เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"สวนจาก" พืชเลี้ยงชีวิต เลี้ยงเศรษฐกิจชุมชน
   
ปัญหา :
 
 
ต้นจาก พืชตระกูลปาล์ม ชอบขึ้นในที่ราบลุ่มแม่น้ำ และมีน้ำกร่อย น้ำเค็มท่วมถึงในบางฤดู อย่างเช่น ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนัง เกษตรกรทำมาหากิน โดยใช้ผลผลิตจากสวนจาก เป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวและเลี้ยงชุมชนมาหลายชั่วอายุคน สินค้าหลักคือ "น้ำตาลจาก" ที่เป็นสารตั้งต้นของอาหารแปรรูปหลากหลายชนิด

คณะทำงานประชาสัมพันธ์ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้นัดหมายกับเกษตรอำเภอปากพนัง (คุณวิจิตร นวลพลับ) และคณะ ให้ช่วยประสานงานกับเกษตรกรที่ทำสวนจาก ในอำเภอปากพนัง เพื่อเก็บข้อมูลมาเผยแพร่เมื่อหลายวันก่อน คณะได้เดินทางถึงบ้านป่าขลู่ หมู่ที่ 2 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. โดยมีคณะผู้นำชุมชนคอยต้อนรับ นำโดย ผู้ใหญ่เจริญ ชื่นสระ ผู้ใหญ่บ้าน คุณปรีชา แก้วกาญจน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คุณสุชาติ สระศรีสุวรรณ ส.อบต.ขนาบนาก คุณหมูแม้ ศรีนุ่นวิเชียร ปราชญ์ชาวบ้าน และเกษตรกรผู้ทำสวนจากอีกหลายคน ต้อนรับกันตามธรรมเนียม ก่อนนำคณะลงแปลงดูวิถีชีวิตการเก็บเกี่ยวน้ำหวานจาก ถึงในแปลงของเกษตรกร คณะทำงานได้เก็บภาพขั้นตอนการผลิตน้ำตาลจาก ที่สำคัญๆ เสร็จพร้อมๆ กับที่เจ้าของแปลงเก็บเกี่ยวน้ำหวานเสร็จและนำมารวบรวม ณ โรงเตา คณะทำงานก็ได้เดินทางมาสมทบกันที่ศาลาโรงเตา ดูขั้นตอนการปฏิบัติไปพลาง เปิดวงคุยกันไปพลาง จนได้ข้อมูลที่น่าสนใจและนำมาเสนอดังต่อไปนี้

คุณปรานี สงดำ หญิงแกร่ง วัย 62 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ที่ 2 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง ได้เล่าให้คณะฟังว่า ตนเองสืบทอดการทำสวนจาก มาจากรุ่นพ่อ ซึ่งมีอายุสวนประมาณ 100 ปี ตนมีสวนจากจำนวน 20 ไร่ เริ่มทำมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ขณะนี้อายุ 62 ปี รวมประสบการณ์ 44 ปี โดยคุณปรานีเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนต่างๆ พอลำดับได้ดังนี้

1. การจัดการสวนจาก ในพื้นที่ 20 ไร่ จะใช้วิธีการจัดการสวนแบบหมุนเวียน แบ่งพื้นที่ใช้ ครั้งละ 5 ไร่ เก็บเกี่ยวน้ำหวาน 3-4 เดือน จึงเปลี่ยนไปใช้แปลงถัดไป การหมุนเวียนดังกล่าวจะเป็นการพักฟื้นแปลงไปในตัวซึ่งจะเหมาะกับแรงงานที่มีเพียง 2 คนในครอบครัว

2. การเลือกต้นและทะลายที่จะใช้ ต้นอายุอย่างน้อย 7 ปี เลือกทะลายที่มีความสมบูรณ์ ก้านทะลายใหญ่ยาว ผลอยู่ในระยะผลอ่อน ใน 1 กอ จะเลือกเอา 2 ทะลาย

3. การเตรียมงวง เมื่อเลือกทะลายเสร็จแล้ว ทำความสะอาดพื้นที่ ตัดแต่งกาบก้านทะลาย และใช้ไม้ตะพดตีที่บริเวณกลางๆ ก้านทะลาย เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำหวาน โดยตีวันละ 1 รอบ รอบละประมาณ 50 ครั้ง ตี 5 วัน ติดต่อกัน พักไว้ 15 วัน แล้วกลับมาตีต่ออีก 5 วัน

4. การปาดงวง โดยใช้มีดทับที่มีความคมมากๆ ลักษณะคล้ายเคียว นำมาตัดทะลายออกให้เหลือเฉพาะก้านทะลาย หลังจากปาดงวง จะมีน้ำหวานไหลออกมา แล้วใช้กระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำหวาน หลังจากนั้นจะต้องปาดหน้างวงทุกเช้าเย็น จนกว่าจะหมดงวง

5. การรองรับน้ำหวาน เกษตรกรจะต้องเตรียมกระบอกไม้ไผ่ไว้ให้เพียงพอกับปริมาณงวงที่ทำ ก่อนนำกระบอกไม้ไผ่ไปใช้จะต้องล้างทำความสะอาด ลวกฆ่าเชื้อ และวางเอียงคว่ำให้สะเด็ดน้ำก่อน นำสะเก็ดเนื้อไม้เคี่ยม จำนวน 1 หยิบมือ ใส่ลงในกระบอกเพื่อช่วยกันบูด ก่อนนำกระบอกไปรองรับน้ำหวาน

6. การเก็บเกี่ยว ทุกๆ วัน ระหว่างเวลา 11.00-12.00 น. จะเป็นช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวน้ำหวานทุกต้น ทุกงวง จะถูกเก็บมารวบรวมที่โรงเตา โดยใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง

7. การเคี่ยวน้ำหวาน หลังจากเก็บเกี่ยวน้ำหวานมารวมที่โรงเตา จะต้องเริ่มขั้นตอนการเคี่ยวทันที โดยการนำน้ำหวานจากทุกกระบอกมาผ่านตะแกรง เพื่อกรองสิ่งเจือปนออก นำลงกระทะใหญ่และติดไฟเพื่อเคี่ยวน้ำหวาน เคี่ยวนาน 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมง ก็จะได้น้ำตาลปึก ที่พร้อมจำหน่ายได้ โดยเฉลี่ยน้ำหวาน 6 ปี๊บ จะได้น้ำตาล 1 ปี๊บ ซึ่งกำลังการผลิตของคุณปรานี จะผลิตน้ำตาลได้ประมาณวันละ 1 ปี๊บ

8. ต้นทุนการผลิต และรายได้ในการผลิตน้ำตาล 1 ปี๊บ จะต้องใช้ต้นทุนเป็นค่าปี๊บ ค่าไม้เคี่ยมและค่าฟืน ประมาณ 130 บาท ส่วนค่าแรงงาน และค่าเสื่อมราคาของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ได้คิด เมื่อขายน้ำตาลได้ปี๊บละ 900 บาท จะมีกำไรเบื้องต้นประมาณ 700 บาทเศษ

9. ปัญหาอุปสรรค ที่พบนับว่าน้อยมาก อาจจะมีหนู หรือกระรอก มากัดแทะกระบอกน้ำหวานบ้าง ไม้เคี่ยมหาซื้อยาก และปัญหากระทบแล้งในบางฤดูทำให้ได้น้ำหวานน้อย

10. การตลาด นับว่าลู่ทางดีมาก เพราะน้ำตาลจากจะนำไปใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบอาหารหลายชนิดมาก โดยเฉพาะส่วนผสมของขนมพื้นเมืองต่างๆ ในช่วงวันสาร์ทเดือนสิบ ขนมทั่วไป และเป็นวัสดุตั้งต้นที่สำคัญของสุรากลั่น ที่ใช้กันแพร่หลายมาก

คุณอรุณ สังข์สิงห์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ผู้รับผิดชอบตำบลขนาบนาก บอกว่า ขณะนี้พื้นที่สวนจาก ทั้งที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติ และที่เกษตรกรปลูกขึ้น ในตำบลขนาบนาก ประมาณ 7,500 ไร่ ผู้ถือครองทั้งหมดเป็นเกษตรกรในพื้นที่ ใช้ประโยชน์ทั้งจัดการเองและให้เพื่อนบ้านเช่า ทำน้ำตาลจาก

ส่วนคณะผู้นำชุมชน ร่วมกันให้ข้อมูลว่า การทำสวนจาก นับเป็นอาชีพที่อยู่คู่วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำปากพนังนับหลายร้อยปี และจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนตลอดไป เพราะทุกส่วนของต้นจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ยอดอ่อนนำมาตากแห้งขายเป็นใบจากมวนยาสูบ ใบแก่ใช้ทำวัสดุมุงหลังคา ใช้ห่อขนม ทางใบใช้ทำเชื้อเพลิง ช่อดอก ดอกอ่อน และผลอ่อนใช้ประกอบอาหาร ผลแก่ใช้ทำเชื้อเพลิง ฯลฯ คนในชุมชนมีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสวนจาก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทุกคนจึงช่วยกันอนุรักษ์ป่าจาก ไม่ทำลาย ไม่ขายที่ดิน ส่งเสริมการปลูกเพิ่ม พยายามขยายแนวคิด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย พัฒนาคุณภาพ ความสะอาดปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากขึ้น ขณะนี้มีรายได้เข้าชุมชนไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้านบาท นอกจากจะมีพ่อค้ามารับซื้อจากจังหวัดพัทลุง นราธิวาส กระบี่ และจังหวัดอื่นๆ และการนำน้ำตาลไปเป็นส่วนประกอบอาหารต่างๆ แล้วคนในชุมชนยังได้ร่วมกันคิดพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตสุรากลั่นในพื้นที่ถึง 8 โรง เป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี

ท่านใดสนใจจะศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนจาก หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่เจริญ ชื่นสระ โทร. (081) 958-3201 หรือคุณปรานี สงคำ โทร. (087) 275-5247 ได้ทุกวัน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครศรีธรรมราช
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคใต้
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 469
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM