เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
วิชัย รัตนจินดา มือหนึ่งในการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้าง
   
ปัญหา :
 
 
สวนกล้วยไม้อีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในเขตภาคเหนือตอนล่างโดยเฉพาะกล้วยไม้สกุลช้างคือ สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ที่มี คุณวิชัย รัตนจินดา เป็นเจ้าของสวน บ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 2 ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 62120 โทร. (055) 724-289, (081) 887-1080 ปัจจุบันกล้วยไม้ตระกูลช้างของสวนกล้วยไม้แห่งนี้มีโรงเรือนขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งภายในโรงเรือนจะถูกแบ่งเป็นสัดส่วน แยกไม้ในระยะการเจริญเติบโตอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกในการจัดสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูให้เหมาะสม เช่น แปลงพ่อ-แม่พันธุ์ที่คุณวิชัยใช้เวลาเสาะหาและสะสมมาอย่างยาวนาน อาทิ แปลงไม้ออกขวด แปลงเลี้ยงไม้ออกขวด แปลงเลี้ยงไม้รุ่น และแปลงเลี้ยงไม้พร้อมจำหน่าย เป็นต้น



เดิมไม่ได้มีความชอบปลูกเลี้ยงในกล้วยไม้เลย


คุณวิชัยเล่าว่า ได้เริ่มต้นกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นชนิดแรกในปี พ.ศ. 2531 ย้อนกลับไปในอดีต ครอบครัวคุณวิชัยมีพี่น้องหลายคน ประกอบอาชีพเปิดร้านโชห่วยค้าขายเป็นระบบกงสี เหมือนครอบครัวคนจีนทั่วไป ต่อมาก็ได้คิดจะแยกออกมาประกอบอาชีพของตนเอง ในตอนนั้นมีพรรคพวกที่เขารับจ้างเลี้ยงกล้วยไม้และนำมาส่งขายให้ผู้รับซื้อเพื่อการส่งออก จึงได้เริ่มต้นสัมผัสการเลี้ยงกล้วยไม้เป็นครั้งแรกโดยเริ่มเลี้ยงกล้วยไม้แวนด้าเป็นชนิดแรก คุณวิชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากขาดความรู้ ไม่เข้าใจถึงการเลี้ยง ประกอบกับคำดูถูกจากบุคคลรอบข้างที่คิดว่าไม่น่าจะไปรอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีประสบการณ์มากขึ้น เรียนรู้การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ว่าต้องทำอย่างไร และต่อมาได้ทดลองผสมพันธุ์กล้วยไม้ดูแล้วก็มาลุ้นดูว่าที่เราผสมพันธุ์ไปนั้น เมื่อไปได้สัก 3 ปี ก็ได้ลุ้นว่าดอกจะออกมาเป็นเช่นไร ในช่วงแรกนั้นคุณวิชัยบอกว่ายากมาก เพราะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการดูสีกล้วยไม้ การเรียกเฉดสี และการเลือกคู่ผสม ได้มีการศึกษา เริ่มศึกษามากขึ้นทั้งจากตำราและสอบถามจากผู้รู้ ไปดูงานประกวดกล้วยไม้ ดูฟาร์มกล้วยไม้ และดูสีกล้วยไม้ที่ได้รางวัลชนะการประกวดว่าเป็นเช่นไร ฟอร์มดีเป็นอย่างไร ดอกดี และสีดีเป็นเช่นไร และมีอีกหลายๆ อย่างที่ต้องเรียนรู้ รวมถึงมองอนาคตว่า กล้วยไม้บางต้นมีจุดเด่นที่ยังนำมาพัฒนาต่อได้อีกหรือให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเกิดความเข้าใจมากขึ้นตามประสบการณ์ก็สนุกกับการผสมพันธุ์ ได้ลุ้นกับผลงานตัวเอง เพราะกล้วยไม้ที่ผสมออกมา 1 ฝักนั้น มันจะมีความหลากหลายมาก นั่นเป็น "เสน่ห์" ที่ทำให้ผู้เลี้ยงกล้วยไม้รวมถึงคุณวิชัยเกิดความหลงใหลรักในกล้วยไม้ขึ้นมา



สวนวิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ขึ้นชื่อมากในเรื่องของ "ช้างแดง"

คุณวิชัยเล่าว่า ที่สวนจะเน้นการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างมากเป็นพิเศษ เช่น ช้างแดง ช้างกระ ช้างเผือก ช้างส้ม ช้างประหลาด และช้างการ์ตูน เป็นต้น คือปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลช้างเกือบทุกชนิด รวมถึงกลุ่มไอยเรศด้วย ตัวอย่างไอยเรศ ต้นที่ทำชื่อเสียงให้กับสวนมากที่สุดคือ เมื่อครั้งที่นำกอไอยเรศไปโชว์ในงาน "มหัศจรรย์กล้วยไม้ไทย" ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่ไอยเรศออกดอกพอดี ซึ่งออกดอกทั้งหมด 52 ช่อ แต่ผมทำหักในขั้นตอนการห่อช่อดอกตอนขนย้าย 1 ช่อ จึงเหลือไปโชว์ในงานเพียง 51 ช่อ แต่ละช่อก็ยาวถึง 60 เซนติเมตร ก็เป็นการขนย้ายที่ยากมาก แต่ก็ผ่านไปด้วยดี หลังงานเลิกไอยเรศต้นนี้ก็มีผู้มาขอซื้อ แล้วคุณวิชัยจำหน่ายไปในราคา 500,000 บาท เลยทีเดียว

ในบรรดาสกุลช้างด้วยกัน คุณวิชัยกล่าวว่า ช้างแดงถือว่าเลี้ยงยากที่สุด โตช้า ตายง่าย อย่างปลูกเลี้ยงเปอร์เซ็นต์การตายสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว แต่ความนิยมในการปลูกเลี้ยงช้างแดงในปัจจุบันกลับสวนทาง คือนักเลี้ยงกล้วยไม้จะนิยมหามาเลี้ยงกันมากขึ้นเป็นลำดับ น่าจะด้วยความท้าทายในการปลูกเลี้ยงนั่นเอง เหตุผลหนึ่งที่กล้วยไม้สกุลช้างเลี้ยงยาก เนื่องจากเป็นลักษณะของการ "ห่างป่า" จึงทำให้ช้างอ่อนแอ ทั้งต่อสภาพแวดล้อม ทั้งโรค-แมลง ซึ่งต่อๆ ไปการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างจะต้องนำต้นป่าแท้เข้ามาผสมกลับเข้าไปอีก



การพัฒนากล้วยไม้สกุลช้าง

จะเน้นการเพาะเมล็ดเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ปั่นตา


สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ไม่นิยมนำกล้วยไม้สกุลช้างมาปั่นตา เพราะที่ผ่านมา การปั่นตากล้วยไม้สกุลช้างยังไม่ค่อยดีนัก มีเปอร์เซ็นต์การตายสูง ซึ่งพ่อ-แม่พันธุ์ดีของเราก็เกิดความเสี่ยง แล้วอีกเหตุผลหนึ่ง หากทุกคนในวงการทำแต่เพาะไม้ปั่นตาอย่างเดียว วงการพัฒนากล้วยไม้สกุลช้างมันก็จะหยุดอยู่กับที่ทันที แต่จากการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดนั้น เจ้าของหรือนักผสมพันธุ์ผสมจนติดฝักเฝ้ารอคอยเวลาได้ลุ้นว่ามันจะหน้าตาเป็นอย่างไร บางครั้งได้ต้นดีที่สุดก็เพียงต้นเดียวจากหลายๆ ร้อยหลายๆ พันต้นก็ดีใจแล้ว แต่ต้นดีเพียง 1-2 ต้นในแต่ละครั้ง คุณวิชัยกล่าวว่า สามารถขายให้ผู้ที่ชื่นชอบและนักสะสม ตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาท ต่อ 1 ต้น เลยทีเดียว ขอเพียงเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อกล้วยไม้เราสวย ในวงการเขาก็จะรู้ถึงกันหมด ไกลแค่ไหนผู้ที่ชื่นชอบเหล่านั้นก็จะตามมาซื้อถึงสวนเลยทีเดียว

ผู้ที่ชื่นชอบก็จะไปติดตามไม้ของแต่ละสวนในงานประกวดบ้าง จากอินเตอร์เน็ตบ้าง เพียงดูรูปก็รู้แล้วว่าไม้ของแต่ละสวนเป็นอย่างไร อย่างไม้สกุลช้างทุกวันนี้คนหันมานิยมกันมากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นสำหรับพ่อ-แม่พันธุ์ดีๆ หรือลูกผสมใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา จนในช่วงหลังถึงกับมีการลักขโมยกล้วยไม้ช้างจากสวนดังๆ ก็มาก โดยขโมยสามารถหยิบต้นที่ดีที่สุดได้อย่างถูกต้อง คุณวิชัยกล่าว โดยเฉพาะสวนกล้วยไม้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่โดนขโมยกันมาก

การขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้างที่สวนวิไลรัตน์ ออร์คิดส์ จึงเป็นการเพาะเมล็ดทั้งหมด ซึ่งหลังจากผสมดอกจนติดฝักประมาณ 10-11 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น ในช่วงอากาศร้อนมาก ฝักกล้วยไม้มักจะแก่เร็วขึ้นและฝักร่วงง่าย แต่ถ้าอากาศทางภาคเหนือซึ่งอากาศเย็น ฝักกล้วยไม้ที่ผสมจะแก่ช้ากว่าเล็กน้อย เมล็ดกล้วยไม้ที่ดี ไม่ควรปล่อยให้เมล็ดแก่จนเป็นสีน้ำตาลเข้มจัด เพราะเมื่อส่งเพาะแล็บ เมล็ดแก่จะเพาะไม่ค่อยขึ้น กล้วยไม้เพียง 1 ฝัก แล็บก็จะสามารถเพาะได้ถึง 100-300 ขวด เลยทีเดียว โดยเฉพาะถ้าเป็นฝัก "ช้างแดง" คุณวิชัยจะสั่งให้ทางแล็บเพาะให้ได้จำนวนขวดมากที่สุด เพราะนอกจากเป็นการผสมระหว่างพ่อ-แม่ช้างดีแล้ว ก็ต้องเผื่อในการปลูกเลี้ยงที่จะมีการตายไว้ด้วย



เลี้ยงดูจนลุ้นดอกแรกของช้าง ก็ต้องรอเวลาถึง 3 ปีครึ่ง

คุณวิชัยเล่าว่า เมื่อนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวดอนุบาลราว 1 ปี บนโต๊ะที่วางไว้บนซาแรนดำ เลือกซาแรนดำที่ลักษณะหยาบๆ เพื่อให้รากกล้วยไม้สามารถแทงทะลุลงข้างล่างได้ ซึ่งคุณวิชัยแนะว่า เป็นวิธีที่ได้ผลดี รากกล้วยไม้จะเจริญได้ดีมาก รากยาวเมื่อเราดึงกล้วยไม้ขึ้นกระเช้า รากกล้วยไม้จะไม่ขาดหรือหักเสียหายเลย ซึ่งส่งผลไม่ให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตหรือลดเปอร์เซ็นต์การตายในระหว่างย้ายขึ้นกระเช้าแขวน โดยหากเป็นเมื่อก่อนนั้นเราจะอนุบาลเลี้ยงลูกกล้วยไม้ในกระถางเล็กๆ หรือกระถางเจี๊ยบ เมื่อเลี้ยงได้ 1 ปี พอจะถอนต้นย้ายขึ้นบนโต๊ะกระเช้าแขวน รากกล้วยไม้ทั้งหัก ทั้งขาด ทำให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตไป พอเลี้ยงอนุบาลได้ 1 ปี คุณวิชัยก็จะนำขึ้นกระเช้าแขวน เลี้ยงบำรุงอย่างดีอีกราว 2 ปีครึ่ง ก็จะได้ลุ้นดอกแรกของช้าง แต่ถ้าเป็นแวนด้าก็จะเร็วกว่านี้คือราว 3 ปี ก็จะเห็นดอกแรก



นิสัยของกล้วยไม้สกุลช้างจะไม่ชอบอากาศร้อน

คุณวิชัยกล่าวว่า กล้วยไม้สกุลช้างจะไม่ชอบอากาศร้อนและแสงแดดแรงจัด ซึ่งในโรงเรือนจะต้องมุงซาแรนให้พรางแสงได้อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ (คือแสงผ่านได้ 30 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อเข้าสู่หน้าแล้งช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่สวนจะต้องเพิ่มซาแรนให้อีกชั้นหนึ่ง เพราะอากาศในพื้นที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร นี้จะร้อนมาก แดดจะแรงมาก จากนั้นก็ต้องควบคุมเรื่อง "น้ำ" ให้ดี ต้องสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้เย็น เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนลง สามารถให้น้ำได้วันละ 1-2 ครั้ง ตามแต่สภาพอากาศร้อนมากเพียงใด



การให้ปุ๋ยกล้วยไม้สกุลช้าง

คุณวิชัยแนะนำว่า สามารถให้ได้แต่อย่าให้มาก อย่าปล่อยให้เขางามและใบอวบอ้วนจนเกินไป เพราะจะทำให้เขาอ่อนแอต่อโรค "ยอดเน่า" ซึ่งหากกล้วยไม้อย่างช้างเป็นมักจะแก้ไขยากมาก ไม่เหมือนกับกลุ่มแวนด้าที่เป็นยอดเน่า ยังพอใช้ยาเชื้อราฉีดรักษาอาการ ตัดยอดเลี้ยงรักษาได้ แต่สำหรับกล้วยไม้สกุลช้าง เมื่อเป็นโรคยอดเน่าแล้วมีโอกาสตายสูงมาก โดยเฉพาะช้างแดงที่อ่อนแอมาก ประสบการณ์ที่ผ่านมา ช้างแดงที่มีคนให้ราคาไว้หลายหมื่นบาทตายไปเพราะโรคนี้แล้วก็มี

การฉีดปุ๋ยทางใบโดยปกติก็จะฉีดให้ไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะฤดูฝนเป็นช่วงที่ช้างจะโตเร็ว ก็จะงดหรือเว้นระยะห่างในการใช้ปุ๋ย อย่าให้เขาอวบอ้วนจนเกินไป ช้างแดงเลี้ยงให้อวบอ้วนนั้นไม่ยาก แต่เลี้ยงให้เขารอดนั้นยากกว่า แต่คุณวิชัยจะให้ความสำคัญเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอมากกว่า สกุลช้างเป็นกล้วยไม้ที่บังคับให้ออกดอกนอกฤดูไม่ได้ ไม่เหมือนกับสกุลแวนด้า หรือเขาแกะที่ยังสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ พอเข้าสู่ฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน ช้างก็จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาแล้ว ดอกจะเริ่มบานได้เดือนธันวาคม-เดือนมกราคมของทุกปี ส่วนการออกดอกจะมากหรือน้อยนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าถ้าอากาศเย็นมาก ช้างก็จะออกดอกแทงช่อดี

การมองตลาดกล้วยไม้สกุลช้าง โดยเฉพาะ "ช้างแดง" อนาคตทุกสวนก็ต้องแข่งขันกันเรื่องฝีมือ ที่จะพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้น ผลิตลูกไม้จากการเพาะเมล็ดให้เกิดความหลากหลาย ให้ได้เลือก อย่างที่สวนจะขายไม้เพาะเมล็ด เลี้ยงจนเป็นไม้รุ่นจึงจะจำหน่ายออกไป จะไม่ขายออกไปเป็นไม้ปั่นตาหรือขายไม้ในขวด

นอกจากกล้วยไม้สกุลช้างแล้ว สวนกล้วยไม้วิไลรัตน์ ออร์คิดส์ ยังมีกล้วยไม้อย่างตระกูลแวนด้า แคทลียา ฯลฯ ที่ต้องปลูกเลี้ยงไว้รองรับลูกค้าที่ต้องการความหลากหลายในเวลาเลือกซื้อสินค้า หรือมาซื้อกล้วยไม้จากทางสวนเพื่อนำไปขายต่อจะได้ไม่เสียเที่ยว เป็นต้น ด้วยประสบการณ์ในวงการกล้วยไม้ของคุณวิชัยมากว่า 20 ปีนั้น ท่านจะมาถ่ายทอดแนวคิดประสบการณ์ดีๆ ให้ได้ติดตาม

คุณวิชัยทิ้งท้ายว่า "แต่ถ้ามีนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ที่เขาสนใจจริง ตั้งใจเลี้ยง คุณวิชัยจะยกไม้ขวดที่ดีที่สุดให้เขาไปเลี้ยงเพื่ออีกสัก 3-4 ปีข้างหน้า เมื่อเขาเลี้ยงจนเห็นดอกที่สวย เขาก็จะได้มีกำลังใจและชื่นชอบกล้วยไม้ต่อไป บ้านเราก็จะได้มีนักเลี้ยงกล้วยไม้รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้วงการกล้วยไม้ประเทศไทยไม่หยุดนิ่ง"



หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เงินล้าน" พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เชิงพาณิชย์" และ หนังสือ "การผลิตและการตลาดกล้วยไม้สกุลหวาย" รวม 3 เล่ม จำนวน 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กำแพงเพชร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 471
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM