เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รายละเอียดงานสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย ตอนที่ 1
   
ปัญหา :
 
 
เมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องประชุม สำนักงานหนังสือพิมพ์ข่าวสด ผู้คนจากทั่วสารทิศร่วมสองร้อยชีวิตต่างพร้อมใจกันให้ความสนใจกับเรื่องของ "มะพร้าว" อย่างคึกคัก ซึ่งเป็นอีกผลงานการจัดสัมมนาเพื่อส่งเสริมการเกษตรไทยของทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ภายใต้หัวข้อ "มหัศจรรย์‚มะพร้าวไทย พบความหลากหลายของมะพร้าว พืชที่รับใช้คนไทยมานาน"

งานนี้ นอกจากจะได้พบความหลากหลายของมะพร้าว ที่นำมาจัดแสดงอย่างละลานตา เห็นความแตกต่างของมะพร้าวแต่ละสายพันธุ์ ผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้รับทราบข้อมูลอันเป็นสารประโยชน์เกี่ยวกับมะพร้าว จากนักวิชาการ และเกษตรกรผู้มีประสบการณ์มากมาย ซึ่งทีมงานจะนำมาเผยแพร่รายละเอียดต่างๆ ต่อจากนี้ไป เพื่อให้ผู้ที่พลาดโอกาสได้ร่วมรับรู้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์และบรรยากาศภายในงานไปพร้อมกัน...



เริ่มต้นเปิดการสัมมนา

หลังจาก คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวรายงานต่อ คุณวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานในพิธี พร้อมกล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้สนับสนุน วิทยากร รวมถึงผู้ร่วมงานทุกท่านที่มาร่วมกันแสวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ในงานนี้ คุณสมหมาย ยังเอ่ยถึงความสำคัญของมะพร้าวไทยด้วยว่า

"มะพร้าว เป็นพืชที่คนไทยมีความคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน ซึ่งนอกจากจะใช้ประกอบอาหารแล้ว ยังสามารถใช้เป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ด้วยความหลากหลายของมะพร้าวนั่นเอง จึงมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ของพืชชนิดนี้อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ประดับตกแต่ง ทำเครื่องดนตรี อีกทั้งการส่งออกผลมะพร้าว ตลอดจนผลผลิตอื่นๆ ไปยังตลาดต่างประเทศที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากในแต่ละปี สำหรับตัวผมเองก็มีความประทับใจมะพร้าวอย่างมาก อย่างเวลาตอนต้นไม้หรือแม้แต่จะปักชำ ขุยมะพร้าวก็เป็นพื้นฐานที่ทำให้พืชประเภทอื่นๆ ได้เจริญเติบโตขึ้นมา และก็มีต้นทุนที่ต่ำมาก การสัมมนาครั้งนี้จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในการผลิต การแปรรูป และการตลาดของมะพร้าวแก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป เพื่อเป็นการส่งผ่านข้อมูลจากแหล่งที่มีอยู่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความร่วมมือในด้านวิชาการระหว่างเกษตรกร เอกชน และหน่วยงานราชการ เพื่อความมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการแสดงถึงนวัตกรรมความก้าวหน้าในวงการมะพร้าว"

การสัมมนาในครั้งนี้จึงประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งที่เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ นักธุรกิจ เกษตรกรผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว รวมไปถึงการจัดนิทรรศการสายพันธุ์มะพร้าวที่มีอยู่ในประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าว อย่างไรก็ตาม การจัดสัมมนาในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ห้างหุ้นส่วนจำกัด ยะลาทักษิณาวัฒน์ บริษัท อาริยะพรธุรกิจ จำกัด และไฮลักซ์วีโก้ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

จากนั้น คุณวินัย กสิรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดการสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย "พบความหลากหลายของมะพร้าว พืชที่รับใช้คนไทยมานาน"





สัมมนาสะท้อนวงการ

เกษตรกรรมยืนได้ด้วยระบบสหกรณ์


ในการเปิดงานสัมมนา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้กล่าวอย่างยินดีถึงความร่วมมือกับองค์กรเอกชนในการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับ คุณฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ติดภารกิจไม่สามารถร่วมงานในครั้งได้ แต่เห็นว่าการจัดสัมมนาครั้งนี้จักเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง ขณะที่ภารกิจของกรมส่งเสริมสหกรณ์จะยังคงมุ่งส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ต่อไป โดยให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ รวมทั้งจะสนับสนุนและพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการของสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะส่งเสริมให้สมาชิกของสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

"ปัจจุบัน กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมสหกรณ์อยู่กว่า 7,000 สหกรณ์ มีสมาชิกประมาณ 6 ล้านกว่าครอบครัว และมีกลุ่มเกษตรกรกว่าอีก 4,000 กลุ่ม ซึ่งก็ประมาณ 700,000 กว่าครอบครัว กระจายอยู่ทุกส่วนภูมิภาคของประเทศ ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ผลผลิตทางการเกษตรที่นำออกมาหล่อเลี้ยงชีวิตคนในประเทศนั้น สามารถนำเงินตราเข้ามาในประเทศโดยการส่งออก ซึ่งก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของระบบสหกรณ์ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสหกรณ์ทำให้สามารถผลิตสินค้าหรือผลผลิตทางการเกษตรเพื่อส่งออก จากแนวโน้มการผลิตสินค้าของคนไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นในเรื่องของคุณภาพของผลผลิตด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับผู้บริโภค รวมทั้งจะมีการเพิ่มมูลค่าของสินค้า ตลอดจนมีการดูแลเกษตรกรให้สามารถยืนอยู่ได้ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐมีความพยายามอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีหลายฝ่ายให้ความร่วมมือกันก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"

รองอธิบดีกล่าวอีกว่า การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านในเครือมติชน ถือได้ว่าเป็นกระจกสะท้อนภาพในด้านหนึ่งของความร่วมมือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเกษตร สิ่งที่จะได้จากการสัมมนาในครั้งนี้คงเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาวงการมะพร้าวให้มีความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสายพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การตลาด รวมถึงจิตสำนึกความภูมิใจในภูมิปัญญาของคนไทยที่พวกเรามีอยู่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานภาครัฐมีความยินดีที่จะสนับสนุนพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในหลายๆ ด้าน ซึ่งไม่เฉพาะเพียงแต่มะพร้าวเท่านั้น แต่ในสาขาอื่นๆ หากในโอกาสต่อไปทางนิตยสารในเครือมติชนต้องการข้อมูล ข่าวสาร หรือแม้กระทั่งบุคลากรเพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนที่มีผู้สนใจอยู่ทั่วไป กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ยินดี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่



"มะพร้าว...พืชที่รับใช้คนไทยมานาน"

บรรยายโดย อาจารย์ประทีป กุณาศล


อาจารย์ประทีป กุณาศล นักวิชาการเกษตรอิสระผู้รอบรู้ด้านงานเกษตรหลายสาขา คือวิทยากรท่านแรกที่จะพูดคุยในเรื่องของมะพร้าวผ่านประสบการณ์ ทั้งในฐานะ "ลูกชาวสวน" และ "นักวิชาการเกษตร"

อาจารย์ประทีป : สำหรับผมเองนั้นเป็นลูกเจ้าของสวนและสวนที่บ้านก็ได้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ที่บ้านแผ้ว สมุทรสาคร และก็ยังเป็นคนหนึ่งที่พยายามผลักดันให้มะพร้าวได้ส่งออกไปยังต่างประเทศมากที่สุด ตลอดจนได้มีโอกาสเข้าไปร่วมงานกับบริษัทที่ส่งมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวน้ำหอมไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เป็นเจ้าใหญ่ ซึ่งปีหนึ่งก็ส่งประมาณ 300 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละ 20,000 ลูก ก็ได้ทำเงินให้กับประเทศชาติจำนวนไม่น้อยเลย

เท่าที่ตรวจสอบดูจากฝ่ายลงทะเบียนทราบว่าผู้ที่มาเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นเจ้าของสวนมะพร้าวอยู่หลายท่าน ดังนั้น การที่ท่านมาสัมมนาในครั้งนี้ ท่านก็จะได้รับประโยชน์ที่เกี่ยวกับความรู้ด้านพันธุ์มะพร้าว การเพิ่มมูลค่าของมะพร้าว นอกจากนั้น ยังจะดูว่าโอกาสของมะพร้าวกะทิ ซึ่ง คุณสมชาย วัฒนโยธิน จากสถาบันวิจัยพืชสวนก็จะมาเล่าให้ฟังและยังแถมด้วยพันธุ์มะพร้าวหิ้วกลับบ้านไปด้วย เพราะว่ามะพร้าวกะทิลูกผสมที่ทางสถาบันวิจัยพืชสวนได้นำออกมาเผยแพร่เมื่อ 1-2 ปี มานี้ ถือได้ว่าเป็นพันธุ์มะพร้าวกะทิที่ดี และราคาถูกด้วย ราคาเพียงลูกละ 35 บาท

ผมอยู่ในวงการมะพร้าวมานาน และก็ยังเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตปริญญาโทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำเรื่องของต้นทุนการผลิตมะพร้าวน้ำหอม เมื่อปี 2533 ซึ่งตอนนั้นค่าแรงในสวน คิดวันละ 50 บาท แต่ในปัจจุบันค่าแรงวันละ 200-250 บาท ซึ่งเป็นการเพิ่มถึง 5 เท่า ค่าปุ๋ยเพิ่มขึ้น 4 เท่า คราวนี้มาดูว่าราคาผลมะพร้าวอ่อนจากสวนที่บ้านของผมที่ลูกค้ามาเก็บเองมีราคา 3.50 บาท แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ราคา 1-1.50 บาท ซึ่งก็เป็นการเพิ่มขึ้น 4 เท่า เช่นกัน ผมเองก็มาพิจารณาดูว่าจะทำไหวหรือไม่ แต่เมื่อมามองดูตลาดในอนาคตแล้วว่าช่วงนี้ถ้ามะพร้าวซื้อจากสวนโดยที่มาเก็บเอง จะอยู่ที่ราคา 4 บาท ถ้า 1 ไร่ มีมะพร้าวประมาณ 3,000 ลูก ก็จะเป็นเงิน 12,000 บาท ก็ยังถือว่าเป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย ค่าปุ๋ย ค่ายา ไม่มาก ก็คิดว่าน่าจะทำได้ แต่ก็ต้องดูอีกว่าทำที่ไหนถึงจะมีกำไร ตลาดส่งออกตอนนี้ที่กรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นแหล่งรวบรวม ซึ่งบ้านแผ้ว สมุทรสาคร ที่ดำเนินสะดวก หรือที่ติดกันในเขตนั้นก็จะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดที่จะมีพ่อค้ามารับซื้อแล้วก็ส่งออกไปยังต่างประเทศ

การปลูกมะพร้าวถ้าไปปลูกในสถานที่ที่จะต้องใช้เรือเพื่อการขนถ่าย เสร็จแล้วนำมาขึ้นใส่รถบรรทุกอีก ถ้าทำอย่างนั้นขาดทุนแน่นอน หรือหากมีการแนะนำให้ปลูกมะพร้าวในสถานที่ที่อยู่ห่างไกล ก็อาจจะขาดทุนเช่นกัน เพราะมะพร้าวหนักและขนลำบาก เว้นเสียแต่ว่าท่านมีสวนมะพร้าวอยู่ใกล้ถนน แล้วถนนนั้นก็อยู่ใกล้กับตลาด ใครปลูกมะพร้าวอยู่ใกล้ตลาด อ.ต.ก. ใครปลูกมะพร้าวอยู่ใกล้กับบึงแก่นนคร ที่ขอนแก่น ที่ตรงนั้นมีน้ำดีก็จะปลูกมะพร้าวได้ผลดี ดังนั้น การปลูกมะพร้าวจะต้องเริ่มต้นด้วยการมองที่ตลาดก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ก็อยากจะบอกว่าที่ลุ่มริมแม่น้ำ ซึ่งแม่น้ำสายหลักของเราก็มี แม่น้ำท่าจีน แม่กลอง บางปะกง ที่น้ำทะเลขึ้นถึง ซึ่งดินตรงที่ว่านั้นจะเป็นดินที่ดีมีโพแทสเซียมสูง เหมาะสำหรับปลูกมะพร้าวมาก

มะพร้าวที่ปลูกอยู่ที่บ้านแผ้ว และดำเนินสะดวก เป็นพันธุ์เดียวกันคือ พันธุ์ก้นจีบ แต่ที่บ้านแผ้วมีแคลเซียมในดินน้อย แต่มะพร้าวที่ดำเนินสะดวกตั้งแต่หลักห้า เป็นต้นไป ลูกจะใหญ่กว่า เพราะฉะนั้นมะพร้าวที่ส่งออกตอนนี้ต้องมีน้ำหนักลูกละ 1 กิโลกรัม หากต่ำกว่า 1 กิโลกรัม พ่อค้าจะกำหนดให้ควบ 2 ลูก เป็น 1 ลูก หรือว่าอาจจะต้องนำส่งขายในตลาดบ้านเราเท่านั้น ตอนนี้ผมกำลังคุยกับพ่อค้าส่งออกว่าควรจะทำขนาดลูกเล็กๆ ที่น้อยกว่า 1 กิโลกรัม ด้วย ซึ่งก็จะทำให้คนบ้านแผ้วจะได้ขายเพิ่มขึ้น ไม่ต้องมีการควบหรือนำไปทำมะพร้าวเผา

เพราะฉะนั้นแหล่งที่ปลูกมะพร้าวจึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ จะต้องเป็นดินดี ดินที่มีน้ำไหลทรายมูล และหากเป็นที่มีน้ำทะเลขึ้นถึงด้วยก็ยิ่งดีมาก ที่สำคัญคือต้องอยู่ไม่ไกลจากตลาด ส่วนตลาดที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศขณะนี้คือที่สหรัฐอเมริกา รองลงมาก็ที่จีน และต่อไปอาจมีการส่งไปที่จีนเพิ่มมากขึ้น เพราะคนจีนถือว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ เมื่อดื่มแล้วจะช่วยแก้ร้อนใน คนไต้หวันกับคนจีนจะมีความเชื่อเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนแผ่นดินใหญ่จะชอบน้ำมะพร้าวอ่อนและมะพร้าวแก่ มะพร้าวที่ประเทศจีนจะมีอยู่ที่มณฑลไหหลำ ซึ่งเป็นเกาะอยู่เหนือเวียดนามเล็กน้อย ถ้าคนจีนมาเที่ยวที่ไหหลำเวลากลับจะหิ้วมะพร้าวแก่และมะพร้าวอ่อนขึ้นเครื่องบินนำกลับมาฝากญาติ ถ้าญาติมาจากปักกิ่ง เพราะที่ปักกิ่งไม่รู้จักมะพร้าว และก็รับประทานไม่เป็นด้วย ซึ่งถือเป็นของแปลกและหายาก ดังนั้น ประเทศจีนซึ่งต่อไปคิดว่าจะเป็นตลาดมะพร้าวที่ใหญ่ ซึ่งผมก็ได้หารือกับท่านรองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่ามีโอกาสผลักดันสินค้าที่มีอยู่หลายอย่างในภาคอีสานที่สามารถส่งไปขายได้ที่จีนทางรถยนต์ และมะม่วงของเราก็ต้องส่งไปขายที่จีนโดยทางรถยนต์ เพราะมะม่วงของเรามีผลผลิตออกก่อนจีน ซึ่งก็เป็นจุดแข็งของเรา เพราะฉะนั้นพันธุ์มะม่วงหลายพันธุ์ที่คนจีนสนใจและชื่นชอบก็นำมาปลูกไว้ทางภาคอีสานของเรา ท่านเชื่อไหมว่า กล้วยไข่ ที่ปลูกที่จังหวัดจันทบุรีนั้น ต่อไปก็จะนำไปขายที่ประเทศจีนเหมือนกัน โดยใช้เส้นทางรถยนต์

คราวนี้กลับมาเรื่องมะพร้าวกันต่อว่า พันธุ์มะพร้าวที่ดีที่สุดนั้นก็น่าจะเป็นพันธุ์ก้นจีบ เพราะมีรสชาติหวาน หอม แต่ควรจะไปดูที่สวนด้วยว่ามีสะโพกเล็กน้อย ซึ่งแต่เดิมกำหนดว่ามะพร้าวน้ำหอมจะไม่มีสะโพก แต่ตอนนี้บางพันธุ์มีสะโพกเล็กน้อย แต่ลูกใหญ่ซึ่งทางต่างประเทศเขาก็ต้องการ ซึ่งก็จะต้องเป็นไปตามนั้น

เรื่องต่อมาที่อยากจะคุยคือ เรื่องการทำสวนมะพร้าว ซึ่งวันนี้มีวิทยากรที่เชี่ยวชาญและชำนาญกว่าผม แต่สำหรับผมก็จะพูดในเรื่องกว้างๆ แต่อาจมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ มาเล่าให้พวกเราฟังว่า การทำสวนมะพร้าวที่สวนของผมเมื่อก่อนใช้ยาฆ่าหญ้า แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว เพราะมีผลตกค้างมาก ดังนั้น สำหรับมะพร้าวแล้วต้องระวังเรื่องยาฆ่าหญ้า พอหญ้าขึ้นมาแล้วเราก็ใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายตัด หรือเดี๋ยวนี้ได้มีการพัฒนาเครื่องตัดหญ้าแบบที่นั่งตัดได้ แต่หากเป็นสวนยกร่องก็อาจจะทำลำบากหน่อยก็จะมีอาจารย์ศิวลักษณ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ท่านคิดทำเครื่องตัดหญ้าดังกล่าวขึ้นไว้เพื่อใช้กับสวนมะพร้าว พอตัดหญ้าแล้ว ซึ่งหญ้าเองก็สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ แต่ที่ดีและพิเศษกว่านั้นคือว่ามะพร้าวนั้นต้องการซิลิกอน ซึ่งธาตุซิลิกอนมาจากทราย แต่พืชดูดทรายไม่ได้ ทำอย่างไร ให้ซิลิกอนสามารถละลายได้ ซึ่งวิธีที่ดีทีสุดคือมีหญ้าบางชนิดดูดซิลิกอนได้ง่าย เพราะว่ามีเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อ ซิลิเกท เป็นแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติช่วยละลายซิลิกอนแล้วหญ้าก็ดูดขึ้นไป ให้สังเกตว่าหญ้าที่มีลักษณะแข็งๆ นั้น เพราะว่าดูดซิลิกอนไว้มาก ข้าวที่ดูดซิลิกอนไว้มากๆ จากปุ๋ยที่มีซิลิกอนแล้ว ข้าวชนิดนั้นๆ จะทนต่อโรคและแมลง ซึ่งเรื่องนี้มีงานวิจัยมากมายว่าพืชที่เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าว อ้อย จะมีลักษณะดังกล่าว เมื่อหญ้าดูดซิลิกอน เพราะที่รากหญ้ามีจุลินทรีย์ตัวหนึ่งที่สามารถละลายซิลิกอนในดินได้ มันก็จะดูดขึ้นไป หรืออีกตัวหนึ่งคือ ขี้ค้างคาว ก็จะมีจุลินทรีย์และอะมิโนเอซิด ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้ซิลิกอนละลายได้แล้วก็ดูดขึ้นไป

ดังนั้น เมื่อใส่ขี้ค้างคาว องุ่น หรือฝรั่ง ซึ่งฝรั่งก็จะหวานกรอบ ทั้งหมดนี้คือบทบาทของซิลิกอน เพราะฉะนั้นก็จะเป็นเทคนิคง่ายๆ เลยที่สามารถนำไปทำเองได้ อย่างไรก็ตาม มะพร้าวนั้นมีโพแทสเซียมมาก มีแคลเซียมมาก และก็มีแมกนีเซียม เพราะฉะนั้นเวลาจะให้ปุ๋ยควรจะให้อะไร และมะพร้าวเป็นพืชที่ให้น้ำมันมาก ดังนั้น ควรใส่แมกนีเซียมมากหน่อย สูตรที่จะแนะนำก็คือ12-12-17-2 แต่ว่าค่อนข้างหายากในตลาดบ้านเรา จึงต้องมีการปรับมาใช้สูตร 13-13-21 หรือ สูตร 15-15-15 แล้วก็เติมด้วย 0-0-60 แล้วตามด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ส่วนระยะเวลาใส่ก็ต้นละ 2-3 ครั้ง ต่อปี อีกอย่างหนึ่งสำหรับขี้หมูคือว่าถ้าจะให้ดีควรหมักไว้ก่อน แล้วขี้หมูที่นำไปทำไบโอแก๊สแล้วจะเป็นการหมักโดยอัตโนมัติ เพราะในขี้หมูมีเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ช่วยในการสังเคราะห์แสง มันก็จะสร้างฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ชื่อ ALA ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวใหม่ที่ทางญี่ปุ่นขายชื่อเพนตาดีฟ มีราคาแพงมาก เป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืช ดังนั้น ถ้านำน้ำขี้หมูหมักไปพ่นหรือไปรด บรรดาพืชที่ให้แป้งทั้งหลายก็จะทำให้เกิดการงอกงามดี และให้ผลผลิตสูง

นอกจากนั้นแล้ว การใส่ปุ๋ยยังทำให้มะพร้าวให้จั่นถึงปีละ 16 จั่น ถ้าเราพูดถึงมะพร้าวน้ำหอมนั้น จะเก็บทุกๆ 20 วัน จากสวน สมมุติว่าเราได้ 4 บาท คนเก็บอาจจะได้สัก 1 บาท ทั้งเก็บและขนไปให้ล้ง ล้งก็นำมาตัดแต่ง เฉือนให้มีรูปทรงเหลี่ยม และก็จุ่มน้ำยา หุ้มด้วยพลาสติค อยากจะบอกผู้ร่วมสัมมนาว่าในครั้งนี้มีบุคคลที่เก่งและชำนาญด้านวิชาการหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน ส้ม หรือกล้วย ผมอยากจะแนะนำให้รู้จักกับท่านอาจารย์ ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิช ท่านเป็นอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้ ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และท่านก็ได้มาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งอีกสักครู่จะเชิญท่านมาพูดคุย ตลอดจนให้ความรู้ในแง่มุมต่างๆ ของมะพร้าว

ส่วนตลาดของมะพร้าวน้ำหอมก็ยังมีโอกาสอีกมากมายในช่วงนี้ เพราะดูจากตลาดแล้ว สหรัฐอเมริกา ที่ตะวันออกกลางก็กำลังเริ่ม ที่ไต้หวันก็มีอยู่และราคาแพงมาก ตกลูกละ 120 บาท เพราะที่ไต้หวันปลูกมะพร้าวได้น้อย ผมมีข้อมูลด้านมะพร้าวมาก มีข้อมูลจากที่อินเดีย และที่บราซิล และน้ำมะพร้าวก็มีข้อดีหลายอย่าง น้ำมะพร้าวมีโพแทสเซียมสูง ยิ่งถ้าเหนื่อยๆ มาแล้วมาดื่มน้ำมะพร้าวจะรู้สึกสดชื่นทันที แต่ท่านที่เป็นเบาหวานอยู่ก็ไม่ควรดื่มมาก แต่เหมาะสำหรับท่านสุภาพสตรีที่อยู่ในวัยทองจะช่วยได้มาก เพราะน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเพศเมื่อดื่มแล้วผิวพรรณจะดี

ในประเทศไทยเราได้มีการส่งน้ำมะพร้าวอ่อนไปขายที่ไต้หวัน เกาหลี มะพร้าวแก่ก็ทำได้เหมือนกัน แต่จะต้องทำการปรุงรสชาติเพิ่มเติมเล็กน้อย คราวนี้ลองมาดูว่าน้ำมะพร้าวแก่สามารถนำไปทำอะไรได้อีก ก็ขอบอกว่าในน้ำมะพร้าวแก่นั้นมีฮอร์โมนและน้ำตาล ฮอร์โมนที่มีก็เป็นฮอร์โมนคนและพืช ในประเทศฟิลิปปินส์ได้มีการสกัดฮอร์โมนออกมา ส่วนในไทยก็นำน้ำมะพร้าวแก่มาหมัก เอาจุลินทรีย์ที่ใช้ เช่น พด.6 ผสมขี้ค้างคาวเล็กน้อย แล้วนำไปพ่นใส่ต้นไม้ก็จะได้ผลดี หรือถ้าอยากให้ผลไม้หวานก็เติมโพแทสเซียมไนเตรต สูตร 13-0-46 ลงไปเล็กน้อย ก็จะเป็นการเสริม นอกจากนั้น ยังเป็นการทำปุ๋ยชีวภาพใช้เองด้วย

ดังนั้น น้ำมะพร้าวเป็นของที่เป็นประโยชน์มากจริงๆ ในวงการเกษตรจะนำน้ำมะพร้าวอ่อนมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะในน้ำมะพร้าวอ่อนมีไซโตไคนิน และก่อนที่ผมจะจบการบรรยายในช่วงแรก ก็อยากจะเรียนเชิญท่าน ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิช กรุณามาให้ความรู้ด้านมะพร้าว พร้อมกรุณาตอบข้อซักถามด้วย

คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา : จะเรียนถามเกี่ยวกับการที่จะเก็บหรือรักษามะพร้าว เพื่อนำไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา ขอให้ช่วยขยายความเป็นขั้นตอนตั้งแต่การเก็บไปจนถึงการนำส่งไปขายปลายทาง

ศ.ดร.จริงแท้ : จากคำถามก็อยากจะตอบว่า ขั้นตอนทุกอย่างที่จะพูดต่อไปนี้เป็นขั้นตอนที่ทำกันอยู่เป็นประจำปกติ และก็ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เริ่มต้นโดยการเก็บมะพร้าวตามอายุที่เหมาะสม ถ้าจะส่งไปที่อเมริกาเขาดื่มแต่น้ำ ไม่รับประทานเนื้อมะพร้าว ก็จะใช้มะพร้าว 2 ชั้น ถ้าเป็นของเราก็ใช้ชั้นครึ่ง เพราะเรารับประทานเนื้อด้วย เริ่มต้นโดยใช้มะพร้าว 2 ชั้น ปอกเปลือกเป็นรูปทรงตามที่วางขาย ต่อจากนั้นให้นำไปจุ่มน้ำยาซึ่งเป็นน้ำยาฟอกขาว ที่มีขนาดความเข้มข้น 1-3 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั่วๆ ไป จะใส่เกินกว่านี้และแถมยังใส่ยากันเชื้อราเข้าไปด้วย ระยะเวลาการแช่ไว้ก็ประมาณ 3 นาที เสร็จแล้วนำไปห่อหุ้มด้วยพลาสติคที่ใช้สำหรับห่อผลไม้ จากนั้นก็นำไปบรรจุลงกล่อง ซึ่งกล่องที่บรรจุจะต้องเก็บรักษาอุณหภูมิที่ประมาณ 2-4 องศา ก็จะสามารถอยู่ได้ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งวิธีที่กล่าวมาข้างต้น เป็นวิธีที่ทำอยู่ทั่วไปที่ได้มาตรฐาน

แต่เท่าที่ได้ศึกษามาและมีการไปสังเกตการปฏิบัติก็พบว่า มีการทำเกินไปกว่านี้ โดยใช้ทั้งสารฟอกสีและยากันเชื้อรา ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นยากันราไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะสารฟอกสีอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว เพียงแต่ว่าเวลาท่านปฏิบัติขอให้ละเอียดเล็กน้อย เวลาไปดูบางโรงงานก็ไม่ได้ทำอย่างที่กำหนด ตัวอย่าง เวลาจุ่มน้ำยาที่มีการกำหนดไว้ 3 นาที แต่ผู้ปฏิบัติมีการจุ่มแช่ไว้ตั้งแต่ 1 วินาที จนบางครั้งถึง 15 นาที ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเวลาคนปอกเมื่อปอกเสร็จก็ใส่ที่แช่น้ำยา แล้วจากนั้นก็จะมีคนมายกมะพร้าวที่แช่น้ำยานำไปห่อ คราวนี้เมื่อคนปอกเสร็จแล้วไปแช่น้ำยาซึ่งมะพร้าวแต่ละลูกจะแช่ไม่พร้อมกัน บางลูกเพิ่งแช่ บางลูกแช่ไว้นานแล้ว หากหยิบลูกที่เพิ่งแช่ไปห่อแล้วก็จะทำให้น้ำยายังไม่ซึมก็จะมีผลต่อการเกิดเชื้อราในภายหลัง หรือบางครั้งคนยกก็ไปนั่งพักทำให้มะพร้าวที่แช่อยู่ในน้ำยานานเกินไป จนทำให้น้ำยาซึมเข้าไปในเนื้อและน้ำ ซึ่งเมื่อส่งไปที่อเมริกาและได้มีการตรวจพบก็จะเสียชื่อ เพราะมีสารตกค้างเกิน ซึ่งในอนาคตอาจถูกพิจารณาห้ามนำส่งเข้าก็ได้ ซึ่งผู้ส่งออกเองก็ไม่สบายใจในเรื่องดังกล่าว

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการเข้มงวดให้ละเอียดว่า ควรแช่ตามมาตรฐานที่กำหนดก็พอแล้ว แต่เมื่อได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดแล้วไม่จำเป็นต้องถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอ เพราะหากใช้มากโอกาสที่จะตกค้างก็มีสูง อันที่จริงสัก 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วใส่เกลือลงไปสัก 4 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำงานใกล้เคียงกัน อาจจะด้อยกว่าเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร ก็จะสามารถลดการเกิดเชื้อราได้ และก็ไม่ต้องใช้ยากันเชื้อรา

คราวนี้ถ้าหากเราไม่ต้องการสารที่อาจเป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างประเทศแถบอเมริกา เพราะเป็นชนชาติที่แพ้สารดังกล่าวได้ง่าย ดังนั้น ควรจะใช้อย่างอื่นแทนซิตริกแอซิด หรือกรดมะนาว สัก 2.5 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับวิตามินซี สัก 2-3.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเปอร์เซ็นต์ที่เป็นสัดส่วนอาจมีการปรับเองตามความเหมาะสม แต่หลักๆ ก็ควรอย่างละ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถช่วยลดการเกิดสีน้ำตาลและการเกิดเชื้อราบนมะพร้าวได้ แต่ทั้งสองตัวอาจช่วยในเรื่องการลดสีน้ำตาล แต่การควบคุมโรคอาจไม่ค่อยดี ซึ่งถ้าหากไม่ใช้เวลาเดินทางนานนักก็คงไม่เกิดโรค

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็พยายามที่จะลดสารเคมีให้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้ว บางคนก็ไม่ใช้สารเคมีเลยก็มี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเดี๋ยวนี้นิยมหันไปหาธรรมชาติกันมาก วิธีการทำได้คือ การทำมะพร้าวให้แห้ง เพราะมะพร้าวถ้าหากชื้นแล้วมันก็จะเป็นราได้ ทำอย่างไร ไม่ให้เกิดเชื้อราก็ต้องทำให้แห้ง และสามารถทำโดยปอกมะพร้าวออกให้หมดให้เหลือแต่กะลา ที่ตรงจุกก็ให้เหลือน้อยที่สุด และที่ตรงจุกที่เป็นตาสามตาจะเป็นที่เกิดเชื้อโรคเข้าได้ง่าย จึงต้องทำบริเวณนั้นให้แห้งเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราเข้าและเจริญเติบโตเข้าโดยง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะหาวิธีเอง จึงขอย้ำว่าจุดอ่อนก็อยู่ตรงที่ตาสามตา ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้า

แต่ทุกวันนี้เวลาปอกมะพร้าวบริเวณที่แหลมๆ คือ ก้น ซึ่งไม่มีตา ส่วนฐานที่วางอยู่กับพื้นที่มีตาสามตาซึ่งเชื้อราก็จะเกิดที่ฐาน ก็มีคำถามว่า จะกลับหัวได้ไหม? คำตอบคือ หนึ่ง มันปอกยาก และสองมันจะมีรูหรือมีโพรงอยู่บริเวณนั้น ซึ่งถ้าหากปอกตรงที่หัวแหลมที่มีโพรงอยู่ก็อาจจะดูไม่สวย แล้วเวลามันสูญเสียน้ำแล้วมันจะแห้งไปก็อาจจะเห็นเป็นโพรงๆ ดูไม่สวย แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้วคงไม่มีเชื้อรา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้มีการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรม เพียงแต่เป็นการเล่าให้ฟังหรือเป็นแนวทางของการที่พยายามจะคิดนอกกรอบเท่านั้น

คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา :

1. ขี้เกลือ หรือขี้แดด นำมาใช้กับมะพร้าวได้หรือไม่ จะมีประโยชน์มาก/น้อยเพียงใด รวมถึงอัตราส่วน ควรเป็นเท่าไร

2. ถ้าหากปลูกมะพร้าวแต่อยู่ห่างแหล่งน้ำ เช่น คลอง หรือบ่อ ควรจะให้น้ำอย่างไร จึงจะเหมาะสม

อาจาร์ยประทีป : เรื่องขี้แดดนาเกลือ หรือที่เรียกว่าหนังหมา แต่เดิมขายจากนาเกลือ กิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งเดิมทีเขาทิ้งกัน ปรากฏว่าในนั้นมีส่วนประกอบของแมกนีเซียมและโพแทสเซียมส่วนหนึ่ง และมีพวกสาหร่าย ซึ่งให้ฮอร์โมนไซโตไคนินอยู่ส่วนหนึ่ง ทีนี้ในเขตสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ก็นำไปขาย ถ้ามีใครที่สนใจจะหาซื้อง่ายๆ ก็จะมีอยู่ที่สันติอโศก ที่นครปฐม

ใช้ได้ดีกับพืชชนิดใดบ้าง ก็จะมีมะพร้าว ส้มโอ เพราะมีเกลืออยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งพืชชนิดดังกล่าวชอบเกลือ สำหรับอัตราส่วนนั้นใส่ต้นละประมาณ 3 กิโลกรัม แต่ราคาขณะนี้ล่าสุดอยู่ที่ 8 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนอีกคำถาม ขอตอบว่า มะพร้าวเป็นพืชที่ชอบน้ำ ซึ่งหากนำไปปลูกที่ดอนและขาดน้ำก็จะให้ลูกยาก มีให้แต่จั่น แต่ไม่ติดลูก ก็จะเห็นแต่ใบมะพร้าว

ในช่วงแรกนี้ อาจารย์ประทีปขอจบการบรรยายและการซักถามไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน โปรดติดตามรายละเอียดได้ต่อในฉบับหน้า

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 469
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM