เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
มิคกี้ เม้าส์-ไม้กระถาง ที่เหมาะแก่การตกแต่งสถานที่
   
ปัญหา :
 
 
อาคารสถานที่ต่างๆ ที่มีระเบียง ห้องโถง หรือห้องประชุม ที่มีความกว้างขวาง และมีแสงสาดส่องถึงแบบรำไร สมควรที่จะต้องมีกระถางปลูกต้นไม้ประดับตามมุมต่างๆ หรือวางตั้งเป็นระยะๆ เพื่อให้เป็นจุดพักสายตา หรือเพื่อสร้างความสดชื่นมีชีวิตชีวาแก่เจ้าของสถานที่หรือแขกผู้มาเยือน สมัยเมื่อสัก 30-50 ปีก่อน เจ้าของสถานที่มักนิยมตั้งกระถางที่ใช้ต้นไม้ประดิษฐ์ตั้งประดับแทนต้นไม้จริง เพราะเป็นการประหยัดแรงงานในด้านการดูแลรักษา เนื่องจากต้นไม้ประดิษฐ์ไม่ต้องการคนรดน้ำหรือตัดแต่งกิ่ง เพียงซื้อหาครั้งเดียวก็สามารถตั้งประดับสถานที่ได้นานหลายปี อาศัยแต่เพียงคนคอยปัดฝุ่นหรือเช็ดตามใบหรือดอกบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่จุดอ่อนของต้นไม้ประดิษฐ์ก็อยู่ตรงที่ว่า ราคาค่อนข้างแพง และสิ่งที่สำคัญคือเป็นดอกไม้ไร้ชีวิตที่ขาดชีวิตชีวา ซึ่งสำหรับคนดูบางคนแล้ว ถึงกับออกปากว่า "ดูแล้วรู้สึกหดหู่ใจมาก" เลยทีเดียว

แต่มาถึงสมัยนี้ ความนิยมในกระถางต้นไม้ประดิษฐ์ลดลงไป ประกอบกับสามารถหาต้นไม้กระถางที่เหมาะสมและหาได้ง่าย มีความสวยงามได้มากขึ้น คนจึงนิยมที่จะใช้ต้นไม้จริงขนาดย่อมๆ มาใส่กระถาง เพื่อตั้งประดับอาคาร สถานที่ และห้องประชุมแทนต้นไม้เทียมที่ไร้ชีวิตชีวา

ตัวผู้เขียนเองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือสถานที่ทำงาน ก็ชอบที่จะตั้งกระถางต้นไม้จริงอยู่เสมอ ไม่เป็นไม้ดอกก็เป็นไม้ใบที่มีขนาดต้นย่อมๆ ดูแลรักษาง่าย ไม่เป็นไม้ที่ทิ้งใบ รวมทั้งเป็นไม้ที่ไม่ต้องเสียเวลาดูแลรักษามากนัก นานๆ จึงจะมีการตัดแต่งกิ่งเสียทีหนึ่ง การให้น้ำเพียง 2-3 วัน ต่อครั้ง เป็นต้น

สมัยที่ยังรับราชการอยู่ ผู้เขียนเคยนำเอาเมล็ดพิกุลมาเพาะ ชำจนเติบโตในกระถางได้ ส่วนสูงราว 1-2 เมตร ก็จะยกกระถางไปตั้งในบริเวณหน้าอาคารของสำนักงาน หรือบางแห่งถึงกับนำไปตั้งในห้องทำงานบริเวณใกล้ๆ หน้าต่างที่มีแสงแดดส่องถึง ทำให้บรรยากาศมีความร่มเย็นขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้แก่สถานที่อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนมีความประทับใจในต้นและดอกพิกุลตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยเคยไปเก็บพิกุลกลางลานวัดมาร้อยเป็นพวงถวายพระ ได้พวงดอกไม้ที่หอมกรุ่นชื่นใจ แต่เนื่องจากผู้ใหญ่ท่านห้ามปลูกพิกุลไว้ในบริเวณบ้าน จึงใช้วิธี "เลี่ยงบาลี" ยักย้ายไปปลูกในสถานที่ราชการแทน คิดว่าคงจะช่วยลดความไม่เป็นมงคล (ข้อห้ามของโบราณ) ลงไปได้ ซึ่งก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด มีคนหลายคนไปเห็นเข้าก็ชอบใจหลายราย ถือเป็นวิธีการอนุรักษ์ไม้ไทยที่ดีได้อีกวิธีหนึ่ง

มาในระยะหลังๆ นี้ ผู้เขียนไปได้เมล็ดของต้นไม้จากต่างประเทศชนิดหนึ่งเข้า เมื่อนำมาเพาะก็งอกได้ง่าย เจริญเติบโตดี พุ่มสวย ไม่ทิ้งใบ ดูแลง่าย ปลูกไม่นานก็ออกดอกสวยงาม มีทั้งดอกสีแดง (ดอกตัวเมีย) และดอกสีเหลือง (ดอกตัวผู้) ให้ได้ชมตลอดปี ต้นไม้ที่ว่านี้ มีชื่อสามัญว่า "มิคกี้ เม้าส์" (Micky Mouse), มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ochna kirkii Oliv. สกุล Ochna วงศ์ OCHNACEAE ซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวทวีอเมริกา ไม่ทราบว่าเดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เมื่อไร แต่แถวสุพรรณบุรี ผู้เขียนเห็นต้นไม้ชนิดนี้ครั้งแรกเมื่อราวๆ 25 ปีก่อน แต่สมัยนั้นหาเมล็ดพันธุ์ได้ค่อนข้างยาก ต่างกับสมัยนี้ที่เห็นอยู่ทั่วไปและหาเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย

เหตุที่มีการตั้งชื่อไม้ประดับชนิดนี้ว่า "ต้นมิคกี้ เม้าส์" นั้น ก็เนื่องจากเมื่อต้นไม้มีเมล็ด เมล็ดที่แก่เต็มที่จะมีลักษณะกลมรีและมีสีดำ คล้ายกันกับลักษณะของจมูกของ "มิคกี้ เม้าส์" การ์ตูนตัวเก่งของ "วอลต์ ดิสนีย์" ราชาการ์ตูนของโลกนั่นเอง

ต้นมิคกี้ เม้าส์ นั้น มีลักษณะเป็นพุ่มคล้ายๆ พุ่มพิกุลนั่นเอง หากตกแต่ง ตัดกิ่งอย่างสม่ำเสมอก็จะสวยงาม ไม่เกะกะเก้งก้าง ใบมีลักษณะเรียวแหลม ขนาดเล็ก สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกตัวเมีย (สีแดง) จะมีกลีบ 4-5 กลีบ เกิดเมล็ดตั้งแต่ 1-5 เมล็ด เมล็ดแก่เร็ว (เพียง 1 สัปดาห์ เมล็ดที่มีสีเขียวก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำและร่วงลงสู่พื้นดิน) ดังนั้น การขยายพันธุ์จึงทำได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อได้ดินดี น้ำดี ไม่ช้าก็จะแตกพุ่มให้ชื่นชมได้ หากมีกิ่งยื่นออกนอกทรงพุ่มก็ควรตัดแต่งให้บ้าง เพียงแค่นี้เราก็จะได้ไม้กระถางไว้ตั้งประดับสถานที่แล้ว สำนักงานหรือสถาบันใดมีพื้นที่กว้างขวาง ก็ให้จัดหากระถางขนาดเขื่องมาตามจำนวนที่ต้องการ หาวัสดุปลูกให้พอเพียง หาเมล็ดพันธุ์ของต้นมิคกี้ เม้าส์ ให้ได้จำนวนหนึ่ง มอบภาระการปลูก การดูแลรักษาให้แก่คนงานที่รับผิดชอบด้านสถานที่ให้เรียบร้อย เพียงไม่กี่เดือนก็จะมีกระถางไม้ประดับไว้ตั้งอวดแขกแล้ว โดยควรจะมีกระถางสำรองเพื่อใช้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันในกรณีที่มีกระถางใดต้นไม้เกิดโทรมลงไป วิธีนี้จะช่วยประหยัดเงินงบประมาณด้านต้นไม้ไปได้มาก

เนื่องจากมิคกี้ เม้าส์ เป็นพันธุ์ไม้ต่างด้าวที่เพิ่งจะเข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นาน แม้แต่ชื่อไทยๆ ก็ยังไม่มีจะใช้เรียก ดังนั้น เราจึงยังไม่ทราบข้อมูลว่าจะมีส่วนใดใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคใดได้บ้าง แต่ที่แน่ๆ ต้นไม้ชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับต้นไม้สมุนไพรของไทยที่ชื่อว่า กำลังช้างสาร (ตานเหลือง, ช้างน้าว หรือ ตานนกกด) หากมีการทดลองหาสารสำคัญโดยละเอียดก็เข้าใจว่าน่าจะพบสารที่ใช้เป็นสมุนไพรได้ ขอฝากให้เป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ไทยด้วยก็แล้วกันครับ

กำลังช้างสาร หรือตานเหลือง เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น ชนิด Ochna integerrima (Lour.) Merr. ในวงศ์ Ochnaceae พบในป่าเบญจพรรณแล้ง เปลือกสีน้ำตาลแก่ ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อสั้น ดอกบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลิ่นหอมอ่อน และผลัดใบขณะมีดอก (บางตำราว่าเป็นพืชชนิด Ochna wallichii Planch. วงศ์ Ochnaceae)

กำลังช้างสาร (เนื้อไม้) มีสรรพคุณ แก้ไข้ แก้ร้อนใน แก้วปวดเมื่อยเส้นเอ็น มักจะเข้าในตำรับยาดองประเภทบำรุงกำลังและบำรุงพลังทางเพศ และเป็นสมุนไพรที่มีรสสุขุม

ไม้ในวงศ์เดียวกันแต่ต่างชนิดกับที่เอ่ยชื่อมาแล้วข้างต้น ยังมีอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อไทยว่า ช้างน้าว และชื่ออื่นๆ อีก คือ หางกวางผู้ (อุบลราชธานี), กาปิโต (ตราด), ท้องปลิง (ภาคใต้), ช้างโน้ม (ปราจีนบุรี) และยูลง (มลายู-นราธิวาส) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gomphia serata (Gaerth.) Kanis ดอกและเมล็ดคล้ายกับ มิคกี้ เม้าส์ มาก ผิดแต่เพียงก้านดอก เนื่องจากช้างน้าวชนิดหลังนี้มีก้านดอกยาว ในขณะที่ดอกของ มิคกี้ เม้าส์ ไม่มีก้านดอก ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้มีระบุสรรพคุณทางยาไว้ว่า ทั้งต้น เข้าตำรับยารักษาโรคเบาหวาน ราก นำมาต้มน้ำดื่มแก้ผิดสำแดง (อ้างโดย พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคอีสาน/2549)

ก็ขอแนะนำให้ท่านที่รักต้นไม้ได้รู้จักกับต้นไม้ต่างด้าว ที่ชื่อว่า "มิคกี้ เม้าส์" และประโยชน์ในด้านเป็นไม้ประดับไว้แต่เพียงแค่นี้ ส่วนข้อมูลประโยชน์ในด้านอื่นๆ คงจะมีตามมาเรื่อยๆ ในอนาคต

เรื่องราวของ "มิคกี้ เม้าส์" ต้นไม้ดอกสวย จากอเมริกาก็ขอจบลงแต่เพียงแค่นี้
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 473
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM