เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
บันไดสามขั้นสำหรับนักเลี้ยงกล้วยไม้
   
ปัญหา :
 
 
งานอดิเรกของผู้นิยมชมชอบต้นไม้ที่ฮิตมากก็คือ การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ กล้วยไม้ที่ว่ามักจะเป็นกล้วยไม้ที่นำออกจากป่า หรือที่นักกล้วยไม้เรียกว่า ไม้กำ ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านำมากำขายเป็นกำๆ ในตลาดนัดจตุจักรหรือแหล่งขายกล้วยไม้ป่าทั่วๆ ไป กล้วยไม้ดังกล่าวกว่าจะมาถึงมือผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่ในสภาพบอบช้ำแสนสาหัสมาแล้วแทบทั้งนั้น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ซื้อไปเลี้ยงมักจะไม่รอด

สำหรับนักกล้วยไม้ที่เป็นมือฉมังขั้นเซียนในปัจจุบันล้วนผ่านเวทีการเลี้ยงกล้วยไม้ป่ามาแล้วทั้งสิ้น ตำรากล้วยไม้ที่มีก็ซื้อหามาเพื่ออ่านดูว่ามีชนิดไหนบ้าง ตำราประเภทนี้มักจะเน้นที่รูปดอกให้รู้ว่าเป็นกล้วยไม้ชนิดไหน เห็นดอกสวยก็จำชื่อไปเสาะหาซื้อ โดนหลอกมาก็มาก จะเอาต้นชื่อนี้ กลับได้อีกต้นหนึ่ง ซึ่งสำหรับมือใหม่ดูต้นกล้วยไม้ไม่ออกว่าเป็นชนิดไหนกันแน่ นักเลี้ยงกล้วยไม้ทุกคนจะต้องผ่านการเป็นมือใหม่หัดเลี้ยงก่อน และต้องผ่านบันไดสามขั้นนี้ทุกคน

บันไดขั้นที่หนึ่ง เลี้ยงให้รอด

บนบันไดขั้นนี้เป็นขั้นแรกสำหรับนักกล้วยไม้ มือใหม่หัดเลี้ยงกล้วยไม้จะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ชอบดอกกล้วยไม้ชนิดไหนก็จะหาซื้อต้นกล้วยไม้ชนิดนั้น โดยไม่พิจารณาถึงสภาพพื้นที่หรือสถานที่เลี้ยงของตนเองเลย ขอให้ชอบเป็นอันซื้อ กล้วยไม้หลายชนิดมีถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติเหนือระดับน้ำทะเลสูงกว่าสถานที่เลี้ยงของตัวเองมาก เช่น บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำ กลับซื้อรองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีเหลืองเลย มาเลี้ยง หรือไม่ก็ ฟ้ามุ่ย สามปอย ผลที่ได้ก็คือ สภาพต้นจะค่อยๆ เหี่ยวลงทิ้งใบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตายในที่สุด เพราะฉะนั้นในการอ่านตำรากล้วยไม้ ไม่ว่าของอาจารย์อบฉันท์ หรืออาจารย์ท่านใดก็ตาม นอกจากดูความสวยงามของดอกแล้ว ควรอ่านถึงสภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนั้นด้วย ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมี 3 ประการ

ประการแรก ให้ศึกษาว่ากล้วยไม้ชนิดนั้นมีสภาพความเป็นอยู่ในธรรมชาติเหนือระดับน้ำทะเลกี่เมตร แล้วเปรียบเทียบดูสถานที่เลี้ยงของเราเองว่าใกล้เคียงกับที่ตำราบอกไหม ซึ่งประการนี้ไม่จำเป็นต้องเท่ากันและถ้าสูงกว่าไม่เป็นไร ถ้าต่ำกว่ามากก็ไม่ควรเลี้ยง ขอให้จำไว้ว่า กล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก มักจะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลไม่มาก จะปลูกเลี้ยงได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ที่มาจากภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป อย่างนี้ในการเลี้ยงก็ค่อนข้างยาก ยิ่งถ้าแหล่งอาศัยในธรรมชาติสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ไม่ควรเลี้ยงเลย เพราะจะเสียเงินไปเปล่าและยังบั่นทอนกำลังใจในการเลี้ยงอีก

ประการที่สอง ให้ศึกษาดูให้ดีว่า กล้วยไม้ชนิดนั้นๆ พบในแหล่งธรรมชาติที่ป่าชนิดไหน เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ หรือป่าพรุ สภาพของป่าแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันทั้งในสภาพของแสง สภาพของความชื้นในบรรยากาศ ปริมาณฝนที่ตก อุณหภูมิในป่าตามฤดูกาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของการดำรงอยู่ของกล้วยไม้แต่ละชนิด ยากไหมครับ บอกได้เลยว่าไม่ยาก ถ้าการปลูกกล้วยไม้เป็นสิ่งที่เรารัก เราต้องเอาใจใส่ในสิ่งที่เรารักเป็นเรื่องธรรมดา เอาอย่างนี้ เรื่องทั้งหมดแทบจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เรารู้กันแทบทั้งนั้น ถ้าเราพูดถึงป่าดิบชื้น ชื่อก็บอกในตัวอยู่แล้วว่า ป่าดิบก็คือป่าที่ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่ใช่ไหม แล้วชื้นล่ะ ชื้นก็คือมีความชื้นในป่ามาก ป่าดิบชื้นก็คือสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความชื้นมาก ก็แค่นั้น แล้วยังไงต่อ ต่อก็คือ เมื่อเรารู้ว่ากล้วยไม้ชนิดนี้อยู่ในป่าที่เป็นป่าดิบชื้น เราก็ต้องดัดแปลงสถานที่ปลูกของเราให้คล้ายสภาพในธรรมชาติที่กล้วยไม้อยู่ เปล่า ไม่ได้บอกให้เอาป่ามาปลูกไว้ข้างบ้าน ป่าดิบชื้น เราจะพิจารณาได้ว่า สภาพแสงจะต้องไม่มากนัก ซาแรนที่พรางแสงใช้ 80% น่าจะใช่ แล้วสภาพความชื้นละ สภาพพื้นโรงเรือนควรจะเป็นทรายไหม หรือมีสภาพน้ำเจิ่งอยู่ตลอดเวลา แล้วปริมาณฝนในป่าดิบชื้น ควรจะมากหรือน้อย ก็ต้องควรจะมาก ถ้าสภาพฝนมากในธรรมชาติแล้วในโรงเรือนควรรดน้ำวันละกี่ครั้ง รดสัก 2 ครั้ง จะคล้ายปริมาณฝนที่มากไหม อุณหภูมิที่เลี้ยงล่ะ ก็ให้ดูจังหวัดหรือภาคที่พบ ถ้าพบทั่วประเทศก็แสดงว่ากล้วยไม้ชนิดนี้มีสภาพความเป็นอยู่หลากหลาย เลี้ยงได้ไม่ยาก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเลี้ยงที่กรุงเทพฯ ก็ยังแนะนำให้เอากล้วยไม้ที่มาจากทางภาคใต้เลี้ยง เพราะจะเลี้ยงง่ายกว่าภาคเหนือ แต่ถ้าอยู่ภาคเหนือเอากล้วยไม้จากภาคไหนก็เลี้ยงได้หมด ยกเว้นการเลี้ยงบนดอยซึ่งมีอากาศหนาวมาก กล้วยไม้บางชนิดที่พบในภาคเหนือจะเลี้ยงไม่ได้เลยในกรุงเทพฯ เช่น เอื้องแซะหอม เอื้องแซะดอยปุย

สรุปแล้ว ถ้าพบชื่อเป็นสถานที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรหลีกเลี่ยงในการเอามาปลูกเลี้ยงในกรุงเทพฯ เช่น รองเท้านารีดอยตุง รองเท้านารีอินทนนท์ เก๊ากิ่งแม่สะเรียง กะเรกะร่อนอินทนนท์ หนวดพราหมณ์ดอย สิงโตเชียงดาว เอื้องจำปาน่าน กระดิ่งภู อย่าได้ริซื้อมาปลูกเลี้ยงเป็นอันขาด เพราะกล้วยไม้ชนิดนี้จะต้องอาศัยอยู่อุณหภูมิที่ต่ำจึงจะออกดอก

ประการที่สาม คือสาเหตุประการแรกเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัจจัยที่สองเราสามารถทำขึ้นมาให้ใกล้เคียงได้ ประการที่สามคือ เราสามารถเอาใจใส่ดูแลกล้วยไม้อย่างที่ว่าในปัจจัยที่สองได้ไหม ถ้าไม่ได้ขอแนะนำให้เลี้ยงให้น้อยต้นลง หรือไม่ก็เลี้ยงกล้วยไม้สกุลหวายที่ตัดดอกสำหรับไหว้พระเถอะ กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย ออกดอกตลอดปี เป็นที่นิยมมาก แถมราคาถูกอีกด้วย และไม่เป็นการรังแกธรรมชาติเพราะกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นลูกผสมที่นำมาปั่นเนื้อเยื่อกันคราละเป็นแสนต้น ตายก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ เป็นการอุดหนุนเกษตรกรอีกทาง



บันไดขั้นที่สอง เลี้ยงให้ออกดอก

กล้วยไม้พันธุ์แท้โดยทั่วๆ ไปเมื่อเลี้ยงไม่ตายมักจะออกดอกเมื่อถึงฤดูดอกของแต่ละชนิดนั้นๆ ถึงสภาพการเลี้ยงดูจะไม่ดีมากก็ตาม ดังจะเห็นได้จากที่เราเอากล้วยไม้พันธุ์แท้ต่างๆ ไปเกาะตามต้นไม้ใหญ่บริเวณบ้าน ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่มากนัก จนลืมไปเสียแล้วก็มี พอถึงฤดูดอกก็จะมีดอกออกมาให้ชม ถึงรู้ว่าปลูกกล้วยไม้เอาไว้ แต่สภาพดอกอาจไม่ดีนัก อันนี้มักจะไม่แน่เสมอไป บางครั้งสภาพแวดล้อมอาจเหมาะสำหรับกล้วยไม้ชนิดนั้นก็จะได้เห็นดอกที่มีสภาพสมบูรณ์ได้ไม่ยาก แต่สำหรับกล้วยไม้ลูกผสมต่างๆ ที่ปลูกเลี้ยงกัน เช่น สกุลแวนด้า เอสโคเซนด้า แคทลียา ถ้านำไปเกาะตามต้นไม้ฝากเทวดาเลี้ยงมักจะไม่ได้ผล เนื่องจากกล้วยไม้ลูกผสมเหล่านี้มีคุณสมบัติในการออกดอกถี่มากกว่าปีละ 1 ครั้ง ทำให้ต้องการปุ๋ย ยา และการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างดี การซื้อมาปลูกแล้วรดเพียงแต่น้ำ การออกดอกค่อนข้างยาก หนำซ้ำจะตายเอาอีก ส่วนกล้วยไม้พันธุ์แท้ออกดอกเพียงปีละครั้ง ดังนั้น ความต้องการปุ๋ยยาและการดูแลจะน้อยกว่า การออกดอกก็ง่ายกว่าเพราะสะสมอาหารเพื่อการนี้ไว้ตั้งปี กว่าจะออกดอก แต่ดอกจะสวยสมบูรณ์หรือไม่ก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมของต้นไม้ที่เกาะ แต่ถ้ากล้วยไม้พันธุ์แท้ได้รับการดูแลเอาใจใส่เหมือนกล้วยไม้ลูกผสม การออกดอกก็ยิ่งจะมีสภาพสมบูรณ์กว่า การให้ปุ๋ยเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ต้นกล้วยไม้มีความสมบูรณ์ การรดแต่น้ำอย่างเดียวโดยไม่ให้ปุ๋ยเหมือนกับคนกินเฉพาะข้าวไม่ได้กินกับ การให้ปุ๋ยอย่างไร เช่น ความถี่ในการให้ เวลาในการให้ จำนวนที่ให้ ชนิดปุ๋ยที่ให้สอดคล้องกับฤดูกาลหรือระยะเวลาการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตช่วงไหนของกล้วยไม้ชนิดนั้น เป็นสิ่งสำคัญ นักปลูกเลี้ยงมักจะให้ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อความสมบูรณ์ของต้นก่อน จนต้นสมบูรณ์เต็มที่ใกล้จะออกดอกจึงจะใส่ปุ๋ยเร่งดอก ส่วนยาที่ให้ก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ กล้วยไม้แต่ละชนิดมีความทนทานโรคต่างกัน การให้ยาในกล้วยไม้สกุลเดียวกันค่อนข้างง่าย ถ้าปลูกเลี้ยงหลายๆ สกุลรวมกัน การให้ปุ๋ยยาค่อนข้างยาก จึงควรแยกโซนการปลูกเป็นแต่ละส่วนไปเพื่อสะดวกในการให้ปุ๋ยยา



บันไดขั้นสาม เลี้ยงอย่างไรให้ดอกสวย

เลี้ยงมาถึงขั้นนี้แล้ว เราจะรู้ว่ากล้วยไม้ชนิดไหนเราเลี้ยงได้ และกล้วยไม้ชนิดไหนไม่เหมาะสมกับเราด้วยประการทั้งปวง ถ้าชอบก็เลี้ยงไว้ดูบ้างเล็กน้อยจะได้มีเวลาประคบประหงม แต่อย่าดันทุรังเลี้ยงจำนวนมากๆ กล้วยไม้เราจะเหลือแค่ไม่กี่สกุล แต่จำนวนในสกุลที่เลี้ยงได้จะค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ กล้วยไม้สกุลไหนที่เลี้ยงไม่ได้ก็จะหยุดซื้อ ที่มีอยู่ก็แจกจ่ายให้กับคนอื่นไป กล้วยไม้ที่เหลือก็จะถูกจัดแบ่งแยกเป็นส่วนๆ แต่ละสกุลไปเพื่อง่ายในการดูแล เมื่อเราเหลือเฉพาะกล้วยไม้สกุลที่เลี้ยงได้และที่เรารักแล้ว เราก็ต้องตั้งใจเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้สกุลนั้นๆ จากผู้รู้หรือตำรับตำราทั้งหลาย เลี้ยงอย่างไรให้ดอกสวย คำตอบนี้คุณต้องเป็นผู้แสวงหาเอง เลี้ยงให้สวยเพื่ออะไร เอาไว้ชื่นชมเองกับบ้าน หรือเริ่มเข้าวงการเพื่อประกวดกล้วยไม้ เปิดหูเปิดตาดูกล้วยไม้ต่างๆ ที่เขาเอามาประกวดบ้างเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ก็จะค่อยๆ รู้เรื่องกล้วยไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอาประสบการณ์ของคนอื่นมาใช้บ้าง แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะการเลี้ยงกล้วยไม้ให้ได้ดีต้องมีปัจจัยหลายอย่าง อย่าเอาเพียงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียวมาใช้กับกล้วยไม้ของเราทันที ให้ค่อยๆ ทดลองทำทีละส่วนน้อยๆ ก่อน ถ้าเห็นว่าเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ในสวนเราแล้วละก็ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าของเรามีส่วนดีอยู่แล้วอย่าพยายามริเปลี่ยน เพราะมันอาจจะเลวลงก็ได้

นักกล้วยไม้ที่เริ่มทำสวนกล้วยไม้ เริ่มมาจากการผ่านบันไดสามขั้นนี้มาทั้งนั้น การที่มีเงินแล้วเอามาลงทุนทำสวนกล้วยไม้เลยด้วยทุนจำนวนมาก มักจะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในงานเลี้ยง จำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น เขาว่าอย่างไรก็ว่าตามเขา ไม่นานก็จะค่อยๆ ม้วนเสื่อกลับบ้าน โบราณว่า อย่าพึ่งจมูกเขาหายใจ มีอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถเป็นเจ้าของสวนกล้วยไม้ได้เป็นวิธีการเรียนลัด คือการเข้ามาทำงานในสวนกล้วยไม้ที่เขาประสบความสำเร็จแล้ว มาทำงานให้เขา เก็บเกี่ยวประสบการณ์เรียนรู้เรื่องราวจากสวนกล้วยไม้นั้น เอาใจใส่จริงๆ ไม่เกิน 3 ปี 5 ปี ก็น่าจะมีประสบการณ์พอสำหรับสร้างสวนของตัวเอง วิธีนี้ก็สร้างเจ้าของสวนได้หลายแห่ง แล้วแต่จังหวะชีวิตของคนจะใช้วิธีไหนในการเดิน
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 471
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM