เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
สวนมะพร้าว อายุเกือบ 200 ปี ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ที่ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
   
ปัญหา :
 
 
มะพร้าว มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ใด หรืออยู่บนส่วนไหนของโลกยังไม่มีข้อสรุปและชี้ชัด แต่ก็มีบันทึกไว้มากมายว่าอยู่ส่วนโน้นส่วนนี้

เริ่มจากทวีปอเมริกา ที่โคลัมเบีย มีพืชตระกูลเดียวกับมะพร้าวขึ้นอยู่มากมาย นักพฤกษศาสตร์ มีความเห็นว่า มะพร้าวน่าจะวิวัฒนาการมาจากพืชพรรณเหล่านั้น

ที่อเมริกากลาง มีปลูกมะพร้าวมาช้านาน โดยเฉพาะปานามา

อเมริกาใต้ ก็มีบันทึกว่า มีปลูกมะพร้าวมานาน จากนั้นกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่น หมู่เกาะแปซิฟิก เป็นถิ่นมะพร้าวเช่นกัน

ที่หมู่เกาะ ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีการปลูกมะพร้าวมากมาย เนื่องจากปลูกมานาน ความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์จึงมีมาก ชาวเกาะบางแห่ง นับถือมะพร้าวเป็นเทพเจ้า

ในอินเดีย มีบันทึกการใช้ประโยชน์มะพร้าว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เอเชียก็มีบทบันทึก ที่ศรีลังกา มีหลักฐานว่า ปลูกมะพร้าวก่อนคริสตกาล 300 ปี

เอเชียอาคเนย์ เจ้าของท้องถิ่น ก็มีความเชื่อว่า มะพร้าวมีถิ่นกำเนิดในถิ่นนี้เช่นกัน

สำหรับถิ่นกำเนิดของมะพร้าว คงต้องมีการถกเถียงกันต่อไป ซึ่งจุดใหญ่ๆ ที่อ้างว่าเป็นถิ่นกำเนิด ยังคงอยู่ที่อเมริกาใต้ อเมริกากลาง รวมทั้งหมู่เกาะแปซิฟิก หลักฐานที่นำมาประกอบนั้นมีเรื่องของชื่อที่ใช้เรียกมะพร้าว อย่างเช่นท้องถิ่นใดที่เรียกชื่อมะพร้าว แล้วคนที่อื่นเรียกตามมากๆ ก็ทึกทักว่า ที่นั่นแหละถิ่นกำเนิด

แหล่งใดที่มีปลูกมะพร้าวกันมาก ปลูกสืบทอดกันมานาน มีพันธุกรรมหลากหลาย ก็อาจจะบอกว่าบ้านข้าปลูกมะพร้าวมาก่อนใคร

หลักฐานอย่างอื่นก็มีเรื่องความเชื่อ อย่างการนับถือมะพร้าวเป็นเทพเจ้า การนำมาเป็นอาหาร ยารักษาโรค ก็เป็นข้อกล่าวอ้างได้ หลังๆ มีการทดสอบเรื่องการกระจายพันธุ์ อย่างเช่น ปล่อยให้มะพร้าวลอยไปตามน้ำ อาศัยลมพัดพา

มะพร้าว เป็นไม้ที่ขึ้นในเขตร้อน ไทยเราก็มีอากาศที่เหมาะสม ที่จะเป็นแหล่งกำเนิดมะพร้าวได้ ดังนั้น แนวคิดส่วนตัว จึงคิดว่า หากไทยมีการจดบันทึก มีประวัติศาสตร์ มีภาษาก้าวหน้าอย่างชาติอื่น อาจจะบอกคนอื่นว่า บ้านข้าก็ปลูกมะพร้าวมานานเช่นกัน เพราะไม้ตระกูลมะพร้าว หรือญาติของมะพร้าว ในบ้านเราก็มีอยู่มากมาย

เอาเถอะ! ถึงมะพร้าวในเรื่องของถิ่นกำเนิดยังสรุปไม่ได้ แต่ในบ้านเรานั้นยังงัยก็ตาม มะพร้าว ถือว่าเป็นพืชเก่าแก่ที่มีมานานโขตั้งแต่สมัยคุณทวดมาแล้ว

อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี สถานที่ตั้งสวนมะพร้าวอายุเกือบ 200 ปี ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ ทองยงค์ เป็นผู้ศึกษามะพร้าวน้ำหอม พันธุ์ รบ.1, รบ. 2 และ รบ.3 ในสวนมีพืชหลายชนิด มีมะพร้าวเป็นพืชประธาน (พืชหลัก) นอกจากนั้น ก็มีกล้วย ลิ้นจี่ มะม่วง ส้มโอ

"ส่วนมะพร้าวที่ปลูกสมัยคุณทวดก็มีอยู่หลายต้น ต้นที่อายุมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 170 ปี และส่วนใหญ่อายุจะราวๆ 150-100 ปี ปลูกเอาไว้ ไม่ยอมขายไม้หรือตัดทิ้ง เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ควรอนุรักษ์ และรักษาให้ลูกให้หลานได้ดู ได้เห็น ได้รู้จัก และจะดำรงมะพร้าวพันธุ์โบราณไว้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ กล่าว



สูงมาก ต้องพิสูจน์???

ด้วยความอยากรู้ จึงต้องรบกวน คุณสมพงษ์ เวชโช ผู้ชำนิชำนาญในการปีนต้นมะพร้าวมากว่า 20 ปี เพื่อวัดความสูงของต้น และลักษณะของลูกมะพร้าว เพื่อไขข้อข้องใจ ต้นแรกอายุกว่า 170 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20 เมตร ความกว้างของต้น 133 เซนติเมตร ระยะสูงจากพื้นถึงราก 80 เซนติเมตร ลักษณะของลูกมะพร้าวมีสีเหลือง ผลกลมเล็ก ต้นที่สองอายุราวๆ 150 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 15 เมตร ความกว้างของต้น 153 เซนติเมตร ลักษณะลูกมีสีไฟ ผลกลมเล็ก ส่วนต้นที่เป็นสาว (อายุเพียง 10 ปี) เป็นต้นที่ปลูกแทนที่ต้นที่ตายไป มีความสูงประมาณ 5 เมตร ความกว้างรอบโคน 160 เซนติเมตร ผลมีสีเขียว ผลกลมใหญ่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ บอกว่า มะพร้าวนะยิ่งแก่ยิ่งสูง รอบโคนต้นก็จะเล็กลง แต่ลูกจะยิ่งดกรอบคอ

เดินสำรวจสวนมะพร้าวโดยรอบ และก็อดสงสารคุณสมพงษ์ไม่ได้ที่ต้องปีนต้นมะพร้าวที่แสนจะสูงตั้งหลายต้น จึงต้องให้น้ำดื่มกันหน่อย เดินสำรวจสักพักก็ได้เวลาที่ต้องเดินกลับแล้ว เพราะได้บรรลุเป้าหมายของวันนี้แล้ว คือผลของลูกมะพร้าวโบราณที่หอบติดมือมาหลายลูก พร้อมกับอาการเหนื่อยล้ากันเต็มที จึงต้องรบกวนผู้ชำนาญในการผ่าโดยใช้ขวาน เพราะกะลาของผลมีลักษณะที่ค่อนข้างหนา และเปลือกเหนียว เมื่อผ่ามาแล้วพบว่าลักษณะของเนื้อมะพร้าวโดยรวมจะมีความหอม หวาน มัน เนื้อหนา และแข็ง เหมาะที่จะนำไปทำอาหารไทยๆ อย่างบ้านเรา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่เขาจะสืบทอดอาชีพของต้นตระกูลหรือบรรพบุรุษเอาไว้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่น ตระกูลขึ้นมะพร้าว ตระกูลทำน้ำตาลมะพร้าว ตระกูลโกยดิน ตระกูลเก็บลูกมะพร้าว เพราะเขาคิดว่าถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านี้อาชีพที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็จะสูญหายไป

คุณสมคิด เชียงทอง น้องสาวของผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ เจ้าของสวนมะพร้าวเก่าแก่ที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่นอีกคน บนเนื้อที่ 22 ไร่ ผู้ที่ยังคงยึดอาชีพชาวสวนมะพร้าวเป็นหลัก เพราะเป็นอาชีพที่ลงทุนน้อย มีรายได้พอสมควร (รายได้หมื่นกว่าบาท ต่อเดือน) สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีความสุข อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง นอกจากนี้ ยังได้อนุรักษ์สวนมะพร้าวที่สืบทอดมารุ่นต่อรุ่น มาจนถึงปัจจุบัน

นี่คือ สิ่งดีๆ ที่เยาวชนของไทยเราน่าจะเอาเป็นตัวอย่าง อย่ามองว่าอาชีพเหล่านี้ดูต่ำค่า และอย่าลืมว่าบรรพบุรุษของเราเลี้ยงลูก หลาน เหลน โหลน ด้วยอาชีพเหล่านี้ ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่สุจริต

ขอขอบคุณ ข้อมูลเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมะพร้าวจากหนังสือดีๆ ที่น่าอ่าน ของมติชนบุ๊ค และหากผู้อ่านท่านใดสนใจอยากรู้ อยากถามเกี่ยวกับสวนมะพร้าวที่มีอายุเกือบ 200 ปี ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสงค์ ทองยงค์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (02) 378-2620 และ (081) 836-6228



มะพร้าว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera Linn.

ชื่อวงศ์ PALMAE

ชื่อสามัญ Coconut

ชื่อท้องถิ่น

จันทบุรี เรียก ดุง

กาญจนบุรี เรียก โพล

แม่ฮ่องสอน เรียก คอส่า

ทั่วไป เรียก หมากอุ๋น หมากอูน

จีน เรียก เอี่ยจี้

ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น สูงชะลูด 7-10 เมตร เปลือกลำต้นแข็ง ใบ ออกเป็นใบรวม มีใบย่อยเป็นแผ่นแคบยาว เรียงสลับกัน เป็นรูปขนนกปลายใบแหลม ดอก ออกเป็นช่อตามบริเวณกาบที่หุ้ม ดอกย่อยขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอก ประมาณ 6 กลีบ ผล เป็นรูปกลมหรือรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 8-9.5 นิ้ว เปลือกนอกเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในแข็งเป็นกะลา เนื้อผลมีสีขาวนุ่ม และมีน้ำใส รสจืดหรือหวาน

การปลูก มะพร้าว ปลูกได้ดีในดินปนทราย ขยายพันธุ์โดยใช้ผลแก่เพาะเป็นต้นอ่อน สูงประมาณ 0.5-1 เมตร จึงนำไปปลูกในหลุมที่รองก้นด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก บำรุงด้วยปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง

สรรพคุณทางยา

กะลา นำมาเผาให้เป็นถ่านดำ แล้วนำมาบดเป็นผงละเอียด ผสมน้ำดื่ม วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 0.5-1 ช้อนชา แก้ปวดกระดูกและเส้นเอ็น

ดอก รสฝาดหวานหอม เป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ กล่อมเสมหะ บำรุงโลหิต และแก้ปากเปื่อย

ราก รสฝาดหวานหอม เป็นยาแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ หรืออมบ้วนปาก แก้เจ็บคอ

น้ำมันมะพร้าว รสหวานเค็ม รับประทานเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ใช้ทาบำรุงผม หรือทาเป็นยาแก้กลากเกลื้อน ทาผิวหนังแตกแห้ง แก้โรคผิวหนังต่างๆ ทาแผลน้ำร้อนลวก โดยการเอาน้ำมันมะพร้าวมา 1 ส่วน ใส่ในภาชนะคนพร้อมๆ กับเติมน้ำปูนใส 1 ส่วน โดยเติมทีละส่วนพร้อมกับคนไปด้วย จนเข้ากันดี ใช้ทาบริเวณแผลบ่อยๆ

น้ำมะพร้าว ดื่มเป็นยาระบาย แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้พิษ แก้กระหายน้ำ แก้นิ่ว แก้อาเจียนเป็นโลหิตและบวมน้ำ นอกจากนี้ ยังทำเป็นน้ำส้มสายชู ใช้ประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

คุณค่าทางโภชนาการ เนื้อมะพร้าวสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด หรือนำมาคั้นเอาน้ำกะทิประกอบอาหารคาว-หวาน ได้หลากหลายชนิด เนื้อมะพร้าวประกอบไปด้วย น้ำมันถึง 60-65% ในน้ำมันมีกรดไขมันหลายชนิด เนื้อมะพร้าวหั่นฝอยใส่น้ำเคี่ยวหรือตากแห้ง แล้วเคี่ยวจะได้น้ำมันมะพร้าว ส่วนน้ำมะพร้าวเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางอาหารสูง รสหวาน หอม ชุ่มคอ ชื่นใจ ในน้ำมะพร้าว ยังมีน้ำตาล โปรตีน โซเดียม แคลเซียม โพแทสเซียม แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาเป็นโรคหัวใจ หรือโรคไตก็ไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าว

คติความเชื่อ ตามตำราการปลูกต้นไม้ตามทิศในตำราพรหมชาติฉบับหลวง มะพร้าว เป็นไม้มงคลและกำหนดปลูกไว้ทางทิศตะวันออก (บูรพา) ด้วยความเชื่อว่า เมื่อปลูกไว้บริเวณบ้าน จะทำให้ไม่มีการเจ็บไข้ และอยู่เย็นเป็นสุข
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
ราชบุรี
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05054011152&srcday=2009-11-01&search=no
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM