงานความสำเร็จและการขยายผล

ด้านการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งปลอดโรคทดแทนการนำเข้า


ในอดีตประเทศไทยต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งแต่ละปีคิดเป็นมูลค่านับหลายร้อยล้านบาท ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทางคุณบุญศรี ใจเป็ง ได้เป็นผู้นำในการทำงานทดลองและวิจัยร่วมกับโครงการหลวง มหาวิทยาลัยแม่โจ้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการปลูกและการผลิตหัวพันธุ์ พร้อมทั้งการศึกษาดูงานจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเกาหลี จากนั้นได้นำวิชาความรู้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ได้สะสมมานั้น พัฒนาการผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรค โดยใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรด้านการผลิต ได้แก่ การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษาและการควบคุมโรคแมลง จนสามารถผลิตหัวพันธุ์ทดแทนการนำเข้าได้ ซึ่งในปี 2552/2553 นี้จะสามารถผลิตหัวพันธุ์ปลอดโรคได้ 1,400 ตัน คิดเป็นมูลค่า 25,200,000 บาท



พัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรเพื่อสร้างมาตรฐานการผลิต

การปลูกมันฝรั่งโดยทั่วไปใช้แรงงานคน ที่นับวันจะเป็นปัญหามากขึ้น ทั้งในด้านการขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงสูง เสียเวลา คุณภาพไม่ได้มาตรฐานและอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้น คุณบุญศรี ใจเป็ง จึงได้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อทดแทนปัญหาดังกล่าว ได้แก่ เครื่องหัวหมู เพื่อพรวนดินยกร่องและกลบหัวพันธุ์ เครื่องรีดแปลงแบบโค้งเพื่อแก้ไขปัญหาการเน่าของต้นมันฝรั่งจากการขังของน้ำฝน เครื่องให้ปุ๋ยและเครื่องขุด เป็นต้น ซึ่งเครื่องจักรกลต่างๆ เหล่านั้น ถ้านำเข้าจากต่างประเทศจะมีมูลค่าสูงมาก แต่เครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นทดแทนนั้นราคาต่ำและเกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้กับรถไถเดินตามและแทร็กเตอร์ขนาดเล็กที่เกษตรกรมีอยู่ได้ไม่ต้องดัดแปลงเพิ่มเติม การทำงานของเครื่องจักรต่างๆ ใช้แรงงานเพียง 1 คน ต่อคนงาน 15-20 คน และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพและมาตรฐาน ปัจจุบันเกษตรกรและเครือข่ายผู้ปลูกมันฝรั่งได้นำไปใช้ได้ผลมากในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพื้นที่ปลูกในภาคอีสาน



ปลูกมันฝรั่งระบบใหม่ พัฒนาโดยเกษตรกร บุญศรี ใจเป็ง

การปลูกมันฝรั่งระบบเดิม เกษตรกรใช้วิธีการปลูกแบบแถวคู่ ซึ่งจะต้องใช้แรงงานคนเกือบทั้งหมด เช่น การปลูกมันฝรั่ง 10 ไร่ ต้องใช้แรงงาน 20 คน และจะใช้เวลากว่า 3 วัน จึงจะเสร็จ และขณะขนย้ายหัวพันธุ์อาจเกิดความเสียหาย เมื่อปลูกไปแล้วหัวพันธุ์เน่าเพราะปลูกลึกไม่สม่ำเสมอและขณะฝนตกมีน้ำขังในหลุมปลูก จากนั้นต้องใช้คนกลบโคนให้ปุ๋ยให้น้ำและเก็บเกี่ยวโดยใช้จอบขุดทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงได้ปรับวิธีการปลูกมันฝรั่งระบบใหม่ ได้แก่ การปลูกแบบแถวเดี่ยวและนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ ซึ่งเปรียบเทียบการปลูกระบบเก่าแถวคู่กับระบบใหม่แถวเดี่ยวนี้ ในพื้นที่ 10 ไร่ จะใช้แรงงานเพียง 2 คน แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 วัน



การเตรียมหัวพันธุ์

เมื่อได้หัวพันธุ์มาจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ นำมาผ่าแยกตา หัวพันธุ์มันฝรั่ง 1 กิโลกรัม สามารถผ่าแยกแบ่งตาได้ตั้งแต่ 15-45 ชิ้น จากนั้นนำมาคลุกปูนซีเมนต์เพื่อเคลือบปากแผลและนำไปเก็บไว้ในกระสอบตาข่ายรัดปากถุงให้แน่น นำวางเรียงในห้องบ่มพลาสติคเพื่อกันลมและรักษาความชื้นให้กับหัวพันธุ์ที่ต้องพักตัวหลังจากการผ่า บ่มประมาณ 7 วัน หัวพันธุ์เริ่มงอกจึงนำไปปลูกได้



ปลูกมันฝรั่งแบบแถวเดี่ยว

ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว จะฉีดพ่นเชื้อจุลินทรีย์ลงบนฟางข้าวเพื่อช่วยการย่อยสลายเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ให้กับดิน และการเตรียมดิน ไถพรวน ยกร่องปลูก ขุดหลุมปลูก ให้ปุ๋ยและไถกลบโดยรถแทร็กเตอร์แบบนั่งขับขนาดเล็กที่ติดตั้งเครื่องมือที่ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นเอง เมื่อถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวใช้รถขุดทำให้รวดเร็วและผลผลิตเสียหายน้อยมาก เพียงร้อยละ 1 ซึ่งผลผลิตต่อไร่ประมาณ 3,500-4,500 กิโลกรัม

ผลตอบแทนจากการปลูกมันฝรั่งต่อไร่นั้นค่อนข้างสูงประมาณ 1-2 หมื่นบาท เพราะตลาดมีความต้องการสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูป เกษตรกรที่จะปลูกจำเป็นต้องศึกษาและวางแผนการผลิตให้ดีและทำสัญญาซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรล่วงหน้ากับภาคเอกชนเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทั้งด้านการผลิตและจำหน่าย ถ้าท่านสนใจระบบการผลิตและการตลาดมันฝรั่ง ติดต่อขอข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมกับคุณบุญศรี ใจเป็ง เกษตรกรดีเด่นสาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2552 ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ริเริ่มปลูกมันฝรั่งและผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งรายแรกของประเทศไทย โทร. (053) 848-572, (081) 992-5510

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เชียงใหม่
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 470
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM