เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กลิ่นหอมละมุน เปี่ยมคุณค่า ของข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากภูมิปัญญาไทย
   
ปัญหา :
 
 
ข้าวหอมทอง ข้าวฮางงอก ภูมิปัญญาไทย

ข้าวฮาง อุดมคุณค่าจากข้าวพื้นเมืองของชาวภูไท จังหวัดสกลนคร

สกลนคร ดินแดนแห่งความปราดเปรื่องทางภูมิปัญญาและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) คุณภาพสูงเพื่อสุขภาพ จากภูมิปัญญาของชาวสกลนครที่เป็นผู้ผลิตข้าวเป็นอาหารเลี้ยงคนไทยมาช้านาน และความฉลาดเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศของชาวภูไท ที่มีความรักษ์ถิ่นและมีความแยบยลหลักแหลมในการดำเนินชีวิต จึงสร้างสรรค์ ?ข้าวฮาง? หรือ ?ข้าวหอมทอง? ที่เป็นการหลบเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมหรือฝนแล้งที่ทำให้ข้าวไม่สุกแก่เพียงพอ อันจะมีผลทำให้ข้าวแตกหักจากการขัดสีข้าวฮางชาวภูไทผ่านการแช่ นึ่งและตากก่อนการขัดสี ทำให้การขัดสีไม่สามารถกะเทาะจมูกข้าวฮางให้หลุดร่วงจากเมล็ดข้าว ทำให้ข้าวมีสีเหลืองทอง หอมกรุ่น มีเมล็ดสวย ไม่แตกหัก และยังมีคุณค่าสูงกว่าข้าวกล้องอีกด้วย ฮาง ในภาษาอีสาน แปลว่า ?การนึ่ง? โดยเฉพาะเมื่อผสมผสานกับเทคนิคการทำข้าวงอก ยิ่งทำให้ข้าวฮางสกลนครมีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น นอกเหนือจากความนุ่มหอมอร่อยอย่างมีเอกลักษณ์ ปัจจุบัน ข้าวฮางงอกสกลนครมีหลากหลายชนิด คือ ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิมันปู และข้าวสามสี ที่ผู้บริโภคจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์พร้อมความนุ่มหอมละมุนลิ้นที่จะพบได้เฉพาะข้าวฮางสกลนครเท่านั้น

ข้าว เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีการเจริญเติบโต จะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มขึ้นเมื่อน้ำได้แทรกเข้าไป โดยจะกระตุ้นให้เอ็นไซม์ภายในเมล็ดข้าวเกิดการทำงาน เมื่อเมล็ดข้าวเริ่มงอกสารอาหารที่ถูกเก็บไว้ในเมล็ดข้าวก็จะย่อยสลายไปตามกระบวนการทางเคมี จนเกิดเป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กลง และน้ำตาลรีดิวซ์ นอกจากนี้ โปรตีนภายในเมล็ดข้าวก็จะถูกย่อยให้เป็นกรดอะมิโนและเปปไทด์ รวมทั้งยังพบการสะสมสารเคมีที่สำคัญ เช่น แกมมาออริซานอลโทโคฟิรอล โทโคไตรอีนอล และโดยเฉพาะสารแกมมาอะมิโนบิวทิริกแอซิด หรือที่รู้จักกันว่า ?สารกาบ้า? (GABA : Gamma Amino Butyric Acid)

ความเป็นมาของข้าวฮางงอก

?ข้าวฮางงอก? ประยุกต์มาจากการผลิต ?ข้าวฮาง? ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวภูไท อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เดิมวัตถุประสงค์ในการผลิตก็เพื่อการบริโภค เนื่องจากสมัยโบราณการผลิตข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภคทั้งปี ในช่วงก่อนที่จะมีข้าวใหม่ออก เกษตรกรอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนข้าวเพื่อบริโภค ต้องอาศัยธัญพืชอื่นในการดำรงชีวิตไปก่อน เมื่อข้าวในท้องนาออกรวงพัฒนาเมล็ดไป ประมาณร้อยละ 78-85 ขึ้นไป เกษตรกรจะผลิตเป็นข้าวฮาง เพื่อใช้ในการบริโภคก่อนที่ข้าวจะสุกแก่

คุณค่าทางโภชนาการของข้าวฮางงอก

เนื่องจากอุดมด้วยคุณค่า วิตามินบี 1, บี 2 ไนอะซิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม (GABA : Gamma Amino Butyric Acid) ช่วยลดความดันโลหิตและปริมาณคอเลสเตอรอล มีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอัลไซเมอร์ อีกทั้งมีธาตุแมงกานีสในปริมาณสูง ซึ่งจะช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง นอกจากนั้น ข้าวฮางงอกมีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมระบบประสาท รวมทั้งกล้ามเนื้อ นอกจากนั้น จากกรรมวิธีผลิตข้าวฮางงอกทำให้ได้ข้าวเต็มเมล็ดที่มีจมูกข้าวและรำข้าวซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ รวมกว่า 20 ชนิด อีกทั้งข้าวฮางมีเส้นใยอาหารปริมาณสูง ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย จุดเด่นของข้าวฮางงอกที่ผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว จะมีลักษณะพิเศษนิ่มอร่อยใกล้เคียงข้าวขาว

ประโยชน์ของสารกาบ้าจากข้าวฮางงอก

สารกาบ้า(GABA) หรือ Gamma Amino Butyric Acid ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารสื่อ ประเภท (neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลางและเป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมองที่ได้รับการกระตุ้น ซึ่งช่วยทำให้สมองเกิดการผ่อนคลายและนอนหลับสบาย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ anterior pituitary ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (high) ให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการกระชับและเกิดสารป้องกันไขมัน ที่ชื่อ lipotropic ในวงการแพทย์มีการนำสารกาบ้ามาใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น สารกาบ้ายังมีผลกระตุ้นฮอร์โมน ทำให้ระดับฮอร์โมนมีสม่ำเสมอ ช่วยชะลอความแก่ และขับเอ็นไซม์ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ควบคุมระดับน้ำตาลและพลาสมา คอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ให้เลือดไหลหมุนเวียนดีและลดความดันเลือดลง กระตุ้นการขับถ่ายน้ำดีสู่ลำไส้เพื่อสลายไขมัน ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้และช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย

กรรมวิธีการทำข้าวฮางงอก

1. นำข้าวเปลือกมาแช่น้ำสะอาด เป็นเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง

2. นำเมล็ดข้าวเปลือกที่ดูดน้ำจนอิ่มตัวมาบ่มในกระสอบ เป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง เพื่อให้ข้าวงอก

3. นำข้าวเปลือกไปนึ่ง ประมาณ 40 นาที

4. พักไว้ประมาณ 20 นาที ราดน้ำให้เย็นอีกครั้ง

5. นำข้าวเปลือกนึ่งผึ่งลมให้แห้งพอประมาณ

6. นำข้าวเปลือกนึ่งไปสี โดยระวังอย่าให้จมูกข้าวหลุด แล้วผึ่งลมให้แห้งสนิท



ข้าวสังข์หยด ข้าวเพื่อสุขภาพ

กลุ่มชาวนาศูนย์เกษตรชีววิถีบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ข้าวสังข์หยด เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดพัทลุง จัดเป็นกลุ่มข้าวที่มีสีแดงหรือม่วง ในอดีตจะหุงข้าวสังข์หยดเพื่อรับแขก นำไปกราบคารวะผู้ใหญ่ในวันสำคัญต่างๆ เป็นของฝากของกำนัล นิยมหุงบริโภคในรูปแบบข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เมล็ดข้าวอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ในปี พ.ศ. 2549 ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ทำการศึกษาวิจัยคุณค่าทางโภชนาการ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบคุณค่าของสารอาหารในข้าวพันธุ์ต่างๆ ปรากฏว่า ข้าวสังข์หยด มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ กล่าวคือ มีกากใยอาหารสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ จึงมีประโยชน์ในการชะลอความแก่ นอกจากนี้ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และฟอสฟอรัสสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการบำรุงโลหิต บำรุงร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันโรคความจำเสื่อม และยังมีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์ พวก oryzanol และมี Gamma Amino Butyric Acid (GABA) ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง จึงนับได้ว่า ข้าวพันธุ์สังข์หยด เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณค่าทางอาหารสูง คุณลักษณะของข้าวสารสังข์หยด เมล็ดเล็ก เรียว ท้ายงอน เยื่อหุ้มเมล็ดจะมีสีแดงถึงแดงเข้ม เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดข้าวจะนุ่ม และจับตัวกันคล้ายข้าวเหนียว วิธีการหุง ให้ซาวข้าวเบาๆ โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุดเพียงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่าของข้าว เติมน้ำให้ท่วมข้าว สูง 1 ข้อนิ้ว เมื่อข้าวสุกทิ้งไว้ให้ข้าวระอุ ประมาณ 5-10 นาที หากต้องการให้ข้าวแข็งหรือนุ่มสามารถเติมหรือเพิ่มน้ำได้ตามความชอบ

ข้าวสังข์หยด ของกลุ่มชาวนาศูนย์เกษตรชีววิถีบ้านเกาะกลาง มีหลักคิดวิธีการที่พึ่งพิงธรรมชาติและห่วงใยสุขภาพผู้บริโภค โดยยึดหลักการว่า อนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุกรรมข้าว พื้นที่ทำนาในถิ่นเดิมพึ่งพาน้ำฝนและฤดูกาลธรรมชาติในการทำเกษตร อย่างอ่อนน้อมสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น มุ่งเน้นวิธีการผลิตด้วยพึ่งพาตัวเองอย่างพอเพียง ปลูกกินและแบ่งปัน คัดพันธุ์ข้าวด้วยความรักผ่านวิถีชีวิตคนทำนา ทั้งเมล็ดพันธุ์ ผืนดิน แหล่งน้ำ และแสงแดด เฝ้าดูแลต้นกล้า จนเป็นต้นข้าวออกรวงอย่างสมบูรณ์ จวบจนเวลาผ่านไป 150 วัน จึงได้เก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวพื้นบ้าน นาน้ำฝน ลุ่มน้ำทะเลปาก แม่น้ำกระบี่ หนึ่งฤดูกาล หนึ่งครั้งทำนา มาเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ?ข้าวสังข์หยด? สนับสนุนโดย โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โรงไฟฟ้ากระบี่

คุณค่าทางโภชนาการของ

ข้าวสังข์หยด ต่อน้ำหนัก 100 กรัม



พลังงาน 364.2 กิโลแคลอรี โปรตีน 73 กรัม คาร์โบไฮเดรต 73.1 กรัม เส้นใย 4.81 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 317 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 1.4 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.32 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน 6.4 มิลลิกรัม



ข้าวสาลี

หมู่บ้านข้าวสาลีบ้านผาคับ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

หมู่บ้านผาคับ ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงตระหนักถึงสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนห่างไกลความเจริญ ทำให้ราษฎรขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม หมู่บ้านผาคับ อำเภอบ่อเกลือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร พื้นที่โอบล้อมไปด้วยป่าไม้สีเขียว มีลำน้ำมาง ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำน่าน ไหลผ่านด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำและป่า ซึ่งเหมาะกับการทำเกษตร ปัจจุบัน มี 39 ครัวเรือน ประชากรรวม 158 คน มีการทำเกษตรเพื่อยังชีพ รับจ้างทั่วไปและหาของป่า

ในปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กำหนดให้หมู่บ้านผาคับเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่มุ่งมั่นปฏิบัติงานเพื่อสนองพระราชดำริของพระองค์ท่าน และมุ่งนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยมีศูนย์ภูฟ้าพัฒนาเป็นหน่วยงานหลักที่ประสานการดำเนินงาน มีพันธมิตรจากองค์กรและสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ร่วมปฏิบัติงานและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลีคุณภาพดี เทคโนโลยีการเลี้ยงไก่บนพื้นที่สูง เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ เป็นต้น



ข้าวหอมนิล

หมู่บ้านข้าวหอมนิล ตำบลไผ่จำศีล อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง



หมู่บ้านข้าวหอมนิล ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำน้อยไหลผ่านและมีคลองชลประทานที่ลำเลียงน้ำสู่พื้นที่การเกษตร ประชากรมีจำนวน 3,674 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ค้าขายและรับจ้างทั่วไป หมู่บ้านข้าวหอมนิลมีความเหมาะสมในการที่จะเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้านที่เข้มแข็ง ดังจะเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กลุ่มพัฒนาอาชีพวีรไทย ดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตเยื่อและกระดาษ การผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษชนิดต่างๆ จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร วัชพืชและเศษกระดาษ

กลุ่มแม่บ้านบ้านมะขาม ดำเนินกิจกรรมด้านการแปรรูปอาหารโดยเน้นการผลิตน้ำพริกชนิดต่างๆ

กลุ่มสตรีทำขนมไทย ดำเนินกิจกรรมด้านการผลิตขนมไทยชนิดต่างๆ

กลุ่มแม่บ้านผลิตอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ปลา น้ำนมแพะ เป็นต้น

กลุ่มโรงสีข้าวชุมชนวัดขุมทอง ดำเนินการบริการสีข้าวให้กับประชาชนในชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนในตำบลไผ่จำศีลและบริเวณใกล้เคียง ปลูกข้าวหอมนิลและข้าวพันธุ์อื่นๆ เพื่อสีเป็นข้าวกล้องบริโภคและจำหน่าย

กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพวัดขุมทอง ดำเนินการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ดใช้ในนาข้าวและพืชสวนต่างๆ ให้กับสมาชิกในกลุ่มและจัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป เป็นต้น

จากศักยภาพความพร้อมและความเข้มแข็งหมู่บ้านข้าวหอมนิล ตำบลไผ่จำศีล กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงได้กำหนดเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาของชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน และหน่วยงานในท้องถิ่นเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์แล้วสามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและชุมชนให้เป็นสังคมที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทร. (02) 354-4466 ต่อ 118, 120 โทรสาร (02) 354-3763 http://www.most.go.th e-mail : pr@most.go.th

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สกลนคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 473
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM