เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
ไทย อกริ ฟู้ดส์ ผู้ผลิตกะทิ "อร่อย-ดี" มองอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย "ถึงเวลาต้องยั่งยืน!"
   
ปัญหา :
 
 
ไม่เพียงความหอมหวานจากน้ำมะพร้าวจะเข้ามาโลดแล่นในตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ ในนาม "เนเจอรัล สปอร์ต ดริ้งก์" (Nature"s Sports Drink) จนผู้ผลิตเครื่องดื่มค่ายยักษ์ระดับโลกหันมาจับเป็นผลิตภัณฑ์ลุยตลาดอีกแบรนด์ แต่เนื้อในของพืชมหัศจรรย์ชนิดนี้ยังกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลผลิตจากมะพร้าว ที่ไม่เคยจางหายไปจากชีวิตคนไทยนับตั้งแต่อดีต และยังกลายเป็นที่รู้จักของตลาดโลกในปัจจุบัน ในนามของ "โคโคนัท มิลค์" (Coconut Milk) หรือที่คนไทยเราเรียก "กะทิ" ส่วนผสมหอมมันที่อยู่คู่อาหารทั้งคาว-หวานของไทยมาช้านาน

"อร่อย-ดี" กะทิสำเร็จรูป แบรนด์ดังรายหนึ่งของไทย บนความตั้งใจของ บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) คืออีกบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า กะทิไทย ยังมีบทบาทในตลาดต่างประเทศด้วยยอดการจำหน่ายที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีตลาดหลักในประเทศสหรัฐอเมริกา และขยายตลาดในประเทศไทยเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้สร้างแบรนด์กะทิไทยให้ต่างชาติรู้จัก ในนาม "Aroy-D" นี้เท่านั้น แต่ยังสร้างผลิตภัณฑ์จากผลไม้ไทยเพื่อการส่งออกอย่างหลากหลาย อาทิ ผักและผลไม้กระป๋อง "Bright" เครื่องดื่มจากผักและผลไม้ "Foco" และ "Panchy" กะทิข้น "Savoy" และอาหารแช่แข็งสำเร็จรูป Little Chef เป็นต้น

แต่จากประสบการณ์ในฐานะของผู้ส่งออกที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการส่งออกมานานกว่า 20 ปี และในฐานะผู้ผลิตกะทิรายใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย มุมมองของ คุณกิตติพงษ์ ลีละยูวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ในเวลานี้ ได้เห็นเส้นทางของอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยที่อาจสั่นคลอนมากขึ้นทุกขณะ จากสาเหตุที่สวนมะพร้าวมีจำนวนลดลง...

สถานการณ์ของอุตสหกรรมกะทิสำเร็จรูปในปัจจุบัน?

คุณกิตติพงษ์ : ตลาดกะทิแปรรูปในประเทศคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ไม่รวมมะพร้าวสดที่คนไทยนิยมนำมากะเทาะคั้นสด ส่วนการส่งออกกะทิคาดว่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท มูลค่าสูงกว่า เนื่องด้วยไม่สามารถคั้นสดได้ ขณะที่อาหารไทยกลายเป็นอาหารที่คนทั่วโลกรู้จัก และมีร้านอาหารไทยกระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา กะทิสำเร็จรูปเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพราะความสะดวกสบาย และมีคุณภาพสม่ำเสมอ ผ่านการฆ่าเชื้อที่ดี ดังนั้น เมื่อนำไปประกอบอาหาร อาหารเหล่านั้นจะมีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น แต่ประเทศไทยไม่ใช่ผู้ส่งออกมะพร้าวและกะทิรายเดียวของโลก แต่ยังมีอินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา ดังนั้น ตลาดรวมของผลผลิตจากมะพร้าวจึงนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก

เฉพาะ ไทย อกริ ฟู้ดส์ฯ เรามียอดผลิตกะทิเป็นร้อยตันต่อวัน แต่เนื้อมะพร้าว 1 กิโลกรัม เท่ากับใช้มะพร้าว 2.5 ลูก นั่นหมายความว่า 100 ตัน ในการผลิต ทางโรงงานเราต้องใช้มะพร้าว 2.5 แสนลูก ต่อวัน แต่ 1 ไร่ ของประเทศไทยได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 ผล ต่อปี เพราะฉะนั้น ต่อปีผมต้องใช้ 250 ไร่ แต่ผลผลิตโดยเฉลี่ยต่อปีของมะพร้าวไทย ผมสามารถใช้สวน 250 ไร่ นี้ได้เพียงวันเดียว นี่ไม่รวมถึงผู้ผลิตกะทิรายใหญ่อื่นๆ และไม่รวมผู้ส่งออกรายย่อยต่างๆ นะ ซึ่งหากเฉลี่ยโดยประมาณ รวมผู้ผลิตกะทิรายใหญ่ของไทยต้องใช้มะพร้าวไม่น้อยกว่า 500 ไร่ ต่อวัน นั่นเท่ากับ ใน 1 ปี ต้องใช้มะพร้าวถึง 185,200 ไร่ และนอกจากเราใช้เนื้อมะพร้าวทำกะทิแล้ว เรายังต้องใช้น้ำมะพร้าวอ่อนอีกจำนวนมาก เพราะ ไทย อกริฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋องส่งออกเป็นอันดับ 1 ของไทยด้วย เราจึงต้องการน้ำมะพร้าวเพื่อนำมาบรรจุกระป๋องเป็น 10 คันรถสิบล้อ ต่อวัน ซึ่งน้ำมะพร้าวน้ำหอม 1 คันรถนี้ เราต้องใช้มะพร้าวน้ำหอมเป็นแสนผล

ปัจจุบัน การตลาดไม่สมดุลกับวัตถุดิบ?

คุณกิตติพงษ์ : ขณะนี้ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มจากมะพร้าวกันมาก จนจูงใจให้โคคาโคล่า หันมาสนใจผลิตเครื่องดื่มจากน้ำมะพร้าว จากศักยภาพของ คำว่า เนเจอรัล สปอร์ต แต่สิ่งที่ขัดแย้งกับการขยายตลาดที่เป็นอยู่ก็คือ วัตถุดิบที่มีค่อนข้างจำกัด มะพร้าวไม่ได้เหมือนกับการชงชา ที่ชา 1 กิโลกรัม ชงดื่มกันได้ทั้งปี แต่มะพร้าวแต่ละผล กว่าจะได้เนื้อ ได้น้ำมา ต้องผ่านหลายกระบวนการ และมีปริมาณน้อย ประกอบกับปัจจุบันมีสินค้าเกษตรหลายตัวที่เกษตรกรมองว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้มากกว่ามะพร้าวซึ่งเป็นพืชที่รุ่นพ่อแม่ปลูกไว้ให้ หลายต้นอายุถึง 50 ปี สูงจนสอยไม่ถึง ต้องใช้ลิงปีน ที่ผ่านมาเรารับซื้อมะพร้าวจากทั่วทุกแหล่งของประเทศ โดยมียี่ปั๊วที่จะเป็นผู้รวบรวมส่งให้โรงงานอีกต่อ แม้แต่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ต้องส่งมะพร้าวมาที่เรา แต่ตอนนี้ทางสุราษฎร์ฯ ชุมพร มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้อยลง เพราะหันมาปลูกปาล์มแทน ปลูกยางแทน ตอนนี้มะพร้าวจึงนับว่าอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเหมือนกับลิ้นจี่ ซึ่งเมื่อก่อนลิ้นจี่ขายได้กิโลกรัมละ 20 กว่าบาท แต่ปัจจุบันเหลือ 10 บาท ผลที่ตามมาก็คือ เกษตรกรต้องทำลายทิ้งแล้วไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน จนสวนลิ้นจี่แทบไม่มีแล้ว

มีทางออกอย่างไร เมื่อมะพร้าวลดน้อยลง?

คุณกิตติพงษ์ : ในช่วงที่มะพร้าวไม่พอ เราต้องนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา ซึ่งล้วนแล้วเป็นประเทศที่มีมะพร้าวเยอะมาก แต่เราเคยนำเข้ามาแค่ช่วงสั้นๆ เนื่องจากช่วงพฤศจิกายน-มกราคม มะพร้าวเมืองไทยจะขาดแคลน แต่ผู้บริโภคยังคงต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นช่วงที่มะพร้าวไทยเราออกเยอะ ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ราคามะพร้าวก็ต่ำลงมาก โรงงานก็จะต้องเร่งผลิตเพื่อที่จะสต๊อคให้มาก ซึ่งจะทำให้ราคามะพร้าวถูกลง ราคามะพร้าวไม่เคยหยุดนิ่ง อย่างราคารับซื้อมะพร้าวหน้าโรงงานช่วงที่ผ่านมามีตั้งแต่ 8-9 บาท ต่อผล แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 5 บาทกว่า ต่อผล ราคาขึ้นลงตามดีมานด์ซัพพลายเหมือนสินค้าเกษตรทั่วไป ตอนนี้เราพยายามที่จะทำอย่างไรให้มะพร้าวมีราคาที่เหมาะสมให้เกษตรกรอยู่ได้ ไม่หันไปปลูกอย่างอื่นแทน ที่ผ่านมาถ้ามะพร้าวแพง ก็แพงเป็นสองเท่าของราคาถูก ดังนั้น เราต้องทำให้ราคาสามารถคงตัวอยู่ในระดับที่ไม่ถูกหรือแพงเกินไป อย่างเช่น ตอนมะพร้าวถูกเกษตรกรอาจจะได้ราคาผลละ 2 บาท แต่เมื่อมะพร้าวแพงเกษตรกรอาจจะได้ผลละ 8 บาท เป็นไปได้ไหมว่า ทำให้เกษตรกรได้ราคาที่ 6 บาท ตลอดทั้งปี เกษตรกรก็น่าจะพอใจและโรงงานก็อยู่ได้ บางโรงงานยังมีความคิดเก่าๆ ว่า ซื้อถูกซื้อแพงตามตลาด แต่จริงๆ แล้วคนซื้อขายสินค้าที่ดีไม่อยากเปลี่ยนราคาบ่อยๆ หรอก เพราะความไม่แน่นอนมันทำให้สต๊อคสินค้ามีปัญหา เขามีแต่ต้องการให้ราคามันนิ่ง อยากให้ราคามันเสถียรไม่เคลื่อนไหวนัก ซึ่งจะทำให้การค้าขายคล่องตัวขึ้น

แต่การรับซื้อในราคาที่สูง ขึ้นอยู่กับผู้ผลิต?

คุณกิตติพงษ์ : ถูกต้อง เราต้องหารือกับผู้ผลิตด้วยกัน อาจต้องขึ้นราคาสินค้าพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนมากเกินไป ซึ่งถ้าเราเพิ่มราคากะทิจากกล่องละ 15 บาท เป็น 18 บาท เกษตรกรจะขายมะพร้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่าผลละ 5 บาท ขณะที่ผมขึ้นราคาเพียงอย่างน้อย 3 บาท ผมว่าผู้บริโภคไม่เดือดร้อน เพราะทุกวันนี้เรากินชาเขียวขวดละ 20 บาท หนึ่งขวดกินคนเดียว แต่กะทิกล่องเล็ก 15 บาท สามารถทำแกงได้เป็นหม้อ เลี้ยงคนได้ทั้งบ้าน ผู้ผลิตต้องยอมซื้อวัตถุดิบแพงเข้ามาบ้าง เพราะเราต้องมามองแล้วว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยยังปลูกมะพร้าว และมีรายได้ที่ดีขึ้น แน่นอนว่าเราอาจไม่ใช่ผู้ที่ซื้อมะพร้าวทั้งหมด แต่เชื่อว่าถ้าเราเริ่ม คนอื่นๆ ก็จะเริ่มตามไปด้วย ถ้าแบรนด์กะทิของไทยมาร่วมมือกำหนดราคาสินค้าได้ และกำหนดราคาวัตถุดิบได้ ก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก ซึ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้แน่นอนก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งควรมีทั้งขั้นต่ำและขั้นสูง เพื่อรับความเสี่ยง

ตอนนี้ผมเริ่มคุยกับผู้ผลิตด้วยกัน ผมพยายามพูดไอเดียนี้กับผู้ใหญ่ กับรัฐมนตรี กับนักธุรกิจด้วยกันตามที่อื่นๆ อย่างกะทิมีอะไรที่ผมทำได้ ผมก็จะทำ ซึ่งผมคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เพราะนี่เคืออุตสาหกรรมเกษตรแบบยั่งยืน เราไม่สามารถมองระยะสั้นได้อีกต่อไป เนื่องจากประเทศไทยเรามีแบรนด์ชาวเกาะ มีแบรนด์ อร่อย-ดี มีแบรนด์อะไรต่างๆ ที่ผู้บริโภคยอมรับ แต่ถ้าไม่มีวัตถุดิบเราจะเอาอะไรไปสร้างแบรนด์ แล้วถามว่าถ้าเราเปลี่ยนไปปลูกปาล์มกันหมด เกษตรกรจะอยู่รอดได้จริงหรือ เพราะขณะที่มาเลเซียไม่มีมะพร้าว ต้องนำเข้ามะพร้าวเข้าประเทศ คนที่ส่งมะพร้าวทางใต้ ผมก็ต้องแข่งซื้อกับมาเลเซียเหมือนกัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ส่งออกมะพร้าวไปที่นั่น แต่มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์ม 20 ล้านไร่ ทั้งที่ไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มอยู่ 1.6 ล้านไร่ มาเลเซียมีทั้งผลผลิตต่อไร่และพื้นที่เยอะกว่า ถ้าเปิดเสรีแล้วใครจะได้เปรียบ ถ้าเกษตกรหนีไปปลูกปาล์มกันหมดจะทำอย่างไร อยากให้หันมามองว่าเราเองเป็นผู้ใช้มะพร้าว เราก็ต้องพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าว ซื้อมะพร้าวให้แพงขึ้น เพื่อช่วยเกษตรกร ยอมซื้อแพงกว่า ดีกว่าไม่มีมะพร้าวให้ซื้อในอนาคต

เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมกำลังปรับตัว ด้านเกษตรกรควรทำอย่างไร?

คุณกิตติพงษ์ : ผมคิดว่าเกษตรกรต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยของผลผลิต อย่าง ทุเรียน มีสวนทดลองหมอนทองของกรมวิชาการ ทำได้ 3 ตัน ต่อไร่ แต่แกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่แค่ 1 ตัน เพราะฉะนั้นเกษตรกรยังมีช่องว่างเรื่องการเพิ่มผลผลิต ปัจจุบันเราใช้มะพร้าวพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งมีข้อเสียเปรียบพันธุ์ลูกผสมอยู่ที่ ลูกดกน้อยกว่า การเติบโตช้ากว่า แต่พันธุ์ดีจากกรมวิชาการที่ให้ผลผลิตต่อปีต่อต้นสูงยังมีอยู่น้อย เราจึงห่วงว่าต่อไปในอนาคตจะไม่มีมะพร้าว การขยายพันธุ์ก็น้อย แต่คนหันมาตัดทิ้ง โค่นทิ้งกันมาก เราจึงอยากให้ความมั่นใจว่าปลูกต่อไปเถอะ วันนี้มันเป็นไอเดียที่เริ่มคิด ถ้าเกษตรกรใจร้อนโค่นทำลายไป ทั้งที่มะพร้าวออกใหม่กว่าจะได้ผลผลิตอีกหลายปี ในขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องมีเรื่องของเกษตรธรรมชาติเข้ามาปรับใช้ เพื่อลดเรื่องการใช้สารเคมี ลดการใช้ซื้อปุ๋ยเคมี เกษตรกรจึงต้องพยายามปรับตัวให้มีผลผลิตที่สูงขึ้น ความปลอดภัยสูงขึ้น แต่ต้นทุนต้องต่ำลง เดี๋ยวนี้มีปราชญ์ชาวบ้านอยู่เกือบทุกแขนง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

อีกทางหนึ่งที่เกษตรกรจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายมะพร้าวก็คือ ขายเป็นเนื้อมะพร้าวขาวเลย ใช้แรงงานในบ้านเพิ่มมูลค่ามะพร้าว แทนที่จะอยู่บ้านเฉยๆ ตอนนี้เรามีมะพร้าวเนื้อขาวมารวบรวมส่งโรงงาน ที่ประจวบฯ มีการรวบรวมมะพร้าวเนื้อขาวได้ไม่ต่ำกว่า 200 ตัน ต่อวัน ทำให้พวกเขาได้ราคาที่ดีขึ้น มีราคาตั้งแต่ 12-26 บาท ต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม คุณกิตติพงษ์ ก็ฝากทิ้งท้ายว่า ทางรัฐบาลเองต้องมองเห็นและร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพราะถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องหันมาใส่ใจกับเรื่องของมะพร้าวกันเสียที

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 466
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM