เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มลพิษของดินและแหล่งน้ำ จากการใช้สารเคมีในสวนยาง
   
ปัญหา :
 
 
คุณสุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในการปลูกสร้างสวนยางที่ทำให้ต้นยางเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วและให้ผลผลิตสูงสม่ำเสมอนั้น จำเป็นต้องใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และสารเคมีที่ใช้ในการจับตัวของน้ำยางในกระบวนการผลิตยางแผ่นดิบ สารเคมีเหล่านี้หากเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษทางดินและแหล่งน้ำ

โดยผลการศึกษาของ คุณนุชนารถ กังพิศดาร ผู้เชี่ยวชาญด้านยางพารา กรมวิชาการเกษตร พบว่า การใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากเกินความต้องการของพืชอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาวะแวดล้อมได้ เช่น การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสปริมาณที่มากเกินไป ธาตุไนโตรเจนในรูปของไนเตรตอาจถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ส่วนธาตุฟอสฟอรัสเมื่อปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำแล้วมักกำจัดได้ยาก ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลต่อคุณภาพน้ำที่มนุษย์และสัตว์ใช้บริโภค ในช่วงยางก่อนเปิดกรีดจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี อัตรา 40 กิโลกรัม/ไร่/ปี และหลังเปิดกรีด อัตรา 80 กิโลกรัม/ไร่/ปี มีการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในสวนยางประมาณ 750 มิลลิลิตร/ไร่ /ปี สารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้กันมาก ได้แก่ ไกลโฟเสต (glyphosate) และพาราควอต(paraquat) ไกลโฟเสต เป็นสารเคมีประเภทสัมผัสตายและใช้ฉีดพ่นทางใบ หากฉีดพ่นบริเวณใกล้แหล่งน้ำ จะทำให้ละอองของสารเคมีปลิวตกลงสู่แหล่งน้ำ แพร่กระจายและสะสมในแหล่งน้ำ หรือเกิดจากการใช้สารเคมีปริมาณมากเกินอัตราปกติและใช้ไม่ถูกต้อง ส่วนพาราควอตเป็นสารเคมีที่สลายตัวได้เร็วเมื่อตกลงสู่ดิน เนื่องจากมีจุลินทรีย์ในดินหลายชนิดสามารถย่อยสลายพาราควอตที่ตกค้างได้ นอกจากนี้ ยังถูกดูดยึดด้วยอนุภาคดินเหนียวสูงมาก และยังเป็นสารเคมีที่สลายตัวได้ดีด้วยแสงอีกด้วย การทำยางแผ่นดิบของเกษตรกรจะมีการใช้น้ำปริมาณมาก และใช้สารเคมีเพื่อการจับตัวของยาง เช่น กรดฟอร์มิก หรือกรดซัลฟูริก น้ำเสียจากการทำยางแผ่นดิบอาจปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้น ปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกับระดับผิวดินจากปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป และจากการทำยางแผ่นดิบที่มีปริมาณมากถึง 20 ลิตร ต่อสวนยาง 1 ไร่ ทำให้เกิดการชะล้างของมลพิษลงในแนวดิ่งผ่านชั้นดินทราย สวนยางบางแห่งมีบ่อน้ำใกล้บ้านและเกษตรกรทำยางแผ่นดิบใกล้กับบ่อน้ำหรือบ่อบาดาล อาจเกิดการชะล้างของน้ำเสียลงสู่บ่อน้ำหรือบ่อบาดาล ส่วนสวนยางที่ตั้งตามริมคลองหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำเสียจากการทำยางแผ่นดิบอาจก่อให้เกิดมลภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ใช้น้ำในบริเวณนั้น และอาจมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำด้วย

จากการสำรวจสวนยางภาคใต้ในจังหวัดสงขลาที่มีการปลูกยางมากกว่า 10 ปี และมีการใช้สารเคมีเป็นเวลานาน ที่อาจส่งผลกระทบต่อมลภาวะของดินและแหล่งน้ำ โดยวิเคราะห์คุณภาพน้ำบ่อ น้ำบาดาล และแหล่งน้ำธรรมชาติ ปริมาณธาตุอาหารในดินและใบยางบริเวณสวนยางที่ใกล้จุดทำยางแผ่นดิบ ผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ไม่พบการปนเปื้อนของไนเตรต ฟอสเฟต ซัลเฟต และธาตุโลหะหนัก เช่น เหล็ก แมงกานีส สังกะสี และทองแดง ในบ่อน้ำและบ่อบาดาลในสวนยาง ยกเว้นบ่อน้ำและบ่อบาดาลที่อยู่ใกล้โรงทำยางแผ่นดิบ มีธาตุเหล็กและแมงกานีสสูงกว่าเกณฑ์อนุโลมสูงสุดและมีค่าสารละลายได้ทั้งหมดและค่าความนำไฟฟ้าสูง เช่นเดียวกับค่าแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และโซเดียมสูง ซึ่งมีผลทำให้น้ำขุ่น มีความกระด้างและความเค็ม ส่วนผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการชะล้างของเสียจากการทำยางแผ่นดิบลงสู่แหล่งน้ำ พบว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำและการเกษตร กล่าวคือ ไม่พบการปนเปื้อนของไนเตรต ฟอสเฟตและซัลเฟตในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่นเดียวกับธาตุโลหะหนัก เช่น แมงกานีส สังกะสี และทองแดง

แต่พบการปนเปื้อนของธาตุเหล็ก ทั้งนี้ เนื่องจากดินปลูกยางเป็นดินกรด ธาตุเหล็กจะอยู่ในสารละลายดินเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นลักษณะที่เป็นธรรมชาติของแหล่งน้ำ ซึ่งไม่ใช่ผลกระทบทางการเกษตร และพบว่าแหล่งน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved Oxygen ; DO) และความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี (Biochemical Oxygen Demand ; BOD) เป็นไปตามค่ามาตรฐานของคุณภาพในแหล่งน้ำผิวดิน ยกเว้นแหล่งน้ำที่เป็นจุดน้ำทิ้งของโรงทำยางแผ่นดิบของสวนยางขนาดใหญ่ที่มีการใช้น้ำปริมาณมาก มีค่า DO ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ค่า BOD สูงกว่าค่ามาตรฐาน และมีค่าความนำไฟฟ้า ค่าสารละลายได้ทั้งหมดสูง เช่นเดียวกับค่าแคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และโซเดียมสูง ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพน้ำหากมีการชะล้างของเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่วนการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดินในสวนยางดังกล่าว พบว่า ดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายถึงดินร่วนเหนียวปนทราย และเป็นดินกรด มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน 3.6-4.4 ธาตุอาหารในดินที่สำคัญที่อาจก่อให้เกิดมลพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ผลการวิเคราะห์ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดในดินพบว่า มีปริมาณต่ำมาก จึงไม่พบการปนเปื้อนของไนเตรตในแหล่งน้ำในสวนยาง เช่นเดียวกับไม่พบการปนเปื้อนของฟอสเฟต ยกเว้นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากการทำยางแผ่นดิบของสวนยางขนาดใหญ่ที่พบการปนเปื้อนของฟอสเฟต ส่วนปริมาณธาตุอาหารในใบยาง ปรากฏว่าไม่พบอาการเป็นพิษของยางพารา และไม่พบการปนเปื้อนของธาตุเหล็ก แมงกานีส สังกะสี และทองแดง ในแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้โรงทำยางแผ่นดิบ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ที่ตั้งของโรงทำยางแผ่นดิบไม่ควรให้อยู่ใกล้กับบ่อน้ำหรือบ่อบาดาล โดยเฉพาะโรงทำยางแผ่นดิบของสวนยางขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการใช้น้ำปริมาณมาก อาจมีการชะล้างของเสียลงสู่แหล่งน้ำได้ และส่งผลต่อคุณภาพน้ำ โรงทำยางแผ่นดิบของสวนยางขนาดใหญ่จึงควรมีระบบบริหารจัดการน้ำเสียที่ถูกต้องตามมาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อมลภาวะของดินและแหล่งน้ำในระยะยาว อย่างไรก็ดี การศึกษาผลกระทบการใช้สารเคมีทางการเกษตรในภาคใต้ของประเทศไทยที่มีต่อแหล่งน้ำสอดคล้องกับผลการศึกษาในต่างประเทศที่รายงานว่า การใช้สารเคมีในสวนยางพารามีผลกระทบต่อมลภาวะในแหล่งน้ำน้อยกว่าพืชผักและไม้ผล โดยพบผลตกค้างของมลภาวะในสวนยางในอัตราต่ำ เพียงร้อยละ 5-10 และไม่พบสารเคมีกำจัดวัชพืชในน้ำใต้ดิน เนื่องจากในสวนยางมีการใส่ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในอัตราต่ำและไม่มีการให้น้ำ นอกจากนี้ ยังพบว่าผิวดินที่ปกคลุมด้วยอินทรียวัตถุและการให้น้ำปริมาณน้อยจะช่วยลดการชะล้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีในสวนยาง เกษตรกรควรใช้ตามความจำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษของดินและแหล่งน้ำ เฉพาะอย่างยิ่งก็เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกร หากเกษตรกรและผู้สนใจมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-1576 ในวัน เวลาราชการ

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 474
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM