เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล กล้วยไม้แสนสวย และทนายนักเลี้ยง ที่เมืองขุนแผน
   
ปัญหา :
 
 
กล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี เป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับกล้วยไม้ทั่วไป โดยกล้วยไม้ทั่วๆ ไป มีกลีบดอกจำนวน 6 กลีบ แต่กล้วยไม้สกุลรองเท้านารีมีกลีบดอกแค่ 5 กลีบ และกลีบนอกคู่ล่างติดกันเป็นกลีบเดียว มีลักษณะคล้ายหัวรองเท้าของผู้หญิง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เลดี้ สลิปเปอร์ (Lady"s Slipper) ทำให้มองดูเหมือนรองเท้านารีมีแค่ 4 กลีบ บ้างก็คิดว่ารองเท้านารีเป็นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดหนึ่ง

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี พบในประเทศไทย 18 ชนิด กระจายอยู่ทั่วทุกภาค และมักจะตั้งชื่อกล้วยไม้ตามสีของดอกและสถานที่พบ เช่น รองเท้านารีดอกสีขาว พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411 ที่จังหวัดสตูล จึงเรียกว่า ขาวสตูล (Paphiopedilum nivium) และพบรองเท้านารีดอกสีเหลือง ครั้งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี จึงเรียกว่า เหลืองปราจีน (Paphiopedilum concolor) เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลนี้เป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงมีราคาต่อต้นสูง และมีราคาค่อนข้างแพงกว่ากล้วยไม้สกุลอื่น อาจเป็นเพราะดอกมีความแปลกแตกต่างกว่ากล้วยไม้สกุลอื่น หรือใช้สถานที่ในการปลูกเลี้ยงน้อย ไม่จำเป็นต้องใช้ราวแขวน โดยจะจัดวางกระถางให้สูงกว่าพื้นเล็กน้อยก็เพียงพอ



ลักษณะของต้นและใบ

ใบ ของรองเท้านารีขาวสตูล ด้านบนจะเป็นลาย ส่วนด้านล่างจะเป็นสีม่วงอ่อนแก่ต่างกัน ใบเป็นรูปขอบขนาน ค่อนข้างหนา ยาวแค่ประมาณคืบเดียว แต่ก้านช่อดอกจะมีความยาวตั้งแต่ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งมีความเด่นของก้านช่อ สีของดอกจะเป็นพื้นขาว มีจุดกระหรือเส้นบางๆ ที่โคนกลีบ จุดกระยิ่งน้อยเท่าใด จะยิ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะจะดูดอกเป็นสีขาวสะอาดตา ถ้าดอกของรองเท้านารีขาวสตูลไม่มีจุดกระเลย มีเฉพาะสีพื้นขาว จะถือว่าเป็น รองเท้านารีเผือก ซึ่งค่อนข้างหายาก จำนวนดอกในช่อปกติจะมีแค่ 1-2 ดอก ถ้าช่อที่มีดอกได้ 3 ดอก จะถือว่าพิเศษกว่าต้นอื่น ระยะเวลาในการบานของดอก ประมาณ 30 วัน ยกเว้นถ้ามีน้ำขังอยู่ในกระเป๋า จะทำให้ดอกช้ำและหลุดร่วงไปก่อนเวลาอันควร บางต้นของรองเท้านารีชนิดนี้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่มีจำนวนน้อยมาก



ถิ่นอาศัยที่อยู่ในธรรมชาติ

ถิ่นอาศัยในธรรมชาติของรองเท้านารีชนิดนี้ มักจะพบตามป่าดิบเขา หรือบริเวณที่เป็นเขาหินปูนเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ รวมถึงชายฝั่งทะเล และบนเกาะแก่งต่างๆ รองเท้านารีขาวสตูลที่พบในจังหวัดสตูลมีต้นและดอกขนาดเล็ก ฟอร์มดอกค่อนข้างกลม แต่รองเท้านารีที่พบในจังหวัดกระบี่ และรอยต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดตรัง ดอกและต้นค่อนข้างโตกว่า ฟอร์มดอกที่พบเห็นจะผึ่งผายกว่าที่พบเห็นในที่อื่นๆ นอกจากนี้ ในจังหวัดกระบี่เราจะพบเห็นลูกผสมของรองเท้านารีขาวสตูลกับรองเท้านารีเหลืองพังงาหรือเหลืองตรังที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ทั้งบนเกาะและบริเวณชายฝั่ง ลักษณะดอกรองเท้านารีลูกผสมนี้มีความหลากหลายมาก

โดยธรรมชาติของกล้วยไม้ชนิดนี้ จะอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือใต้ชะง่อนหิน ทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่โดนใบของรองเท้านารีโดยตรง ซึ่งจะทำให้ใบช้ำได้ง่าย ทั้งนี้ จะรวมถึงแสงที่ส่องลงมาก็จะผ่านการกรอง ทำให้รองเท้านารีขาวสตูลได้รับแสงไม่มากจนเกินไป ซึ่งเรามักจะนำสิ่งที่เป็นสภาพแวดล้อมในธรรมชาติของถิ่นอาศัยมาปรับใช้ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้แต่ละชนิด

การปลูกเลี้ยงและสภาพโรงเรือน

การปลูกเลี้ยงในปัจจุบันสำหรับนักเล่นกล้วยไม้ จะนิยมปลูกเลี้ยงต้นที่ได้จากการขยายพันธุ์ในห้องแล็บจากฝักใส่ลงในขวดแก้ว ซึ่งเรียกกล้วยไม้ที่ขยายพันธุ์แบบนี้ติดปากว่า ไม้ขวด และเรียกต้นว่า ลูกไม้ กล้วยไม้ที่ได้จากการขยายพันธุ์แบบนี้เป็นกล้วยไม้ที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์ที่มีความโดดเด่นและงามมากกว่าต้นที่พบในธรรมชาติ หรือจะเป็นการผสมข้ามชนิดก็มี ความแปลกใหม่หลากหลายรูปแบบ จึงทำให้กล้วยไม้ที่นำมาจากป่าไม่เป็นที่นิยมสำหรับนักเล่นกล้วยไม้ สำหรับผู้หัดเลี้ยงมือใหม่จะไม่ค่อยซื้อไม้ขวดมาปลูกเลี้ยง เนื่องจากต้นมีขนาดเล็ก และเข้าใจว่าปลูกเลี้ยงยาก แต่ที่จริงแล้วการปลูกให้ถูกวิธีทำให้โอกาสรอดของกล้วยไม้รองเท้านารีจากขวดมีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว โรงเรือนที่ปลูกเลี้ยงรองเท้านารีมักจะทำเป็นหลังคา ซึ่งโปร่งแสง แต่สามารถกันฝนได้ และต้องการพรางแสงให้ด้วยซาแรน 60-80 เปอร์เซ็นต์ ควรพิจารณาให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เลี้ยง การเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีแทบทุกชนิด จะต้องมีความเอาใจใส่มากกว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น หากไม่มีเวลาดูแล ไม่แนะนำให้เลี้ยงกล้วยไม้สกุลนี้



วัสดุปลูกต้องโปร่ง

และเก็บความชื้นได้ดี


วัสดุที่ใช้ปลูกต้นที่แยกหน่อมาและมีขนาดโตเต็มที่แล้ว จะใช้โฟมหักขนาดหัวแม่มือรองก้นกระถาง ประมาณ 1 ใน 3 วางต้นลงแล้วจึงใช้ใบไม้ที่ย่อยสลายแล้วผสมกับดินพร้อมปลูกทับรากอีก 1 ส่วน ส่วนที่เหลือด้านบนให้เอาถ่านหรือหินภูเขาไฟโรยทับหน้าไว้ กันไม่ให้ดินกระเด็นออกจากกระถางในขณะที่รดน้ำ โรยปุ๋ยละลายช้าทุก 3 เดือน ใช้ยากันราหรือน้ำปูนใส ฮอร์โมนเร่งราก ยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรไล่แมลงฉีด 7-14 วันครั้ง ในกรณีที่เลี้ยงจำนวนไม่มาก

สภาพความเป็นอยู่ของรองเท้านารีขาวสตูลในธรรมชาติค่อนข้างชื้นกว่ารองเท้านารีชนิดอื่น แต่ไม่ใช่สภาพเครื่องปลูกแฉะเพราะจะเกิดการเน่าที่โคนต้นหรือราก ตอนรดน้ำจะสังเกตเห็นว่าน้ำไหลผ่านออกทางก้นกระถางทันที จึงถือว่าวัสดุปลูกในกระถางโปร่ง โอกาสที่จะเกิดการเน่าค่อนข้างน้อย แต่ทั้งนี้ให้ดูสภาพแวดล้อมอื่นประกอบด้วยในการเลี้ยง เช่น แสงสว่าง กระแสลม ความชื้นในโรงเรือน เป็นต้น อย่ามุ่งในปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะต้องอาศัยปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบร่วมกัน จึงจะสามารถปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ให้ประสบความสำเร็จได้

พันธุ์แท้รองเท้านารีขาวสตูลที่พัฒนาแล้ว



มีความสวยงามกว่ามาจากป่า

ปัจจุบัน รองเท้านารีขาวสตูล มีการคัดสายพันธุ์ที่มีความสวยงามแล้วทำเป็นไม้ขวดจำหน่ายมากมาย ยิ่งไม้ขวดที่ได้ทำจากพ่อแม่ที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมแล้วด้วย ลูกไม้ที่ได้มาค่อนข้างจะสวย แต่ขอออกตัวก่อนว่า ลูกกล้วยไม้ที่ได้จากการติดฝัก ต้นที่ได้แต่ละต้นจะมีความสวยงามไม่เหมือนกัน เราอาจจะได้ต้นที่ไม่สวยเลยก็ได้ แต่ถ้าไม่มีความผิดพลาดทางเทคนิค ดอกที่ได้มักจะสวยมากกว่าไม่สวย สนนราคากล้วยไม้ขวดรองเท้านารีขาวสตูลจะอยู่ประมาณ 300-3,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสวยของพ่อแม่กล้วยไม้ที่นำมาผสม



รองเท้านารีขาวสตูล

รางวัลเกียรตินิยม


คุณอรรณพ มากสอน หรือ ทนายอั้น ทนายความหนุ่ม จากอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าของรองเท้านารีขาวสตูลต้นสวย รางวัลเกียรตินิยม เอ.เอ็ม. ของสมาคมพฤษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์ ชื่อ ไหมแก้ว ในปี 2551 และ ชื่อ พิมพิลาส ในปี 2552 ซึ่งเป็นรองเท้านารีขาวสตูลที่มีความสวยงามมาก ทนายอั้น เริ่มเลี้ยงกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีจนถึงปัจจุปัน เป็นเวลา 11 ปีแล้ว โดยตอนแรกปลูกเลี้ยงรองเท้านารีแทบทุกสกุล แต่มาติดใจรองเท้านารีขาวสตูล ทนายอั้นให้เหตุผลว่า ขาวสตูลเป็นรองเท้านารีที่มีก้านยาวเด่นสง่า ดอกเป็นฟอร์มกลม สีขาวบริสุทธิ์ดูสะอาดและสบายตา เป็นสาเหตุที่ทนายอั้นหลงรักรองเท้านารีขาวสตูล ตอนนี้ในรังกล้วยไม้จึงมีรองเท้านารีขาวสตูลเสียเป็นส่วนใหญ่ และยังเป็นชนิดที่ทนายอั้นกำลังพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น



การพัฒนารองเท้านารีขาวสตูล

ในทรรศนะของทนายอรรณพ การคัดพันธุ์ของรองเท้านารีขาวสตูลจะต้องพิจารณาหลายประการ เช่น ก้านช่อดอกจะต้องมีขนาดสูงอย่างน้อย 15 เซนติเมตร ขึ้นไป ฟอร์มดอกจะต้องมีความสวยงามสมมาตรกันซ้ายขวา ขนาดดอกต้องกว้างขนาด 5 เซนติเมตร เป็นอย่างน้อย สีของดอกต้องมีสีขาวสะอาดตา จุดประมีไม่มากนัก ส่วนต้นควรจะเป็นต้นที่เลี้ยงง่าย มีการแตกกอง่าย แข็งแรง และไม่ค่อยเป็นโรค เป็นต้น

ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นคุณสมบัติที่จะต้องมีในพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งทนายอั้นได้คัดเลือกรองเท้านารีขาวสตูลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาทำเป็นพ่อแม่พันธุ์ จึงจะทำให้ได้ลูกกล้วยไม้ที่มีความสวยงามตามที่ต้องการ

การใช้พ่อแม่พันธุ์ดังกล่าว จะซื้อพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสวยงามจากแหล่งต่างๆ นำมาคัดต้นที่มีความสวยงามตามความต้องการแล้วจึงนำมาผสมเกสร โดยจะไม่ได้นำรองเท้านารีขาวสตูลออกจากป่า เพราะนั่นหมายถึงต้องนำออกมาเป็นจำนวนมากแล้วจึงจะคัดต้นที่มีดอกสวยมา ซึ่งเป็นการทำลายธรรมชาติ การนำต้นที่มีดอกสวยแล้วมาผสมกันอีกต้นที่สวย เป็นการต่อยอดอีกขั้นหนึ่ง สามารถร่นระยะเวลาในการพัฒนาได้เร็วกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนากล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลจะต้องใช้เวลาในการติดฝัก 6 เดือน แล้วจึงนำฝักไปเพาะในห้องแล็บ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เมื่อได้ไม้ขวดแล้วนำมาเลี้ยงตั้งแต่ช่วงอนุบาลถึงออกดอก จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี เป็นอย่างเร็ว รวมระยะเวลาเกือบ 5 ปี เป็นเวลาที่นานพอสมควรสำหรับการรอคอย ในช่วงนี้ทนายอั้นจึงยังไม่มีลูกไม้รองเท้านารีขาวสตูลจำหน่าย เพราะลูกไม้ที่ได้ยังมีจำนวนน้อยอยู่ จะต้องเก็บไว้สำหรับการคัดพันธุ์ต่ออีกระยะหนึ่ง ในช่วงของปีหน้าทนายอั้นจึงจะมีลูกไม้รองเท้านารีขาวสตูลสวยๆ มาแบ่งให้ผู้สนใจได้ปลูกเลี้ยงกันบ้าง

ทนายอั้น มีความคิดในเรื่องการพัฒนากล้วยไม้รองเท้านารีว่า นอกจากนักพัฒนาจะต้องมีสายตาที่เฉียบแหลมมองคู่ผสมแต่ละคู่ให้ออกแล้ว ทำให้ได้สมกับที่คาดหวังไว้ ก็ยังมีจริยธรรมอีกข้อหนึ่งที่ควรยึดถือคือ ความซื่อสัตย์ ในการจับคู่ผสม ไม่ควรที่จะนำรองเท้านารีต่างชนิดกัน หรือต้นพ่อแม่ที่มีประวัติคลุมเครือไม่แน่ชัดมาจับคู่ผสม แล้วจำหน่ายไปในนามของพันธุ์แท้ สนใจสอบถามรายละเอียดในการปลูกเลี้ยงรองเท้านารีขาวสตูลได้ที่ โทร. (085) 235-9516



กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล



ชื่อสกุล Paphiopedilum

ชื่อชนิด niveum (Rchb.f.) Stein

ประเภท กล้วยไม้กึ่งดิน

ฤดูดอก เดือนมีนาคม-กรกฎาคม

จำนวนดอกในช่อ 1- 2 ดอก

แหล่งอาศัยในธรรมชาติ ป่าดิบเขา

แหล่งที่พบในประเทศไทย ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สตูล

สถานภาพ ในธรรมชาติมีเหลือจำนวนน้อย ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในสถานที่ปลูกเลี้ยง มีจำนวนมาก เนื่องจากมีการเพาะเมล็ดในห้องปฏิบัติการ ทำให้มีการปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

เขตการกระจายพันธุ์ มาเลเซีย
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
สุพรรณบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 473
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM