เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
พุทรายักษ์ซุปเปอร์จัมโบ้ ทำเงินแสน ที่พะเยา
   
ปัญหา :
 
 
มีเกษตรกรไทย ได้นำเอาพุทรายักษ์สายพันธุ์ใหม่จากประเทศพม่ามาทดลองปลูกในไทยได้ผลผลิตมีขนาดผลใหญ่มาก มีรูปทรงคล้ายกับผลแอปเปิ้ล รสชาติหวาน กรอบ และมีน้ำหนักผลเฉลี่ย 5-7 ผล ต่อกิโลกรัม นับเป็นพุทราที่มีขนาดผลใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการปลูกพุทราในประเทศไทย หลังจากนั้น ได้มีการเผยแพร่พุทราสายพันธุ์นี้ออกไปปลูกในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ผลตอบรับกลับมาว่าดีจริง สร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุกรายไป

ในขณะเดียวกัน ยังมีพุทรายักษ์อีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีการนำสายพันธุ์มาจากไต้หวัน มาทดลองปลูกในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า "พุทรานมสด" ซึ่งที่จริงแล้วคือ พันธุ์ "ซื่อหมี่" เป็นพุทราที่มีทรงผลใหญ่ทรงกระบอก มีน้ำหนักผลเฉลี่ยใกล้เคียงกับพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ จากการสอบถามผู้ปลูกพุทราหลายคนพบว่า เมื่อนำพุทรานมสดมาปลูกในเขตที่มีอากาศร้อน เช่น พื้นที่บริเวณภาคกลาง หรือภาคเหนือตอนล่าง จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่ปลูกในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในขณะที่พันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ปลูกได้คุณภาพดีในเกือบทุกพื้นที่ ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือหนาวก็ตาม

ปัจจุบัน พุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ และพุทรานมสดได้เข้ามาแทนที่ตลาดพุทราสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกอยู่ในบ้านเรา แต่เกษตรกรจะต้องผลิตพุทราทั้งสองสายพันธุ์นี้ให้แก่และเก็บผลผลิตได้ในช่วงตลอดฤดูหนาว คือระหว่างเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี จะได้พุทราที่มีรสชาติยอดเยี่ยม ความจริงแล้วพุทราซุปเปอร์จัมโบ้เป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลดกมาก สามารถกำหนดการออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าผลิตให้ออกตลาดในช่วงฤดูฝนมักจะพบว่ารสชาติจืดและไม่อร่อยถึงแม้ว่าจะมีขนาดผลที่ใหญ่มากก็ตาม หลายคนไม่เชื่อว่าพุทราซุปเปอร์จัมโบ้ปลูกไปได้เพียงครึ่งปีจะเริ่มให้ผลผลิตในเชิงการค้าได้แล้ว ทำให้เป็นไม้ผลที่คืนทุนเร็วที่สุดชนิดหนึ่ง

มีคำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่จะปลูกพุทรายักษ์ซุปเปอร์จัมโบ้ว่า ควรจะเตรียมต้นพันธุ์และเริ่มปลูกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน

พื้นที่ปลูกจะต้องมีแหล่งน้ำที่ดี ถ้าเป็นไปได้ติดระบบน้ำสปริงเกลอร์ ต้นละ 1 หัว ปลูกไปได้เพียง 3-4 เดือน ต้นจะเริ่มออกดอกติดผล จะเก็บผลผลิตรุ่นแรกขายได้ในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คือตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลาเพียง 8 เดือน เท่านั้น

ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรที่ปลูกพุทรายักษ์สายพันธุ์นี้ก็คือ การปลิดผลและในบางพื้นที่มีการห่อผล เนื่องจากเป็นพุทราที่ติดผลดกมาก ถ้าไม่ปลิดผลทิ้งบ้างถ้าเป็นต้นพุทราที่เริ่มปลูกใหม่อาจจะทำให้กิ่งฉีกขาดได้ ในช่วงเลี้ยงผลต้นพุทราจะต้องไม่ขาดน้ำ ถ้าปลูกทิ้งปลูกขว้างนอกจากจะผลไม่ใหญ่แล้ว เนื้อจะเหนียว แมลงศัตรูที่สำคัญอยู่ในช่วงออกดอกและเริ่มติดผลคือ เพลี้ยไฟและโรครา ถ้าเกษตรกรควบคุมเพลี้ยไฟไม่ได้ ผิวบริเวณที่ก้นผลจะลายทำให้ราคาตก เพราะผิวไม่สวย

คุณลุงเจริญ คำโล อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งปลูกพุทราจัมโบ้อยู่เล่าให้ฟังว่า ที่จริงพุทราจัมโบ้ มันมีหลายสายพันธุ์ ที่ออกผลมีขนาดใหญ่เกือบเท่าผลแอปเปิ้ลก็มี แล้วก็ขนาดเล็กรองลงมาก็มี แต่ถ้าเป็นต้นกล้าเล็กๆ จะดูไม่ออกเลยทีเดียว และคุณลุงเจริญก็ได้ให้คำแนะนำมาว่า ถ้าอยากจะได้ไม้ผลที่ตรงตามเราต้องการละก็ ประการแรกต้องหาแหล่งผลิตให้ได้เสียก่อนว่าอยู่ที่ใด จากนั้นเข้าไปเจรจากับเจ้าของสวนว่า ต้องการกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ ถ้าตกลงกันได้ ก็ให้เขาขยายพันธุ์ให้ แล้วนัดวันกันมารับของ ราคาคุยกันเอาเอง หรืออีกวิธี ก็ต้องหาร้านที่มีชื่อเสียงที่ดี ซื่อสัตย์ต่อลูกค้าให้เขาหากิ่งพันธุ์ให้ พุทราเป็นไม้ผลยืนต้นอายุหลายปี แล้วก็ขึ้นในที่มีอินทรียวัตถุดีพอควร เพราะเขามีนิสัยคล้ายๆกับฝรั่ง คือให้ผลผลิตเร็วในเวลาไม่นาน แถมยังออกไม่เป็นรุ่นด้วย กิ่งไหนแก่ ก็ออกก่อน กิ่งเล็กกิ่งน้อยก็ชอบออกเรื่อยๆ ต้องมีการตัดแต่งกิ่งเสมอๆ ไม่ให้หนาแน่นทึบ

เนื่องจากพุทราเป็นไม้ผลที่มีพุ่มกว้างพอสมควร แต่ที่สวนของคุณลุงเจริญจะตัดแต่งและบังคับ ทรงพุ่มมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ให้เกินกว่า 3 เมตร แล้วเว้นระยะช่องทางเดินไว้ 1 เมตร ดังนั้น หลุมปลูกจึงมีระยะ 3 เมตร ต่อหลุม หรือต้น ทีนี้เมื่อเราได้ระยะแล้ว ก็ขุดหลุมเตรียมเหมือนฝรั่ง แต่ว่าหลุมพุทราจะกว้างและลึกกว่าฝรั่ง คือมีขนาดรัศมีวงกลม 50 เซนติเมตร และลึก ไม่เกิน 30 เซนติเมตร เนื่องจากพุทรามีการเจริญเติบโตเร็วกว่าฝรั่ง รากจะเดินเร็วกว่า การกินอาหารก็กินมากกว่า ก็ต้องทำหลุมให้เขาใหญ่หน่อย จากนั้นก็ใส่อินทรียวัตถุและธาตุอาหาร อย่าลืมใบมะรุมแห้ง แต่ถ้าไม่มีก็เอาใบสะเดาแก่ใส่ลงไปคลุกให้เข้ากัน แล้วเอาต้นพันธุ์ลงปลูกเหมือนฝรั่ง

วิธีการดูแลในระยะนี้อย่าขาดน้ำ ต้องมีการให้สม่ำเสมอ พอหน้าดินชื้น พุทราไม่ชอบน้ำแฉะ ช่วงสัปดาห์แรก ให้น้ำเปล่าๆ ก่อน พอเห็นว่าไม่เฉา อยู่รอดได้แน่ ทีนี้ก็เริ่มให้สารอาหารทางใบปุ๋ย เป็นน้ำชีวภาพทำเอง 2 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตอนเช้าช่วงที่รู้สึกว่าแดดจะเริ่มร้อน แต่อย่าให้เกินเที่ยง ทุกๆ 5 วัน ทำครั้งหนึ่ง

สมุนไพรก็ทำเอง ฉีดพ่นในช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ใช้สัก 5 ช้อนแกง ผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ให้ทุกๆ 3 วันครั้ง

ทางดินไม่ต้องไปใส่อะไร นอกจากให้น้ำวันเว้นวันพอให้หน้าดินชื้น แค่นี้เดี๋ยวก็แตกก้าน แตกใบอ่อน แล้วทีนี้พอพุทราเริ่มโต สูงประมาณ 80 เซนติเมตร ก็เริ่มตัดแต่งกิ่ง ระวังกิ่งที่ออกใหม่ มันจะยาวแถมเรียวอีกด้วย หากยาวมากเกินงามก็เล็มๆ ออกบ้าง ช่วงนี้พุทราก็จะออกดอกออกผล ก็อย่าไปเสียดายลิดออกให้หมด ขืนปล่อยไว้ด้วยความอยากได้ไวๆ ละก็ ต้นจะโทรมเร็ว

คุณลุงเจริญ บอกว่า ศัตรูในช่วงนี้คือ เพลี้ยอ่อน แต่จะเพิ่มเจ้าผีเสื้อสมุทร จะเข้ามาวางไข่ แถวๆ ใต้ใบ คอยสังเกตดูว่าใบไหน มันม้วนเป็นขนมทองม้วนละก็ใช่เลย จับเด็ดใบออกแล้วทำลาย ทางแก้ก็ไม่ยาก ให้น้ำพุทราตอนเย็นๆ รดให้ทั่ว ทั้งใต้ใบ บนใบ แค่นี้ก็พอ อยากรู้ว่าทำไมเหรอ ง่ายๆ จำไว้ แมลงทุกชนิดที่ชอบวางไข่ ไม่ชอบพื้นผิวที่มีความเปียกชื้น นอกจากจะวางไข่ไม่ติดแล้ว ไข่ที่ถูกวางเมื่อโดนน้ำหรือความชื้นมันจะฝ่อ นี่แหละเจ้าพวกนี้มันถึงชอบวางไข่ใต้ใบ แต่ถ้าใครอยากจะใช้สมุนไพรด้วยก็ยิ่งดี

เอาสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงๆ ฉุนๆ ที่สวนคุณลุงเจริญใช้สาบเสือ ข่า ตะไคร้หอม หางไหล แค่นี้ก็พอเอาตัวรอดได้

ช่วงระยะสะสมตาดอกเพื่อการออกดอกช่วงนี้พุทราที่เราปลูกก็เป็นสาวแล้ว พอที่จะออกดอกออกลูกได้ ทางดินก็หว่านปุ๋ยขี้วัว บางๆ ให้รอบ แล้วคลุมด้วยเศษใบไม้ รดน้ำแบบพอชื้น วันเว้นวัน ทีนี้ต้องหมั่นสังเกตดูเรื่อยๆ ว่า หากใบแก่ที่โคนกิ่งเริ่มมีสีดำ และใบอ่อนที่ปลายกิ่งเริ่มเขียวเข้ม นั่นก็แสดงว่า กิ่งนั้นพร้อมที่จะออกดอกแล้ว

ระยะออกดอกติดผล ไม่ต้องทำอะไรมาก คอยระวังเจ้าแมลงกินใบมันจะมากัดกิน นอกนั้นเชื่อหรือไม่ว่า จะมีของดีที่ไม่ได้เชิญ จะมาช่วยเราผสมเกสร นั้นคือ ผึ้ง ไม่รู้ว่ามาจากไหน คงจะแอบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ แถวนั่นแหละ เพราะเวลาดอกบานแล้ว กลิ่นหอมก็ปล่อยให้บานไปเรื่อยๆ จนติดผล ส่วนทางดิน ให้น้ำแบบโชยๆ อย่าให้ขาดน้ำ พุทราขาดน้ำเมื่อใด ขาดใจเมื่อนั้น ระยะติดผลอ่อนที่สวนก็บำรุงเหมือนตอนดูแลระยะแรกเลย ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก ทางดินรดน้ำพอชื้นวันเว้นวัน ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรด

ระยะบำรุงผล เมื่อผลเริ่มมีขนาดเท่าลูกมะนาว ช่วงนี้จะมีแมลงวันทองกับด้วงกัดใบ เพลี้ยไฟ จะมาเยี่ยมเยือน และก็มาเป็นทีมโดยมิได้นัดหมาย ก็ใช้สารชีวภาพที่ทำไว้ฉีดไล่แมลงทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็คอยปลิดผลเหี่ยว ผลเสียรูปเสียทรงทิ้งลงตะกร้า อย่าทิ้งลงบนพื้น หากพบเห็นก็เอาโยนลงบ่อน้ำ หรือไม่ก็ทำบ่อซีเมนต์ใส่น้ำ เอาไว้ใส่ผลไม้ที่เสีย หรือถังทำปุ๋ยหมักน้ำชีวภาพ เพราะถ้าขืนทิ้งไว้บนดินล่ะก็เท่ากับเป็นการสร้างบ้านให้เจ้าพวกนี้มาอยู่

เนื่องจากพุทราไม่เหมือนผลไม้อื่นที่ต้องเก็บเกี่ยวก่อนผลแก่ได้ที่แล้วทิ้งให้ลืมต้น แต่พุทราจะเก็บก็เมื่อผลแก่เท่านั้น ข้อสังเกต คือ ผลจะมีผิวเป็นมันวาวและเนียน ไม่นวล สีจะออกเป็นสีเขียวตองอ่อนออกจางนิดๆ ถ้าสียังเข้มก็ยังไม่แก่

ข้อสังเกตในกิ่งเดียวกันจะมีลูกรุ่นอื่นออกตามมา ดังนั้น จึงต้องพิจารณาเอาเองว่า ถ้าต้องการเก็บไว้เพื่อเอาผล เราก็บำรุงดูแลต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าสมควรจะต้องตัดแต่งกิ่ง ก็ให้ลิดลงเพื่อเตรียมทำกิ่งใหม่ได้

กิ่งพุทราจะยื่นยาวเป็นแนวตรง แต่เมื่อติดผลและผลมีขนาดใหญ่กิ่งก็จะโน้มลงมาเอง ให้เอาไม้ไผ่รวกมาทำเป็นคอกล้อมต้น นอกจากนี้ ยังจะช่วยประคองกิ่งไม่ให้ฉีกขาดได้ ปัจจุบัน คุณลุงเจริญเก็บเกี่ยวผลผลิตเฉลี่ยวันละ 120 กิโลกรัม ในช่วงเดือน ธันวาคมถึงมกราคม 2 เดือน ก็ 60 วัน ผลผลิตรวม 7,200 กิโลกรัม เป็นเกรด เอ 30 เปอร์เซ็นต์ เกรดบี 70 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายอยู่ที่ 25 และ 20 บาท ตามลำดับ ในพื้นที่ 3 ไร่ ทำรายได้ดีพอสมควร

ข้อปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว ให้ตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลแล้วออก กิ่งกระโดง กิ่งไขว้ กิ่งที่ไม่พึงประสงค์ และยอดประธานที่เราต้องการควบคุมความสูง ทุกแผลที่ตัดให้ใช้สีน้ำมันทาปิดแผล เพื่อป้องกันโรคเข้าทำลาย

กรณีทำสาว สามารถตัดกิ่งทำสาวใหม่ได้ในตำแหน่งที่ต้องการ ตัดด้วนๆ เลยไม่ตายหรอก แต่ก่อนตัดต้องใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก พรวนดินกำจัดวัชพืช รดน้ำให้ชุ่ม ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ แล้วตัด และให้เหลือกิ่งใดก็ได้ที่มีใบเอาไว้ 1 กิ่ง หลังจากตอหรือกิ่งที่ถูกตัด เกิดใบอ่อนหรือกิ่งใหม่ออกมา จึงค่อยตัดกิ่งที่เอาไว้ออก

สนใจพุทราจัมโบ้แลกเปลี่ยนความรู้หรือดูงาน ติดต่อ คุณลุงเจริญ คำโล ตามที่อยู่ข้างต้น หรือที่เบอร์ โทรศัพท์ (054) 423-228 หรือ (081) 026-9336
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พะเยา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 473
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM