เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สตรอเบอรี่ปลอดสาร เกษตรกรฝางยิ้ม กำไรอื้อ
   
ปัญหา :
 
 
แต่ก่อนเป็นคนที่ชอบสตรอเบอรี่คนหนึ่ง ครั้นพอได้ยินใครต่อใครพูดว่า อย่าไปกินเยอะ เพราะมีแต่ยา เลยตัดสินใจกินน้อยลง และถ้าไม่เกิดความอยากจริงๆ ก็จะไม่แตะ แต่พอไปทำข่าวโครงการหลวง ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมเกษตรกรในลุ่มแม่น้ำงอนปลูกสตรอเบอรี่ โดยในปีนี้ทางเทสโก้ โลตัส รับซื้อมาขาย เพื่อให้ผลผลิตสดออกสู่ตลาดทั่วประเทศ ทำให้ได้รู้ว่ามีเกษตรกรหลายรายหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งนอกจากจะปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและตัวเกษตรกรเองแล้ว ยังส่งผลในการลดต้นทุนการผลิตด้วย เรียกว่าดีกับทุกๆ ฝ่าย

วันนั้นทางโครงการหลวงชวนไปดูไร่สตรอเบอรี่ของ คุณสมศักดิ์ สิทธิกัน ที่บ้านห้วยห้อม ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง ในเนื้อที่ 20 ไร่ แต่แบ่งมาปลูกสตรอเบอรี่เพียง 1 ไร่ นอกนั้นปลูกมะม่วง และในอนาคตจะปลูกลิ้นจี่อีกด้วย

เดิมคุณสมศักดิ์ปลูกสวนส้มทั้งหมด แต่ก็ต้องล้มทิ้ง เพราะประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งก็เหมือนกับเกษตรกรจำนวนนับไม่ถ้วนในอำเภอฝางที่นิยมปลูกส้มสายน้ำผึ้ง เพราะช่วงนั้นประมาณ ปี 2546 ส้มสายน้ำผึ้งได้ราคาดี มีกำไรนับล้านบาท แต่ต่อมาเจอโรคแมลง กำไรก้อนโตที่เคยได้หดหาย กระทั่งไม่คุ้มทุน จนต้องล้มสวนส้มกันเป็นแถว

สาเหตุที่คุณสมศักดิ์เปลี่ยนมาเป็นมะม่วง เพราะเห็นว่าต้นทุนต่ำ และไม่ต้องดูแลมาก ขณะที่เกษตรกรหลายรายหันไปปลูกลิ้นจี่แทน

จุดเด่นไร่สตรอเบอรี่ของสมศักดิ์ก็คือ เป็นแปลงที่ปลอดสารพิษจริงๆ ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภาพ ไม่ใช้สารเคมีใดๆ

ถามคุณสมศักดิ์ว่า ทำไม ปลูกแค่ไร่เดียว เขาตอบอย่างตรงไปตรงมา เคยได้ยินคนพูดว่าสตรอเบอรี่ปลูกยาก ปีนี้อยากจะลองดู โดยทำเป็นแปลงตัวอย่างปลอดสารพิษจริงๆ ไม่มีปุ๋ยเคมีเลย ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์สำเร็จรูป ซึ่งพรรคพวกใช้กันอยู่ จึงนำมาใส่บ้างก็ให้ผลผลิตดี ใช้สะดวกเป็นแบบฉีดพ่นภายใน 7 วัน

สตรอเบอรี่นั้น เป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเร็ว ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ไร่ของคุณสมศักดิ์เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นพันธุ์ 329

ช่วงเดือนมกราคมก็เริ่มมีลูกเก็บได้เรื่อยๆ วันหนึ่งเก็บได้ 1-2 กิโลกรัม โดยจะมีพ่อค้ามารับไปขายนักท่องเที่ยวอีกต่อหนึ่ง เพราะบ้านห้วยห้อม เป็นเส้นทางผ่านไปยังดอยอ่างขาง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของเชียงใหม่

ทั้งนี้ ในช่วงต้นฤดูประมาณเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ราคาขายต่อกิโลกรัมจะดีมาก ตกประมาณ 80 บาท ในส่วนพ่อค้าแม่ค้าจะขายให้ผู้บริโภคถึงกิโลกรัมละ100-200 กว่าบาทก็มี ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมสตรอเบอรี่จะออกมากที่สุด วันหนึ่งๆ สามารถเก็บได้ 100 กิโลกรัมขึ้นไป แต่ราคาจะถูกลง

สำหรับการลงทุนนั้น คุณสมศักดิ์ บอกว่า ต่อไร่ประมาณ 40,000 บาท จะขายได้ประมาณ 100,000 กว่าบาท

จากการสอบถามตัวเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ พบว่า ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำงอนนั้นมีเกษตรกรจำนวนมากที่หันมาปลูกสตรอเบอรี่กันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ยังใช้สารเคมีกันอยู่ เพราะชาวบ้านเคยชินกับการปลูกแบบเก่า และเห็นว่าจะทำให้พืชเจริญเติบโตเร็ว

ในขณะที่ คุณสมศักดิ์ มองว่า การใช้ปุ๋ยเคมีก็มีผลเสียหลายอย่าง อาทิ ถ้าดินเป็นกรด หรือเดินเสีย ทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี เพราะรากพืชจะดูดกินอาหารไม่ได้

อย่างที่คุณสมศักดิ์บอก ปีนี้คาดว่าจะขายสตรอเบอรี่ได้ประมาณ 100,000 กว่าบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ดีทีเดียวถ้าเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ดังนั้น ในปีหน้าคุณสมศักดิ์ตั้งใจว่าจะปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ไร่ เพราะมีประสบการณ์แล้วว่า การใช้ปุ๋ยชีวภาพสามารถควบคุมโรคพืชได้แน่นอน เพราะไม่มีแมลงสักตัว

ถ้าใครไปเห็นแปลงปลูกสตรอเบอรี่อาจจะมองไม่ออกว่า พืชตัวนี้ปลูกยากอย่างไร ในฐานะเกษตรกรตัวจริงเสียงจริง คุณสมศักดิ์แจกแจงให้ฟังว่า เริ่มตั้งแต่ยกแปลงเริ่มปลูก จะต้องใช้คนงานช่วย แต่หลังจากปลูกเสร็จตนและคนในครอบครัวทำเองหมดทุกอย่าง โดยใช้ระบบน้ำหยดเปิดตอนเช้า-เย็น ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง นอกจากนั้น ก็ต้องถางแปลงอย่าให้หญ้าขึ้น และต้องเอาใจใส่ดูแลแมลงต่างๆ

คุณสมศักดิ์ แจกแจงอีกว่า สตรอเบอรี่ปลอดสารพิษนั้นรสชาติจะดีกว่าที่ใช้สารเคมี จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรได้แสวงหาสิ่งที่ดีๆ เพื่อจะมาช่วยเรื่องเพิ่มผลผลิต พร้อมๆ กับการลดต้นทุน

ถ้าใครไปแถวดอยอ่างขางอยากชมไร่สตรอเบอรี่ปลอดสารพิษของคุณสมศักดิ์ ก็ โทร.ไปสอบถามเส้นทางได้ ที่ โทร. (080) 031-1513

ฟังเกษตรกรพูดกันไปแล้ว ลองมาดูในมุมมองของนักวิชาการบ้าง คุณราชันย์ จันทรากาศ เกษตรอำเภอฝาง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่อำเภอฝางส่วนใหญ่เหมาะสมปลูกพืชเศรษฐกิจแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นส้ม ลิ้นจี่ ลำไย หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง เนื่องจากอากาศดี อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 18 องศา พืชผลไม้ที่ปลูกมากๆ ได้แก่ ส้ม แต่ว่าส้มเป็นพืชที่ลงทุนสูง ต้องใช้สารเคมีตลอดเวลา เกษตรกรที่ไม่มีทุนมักจะผลิตไม่ได้มาตรฐาน จึงล้มสวนส้มกันเป็นจำนวนมาก หันไปปลูกพืชอื่นที่มีตลาดดีกว่า เช่น สตรอเบอรี่ และลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ อย่างไรก็ตาม คุณราชันย์ มองว่า ถ้าเกษตรกรไม่ปลูกส้มกันเพิ่มขึ้นและระดับมาตรฐานยังอยู่แบบนี้ ราคาส้มจะดีไปอีก 6 ปี เป็นอย่างน้อย ซึ่งตอนนี้เฉลี่ยขายกิโลกรัมละประมาณ 15 บาท ต้นทุนการผลิตจะตกอยู่ 11 บาท

เกษตรอำเภอฝางบอกว่า การปลูกส้มจริงๆ แล้ว หากส้มที่มีอายุ 15 ปี มักจะต้านทานโรคไม่อยู่ แต่ถ้าล้มและปลูกใหม่แล้วปรับปรุงดินให้ดีขึ้น จะทำให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้

สาเหตุที่เกษตรกรหันมาปลูกสตรอเบอรี่นั้น เหตุผลหลักคือ ใช้เวลาสั้นแค่ 6 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว ลงทุนต่อไร่ประมาณ 40,000-47,000 บาท ได้กำไรไม่ต่ำกว่าไร่ละ 100,000 บาท

สำหรับปัญหาหนักของสตรอเบอรี่นั้น คุณราชันย์ อธิบายว่า หากเกษตรกรไม่มีความรู้ในเรื่องการจัดการกับศัตรูพืช เช่น แมลงหรือโรคต่างๆ ไปทำตามคำแนะนำ หรือเชื่อตามโฆษณาของยาต่างๆ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง สองเป็นการเพิ่มเติมให้โรคดื้อยา เห็นได้จากหลายๆ พื้นที่ เกษตรกรปลูกสตรอเบอรี่แล้วล้มเลิกไป คือเมื่อปลูกได้ระยะหนึ่งโรคและแมลงจะมีความต้านทานต่อยามากขึ้น

ทั้งนี้ พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำงอนในโครงการพระราชดำรินี้ ได้นำปัญหาจากพื้นที่อื่นแล้วมาแก้ไข เช่น สอนให้เกษตรกรผลิตเชื้อจุลินทรีย์เอง คือเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ไม่ว่าจะเป็นเชื้อราใดเพื่อแก้ปัญหาโรคโคนเน่า รากเน่า

อีกอันหนึ่ง คือ บิวเวอร์เรีย เชื้อราตัวนี้ป้องกันและกำจัดพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอน ส่วนสมุนไพรอื่น อย่างสะเดา ตะไคร้หอม ใช้ไล่แมลงได้ผลดีมาก

คุณราชันย์ แจงว่า ปีที่ผ่านมาเกษตรกรในอำเภอฝางนิยมปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์ 329 ที่มีลักษณะเรียวๆ ยาวๆ มาในปีนี้ได้ส่งเสริมให้ปลูกอีกพันธุ์ คือ เบอร์ 80 ที่ลักษณะคล้ายหัวใจ สวยกว่า หวานกว่า แต่กลิ่นหอมสู้ 329 ไม่ได้ ทั้งนี้ พันธุ์ 329 โดยธรรมชาติจะหอม รสชาติจะหวาน อมเปรี้ยว กลิ่นหอม

เกษตรอำเภอฝางแนะนำว่า โดยปกติ สตรอเบอรี่ 1 ไร่ จะใช้คนดูแลประมาณ 3 คน การปลูกสตรอเบอรี่จะต้องดูแลรักษามากทุกวัน ไม่ใช่วันเว้นวัน โดยเฉพาะเรื่องโรค เรื่องแมลง จะต้องใช้มือบี้ให้ตาย ถ้าปล่อยไม่ดูแล สัก 3-4 วัน จะเอาไม่อยู่ แล้วหากเกษตรกรดูแลทุกวัน แทบไม่จำเป็นจะต้องใช้สารเคมีเลย

นี่ถ้าเกษตรกรที่ปลูกสตรอเบอรี่ได้ยินได้ฟังแบบนี้ พร้อมกับเห็นตัวอย่างของผลสำเร็จในการเลิกใช้สารเคมี อันจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง เชื่อว่าอีกหน่อยเกษตรกรทั้งหลายคงหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนแน่นอน เพราะไม่มีใครอยากเสียเงิน พร้อมๆ กับเสียสุขภาพแน่

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
เชียงใหม่
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 473
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM