เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
"กันติกานต์" กับความสำเร็จของการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้า (ตอน 1)
   
ปัญหา :
 
 
"ผมไม่จบการศึกษาทางด้านการเกษตร ความรู้จากการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่ทำให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ ครูและแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อของผมเอง ที่บังคับให้ผมศึกษาและปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเรียนอยู่ ป.3 จากนั้นก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตลอดมา ช่วงรับราชการเมื่อย้ายงานไปจังหวัดต่างๆ จะมีเรือนเพาะชำกล้วยไม้เล็กๆ ตามไปด้วย" นี่คือ คำพูดของ คุณเกรียงศักดิ์ เหมินทร์ เจ้าของสวนกล้วยไม้กันติกานต์ บ้านเลขที่ 93/15 ถนนฝั่งสถานีรถไฟ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (081) 474-7755, (081) 498-8585 ปัจจุบัน คุณเกรียงศักดิ์ เกษียณอายุราชการจากงานเร่งรัดพัฒนาชนบท มาทำสวนกล้วยไม้ในพื้นที่ 2 ไร่เศษ โดยพื้นที่ทำสวนกล้วยไม้ติดกับแม่น้ำน่าน สวนกล้วยไม้กันติกานต์จะปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้าเป็นหลัก และมีชื่อเสียงมากในการเลี้ยงกล้วยไม้ "ฟ้ามุ่ย" จนได้รับรางวัลในการประกวดหลายครั้งและจัดเป็นสวนกล้วยไม้สกุลแวนด้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือตอนล่าง คุณเกรียงศักดิ์ ย้ำว่า พื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่างเหมาะที่จะปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้า แต่ถ้าจะปลูกกล้วยไม้ในสกุลหวายจะต้องพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะที่เขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฯลฯ และถ้าจะปลูกกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอปซิสในเชิงพาณิชย์จะต้องปลูกในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เนื่องจากต้องการความหนาวเย็น



หลักการเลี้ยงกล้วยไม้ของสวนกันติกานต์


คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า เกษตรกรและผู้สนใจที่คิดจะเลี้ยงกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์มักจะตั้งโจทย์เริ่มต้นว่า ปลูกเลี้ยงยากทำให้เกิดความท้อเสียก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วกล้วยไม้จัดเป็นไม้ดอกที่ปลูกเลี้ยงง่าย เพียงแต่ "มีน้ำใจให้เขาเท่านั้นเอง" หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ คือ เริ่มต้นจากใจรัก แล้วค่อยๆ เรียนรู้ไป ความหมายของน้ำใจก็คือมีการเอาใจใส่ ให้ปุ๋ย ให้น้ำ อย่างสม่ำเสมอ อย่างกรณีของกล้วยไม้ฟ้ามุ่ย ถ้าเป็นเกษตรกรทั่วไปจะเลี้ยงและให้ดอกเพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่ที่สวนกันติกานต์มีการบำรุงและดูแลรักษาอย่างดี จะให้ดอกได้ถึงปีละ 3 ครั้ง

กล้วยไม้แวนด้า "ฟ้ามุ่ย" จัดเป็นแวนด้าประเภทใบแบน ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงประเทศใกล้เคียงคือ อินเดีย พม่า และสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ สำหรับประเทศไทยพบมากที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และกาญจนบุรี ในธรรมชาติจะพบอยู่บนภูเขาสูง สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,100 เมตร "ฟ้ามุ่ย" จัดเป็นกล้วยไม้เมืองร้อนและจัดเป็นแวนด้าที่มีดอกใหญ่ ก้านช่อยาวและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้



ขั้นตอนการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าให้ได้คุณภาพดี

ที่สวนกล้วยไม้กันติกานต์ส่วนใหญ่จะเลี้ยงกล้วยไม้ลูกผสม รวมทั้งที่ผสมพันธุ์เองด้วย ซึ่งกล้วยไม้สกุลแวนด้าลูกผสมที่ผสมขึ้นมาเองนั้น จะมีทั้งดีและไม่ดี คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ลักษณะของกล้วยไม้แวนด้าลูกผสมที่มีลักษณะที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้ "ก้านช่อจะต้องมีขนาดใหญ่และยาว กลีบดอกจะต้องแข็ง บานทน อย่างน้อย 1 เดือน ขึ้นไป"

จากภาพรวมของเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไม้สกุลแวนด้า ส่วนใหญ่จะสรุปภาพรวมของลักษณะที่สำคัญ ดังนี้

1. ก้านช่อแข็งและยาว

2. ก้านดอกสั้น ทำมุมกับก้านดอก 30-45 องศา โดยดอกที่ทำมุม 45 องศา จะเป็นดอกที่ดีกว่าดอกที่ทำมุมน้อยกว่า

3. มีสีดอกสดใส ไม่ควรมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเจือปน

4. ความหนาของดอกดี ผิวพรรณสดใสเป็นประกาย

5. ฟอร์มดอกดี

6. ความดกและมีจำนวนดอกมาก

สำหรับเกษตรกรที่จะปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าในเชิงพาณิชย์ และต้องการไม้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ จะต้องเริ่มต้นจากการผสมพันธุ์จนฝักแก่ จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน และเอาเมล็ดไปเพาะอีก 2 เดือน รวมเวลาเป็น 8 เดือน และนำไปเลี้ยงในขวดอีกประมาณ 3 เดือน รวมเวลาเริ่มจากผสมพันธุ์มาถึงเลี้ยงในขวดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังออกจากขวดนำมาเลี้ยงในโรงเรือนที่มีสภาพแวดล้อมและฝนฟ้าอำนวย คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า จะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะเริ่มเห็นดอก หลังจากนั้น จะต้องดูหน้าตาของดอกว่าเป็นอย่างไร ตั้งแต่ดอกแรกมาจนถึงช่อดอกที่ 2 และช่อดอกที่ 3 จะต้องดูความนิ่ง ถ้าพอใจว่าเป็นที่ต้องการของตลาดก็จะนำไปจ้างเขาปั่นตา เพื่อนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์ต่อไป



"ฟ้ามุ่ย" นำไปผสมพันธุ์กับแวนด้า

สายพันธุ์จะคงลักษณะของฟ้ามุ่ย


คุณเกรียงศักดิ์ เล่าถึงการผสมพันธุ์กล้วยไม้ที่ผู้เลี้ยงกล้วยไม้แวนด้ามักจะนำเอาไปผสมพันธุ์ก็คือ ฟ้ามุ่ย เมื่อผสมพันธุ์ได้กล้วยไม้ลูกผสมจะคงลักษณะของฟ้ามุ่ยไว้คือ ส่วนของลายที่กลีบดอกคือ "ลายสมุก" ลายสมุกของฟ้ามุ่ยที่ดีจะต้องเป็นระเบียบ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของลายสมุกทำให้คุณเกรียงศักดิ์จะมีความชื่นชอบฟ้ามุ่ยเป็นพิเศษ ฟ้ามุ่ยมีจุดด้อยอยู่ประการเดียวตรงที่ก้านเล็ก

วิธีการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้า ในหนังสือ "ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จากประสบการณ์" (ความลับนอกเหนือตำรา) ที่รวบรวมและเรียบเรียงโดย คุณสมศักดิ์ รักไพบูลย์สมบัติ ในบทความเรื่อง "การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ในกลุ่มสกุลแวนด้า" ซึ่งเขียนโดย คุณคีรีทร วสุวัต ได้อธิบายถึงวิธีการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าอย่างง่ายๆ ดังนี้ ถ้าปลูกเลี้ยงอยู่ในร่มมากจะไม่ค่อยงาม เนื่องจากยอดจะอ่อน ใบยาว และตายง่าย ถ้าโดนแดดเล็กน้อยจะแข็งแรง วิธีการย้ายปลูกให้ดูรากที่กระถาง ถ้ารากพันกระถางแล้วให้ย้ายปลูกได้ ก่อนถ่ายกระถางเปลี่ยนเครื่องปลูกให้เอาไปใส่ถาดแขวนได้ เอาวัสดุปลูก เช่น ออสมันด้าออกบ้าง เมื่อได้กล้วยไม้ที่ใส่ถาดแล้ว ให้ดูว่าต้นตั้งตรงแข็งแรงแล้วจึงเอาไปถ่ายใส่กระถาง วิธีการถ่ายกระถางที่ถูกต้องให้นำไปแช่น้ำ โดยดึงเอาวัสดุปลูก เช่น ออสมันด้า มาตรวจดูว่ามีเชื้อราหรือไม่ ถ้าพบให้แยกออกต่างหาก แล้วจึงนำลงกระเช้าได้ โดยการดึงออสมันด้าเดิมที่มีอยู่แล้วออก แล้วใช้ฟิวส์อ่อนมัดกับก้นกระเช้า ตรึงต้นให้แน่น อย่าให้ต้นเคลื่อนไหว เมื่อต้นกล้วยไม้ติดแล้วนำไปแขวนในโรงเรือน โดยหันปลายด้านหนึ่งไปทางทิศตะวันออก อีกด้านหนึ่งไปทางทิศตะวันตก

สำหรับการปลูกกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์นั้น คุณเกรียงศักดิ์ บอกว่า ชนิดของ "ซาแรน" หรือตาข่ายพรางแสง มีความสำคัญมาก ในแต่ละอายุของกล้วยไม้สกุลแวนด้าจะใช้ซาแรนที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ไม้เล็กตั้งแต่ออกจากขวดเลี้ยงจนมีอายุต้นได้ 1 ปี จะใช้ซาแรนสีดำพรางแสง 70% รับแสงแดดเพียง 30% สำหรับไม้ใหญ่ของกล้วยไม้สกุลแวนด้า จะใช้ซาแรน 60% แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ไทยและกล้วยไม้สกุลแคทลียาจะใช้ตาข่ายพรางแสง 50%



การให้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ในสกุลแวนด้า

ตามหลักวิชาการกว้างๆ เมื่อพบว่า ใบของแวนด้ามีสีเขียวจัดนั้น แสดงว่าได้รับปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงหรือปลูกเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ร่มจัด คือได้รับแสงแดดไม่พอเพียง ในการให้ปุ๋ยจะต้องดูแสงประกอบ ถ้าแสงแดดมาก ลมดี ก็ให้ปุ๋ยมาก กล้วยไม้เล็กควรเน้นปุ๋ยสูตรเสมอ เมื่อต้นกล้วยไม้มีจำนวน 6-7 ใบ แสดงว่าต้นกล้วยไม้ใกล้จะมีดอกแล้วจะต้องเปลี่ยนสูตรปุ๋ย ใช้นูตราฟอส ซุปเปอร์-เค

สำหรับการให้ปุ๋ยกับกล้วยไม้สกุลแวนด้าของสวนกันติกานต์นั้น จะเน้นการฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ดทางใบ โดยเลือกสูตรปุ๋ยที่ฉีดพ่นตามหลักการทั่วไปคือ ถ้าเร่งการเจริญเติบโตจะเลือกสูตรที่มีไนโตรเจนสูงหรือสูตรเสมอ แต่ถ้าเร่งดอกจะเน้นฟอสฟอรัส และถ้าเน้นสีของดอกจะเน้นโพแทสเซียม เช่น นูตราฟอส ซุปเปอร์-เค แต่สูตรปุ๋ยทางใบที่สวนกันติกานต์ใช้ฉีดพ่นในแต่ละครั้งจะต้องมีอัตรารวมกันของธาตุหลักไม่ต่ำกว่า 60 เช่น ฉีดพ่นปุ๋ยเกล็ด สูตร 21-21-21 มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมกันเท่ากับ 63

คุณเกรียงศักดิ์ ได้ย้ำถึงหลักการที่สำคัญในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้สกุลแวนด้าว่า จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของไม้สกุลนี้ รากและใบมีความสำคัญเท่าเทียมกัน รากมีหน้าที่จับธาตุอาหาร อาหารจากอากาศ เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสจากน้ำ ส่วนใบจะมีหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง เมื่อส่วนของรากไม่สะอาดจนอุดตันไม่สามารถรับธาตุอาหารได้ โดยเฉพาะการอุดตันจากปัญหา "ตะไคร่น้ำ" การแก้ปัญหาตะไคร่น้ำของเกษตรกรทั่วไป จะใช้วิธีการฉีดพ่นน้ำด้วยแรงดันสูง แต่ที่สวนกันติกานต์ได้มีการใช้สารป้องกันและกำจัดเชื้อรา ที่มีชื่อว่า "อโรไซด์" หรือที่มีชื่อสามัญว่า แคปแทน ฉีดพ่นเมื่อพบปัญหาเรื่องตะไคร่น้ำ นอกจากนั้น ยังพบว่าในการฉีดพ่นสารอโรไซด์ในกล้วยไม้สกุลช้างทั้งหลาย นอกจากจะป้องกันและกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อราและฆ่าตะไคร่น้ำได้แล้ว ยังพบว่ารากของกล้วยไม้สกุลช้างแทงออกมาใหม่ได้เร็วมาก



การบำรุงรักษากล้วยไม้ส่งประกวด

แตกต่างจากกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้ขาย

สวนกันติกานต์ ได้รับรางวัลจากการส่งกล้วยไม้เข้าประกวดหลายรางวัล และที่ภูมิใจที่สุดคือ ชนะเลิศ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากงานพืชสวนโลก ในงานราชพฤกษ์ 2008 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากการส่งกล้วยไม้แวนด้า วาสโค ประภาวรรณเข้าประกวดและได้อีกหลายรางวัล จนปัจจุบันทางผู้จัดงานประกวดกล้วยไม้ต่างๆ ขอให้สวนกันติกานต์หยุดส่งกล้วยไม้เข้าประกวด และให้คุณเกรียงศักดิ์มาทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน



ข้อคิดของเกษตรกรและผู้สนใจ

จะทำสวนกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์


คุณเกรียงศักดิ์ มักจะให้คำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่คิดจะทำสวนกล้วยไม้ในเชิงพาณิชย์ ควรจะเริ่มต้นด้วยการซื้อต้นจากสวนต่างๆ ไปขายก่อน กล่าวง่ายๆ คือ ซื้อมา-ขายไป พร้อมกันนั้นให้เริ่มต้นซื้อกล้วยไม้ต้นเล็กมาทดลองเลี้ยงควบคู่ไปด้วย ศึกษานิสัยของกล้วยไม้ว่าเขาชอบอะไร และไม่ชอบอะไร ถ้าเริ่มต้นด้วยการซื้อไม้เล็กที่ออกจากขวดมาเลี้ยงในจำนวนมากจะมีการลงทุนที่สูงมากและมีโอกาสเสี่ยงในเรื่องของการตลาด เนื่องจากจะต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปี กว่าต้นจะออกดอกและขายได้ คุณเกรียงศักดิ์ ย้ำว่า เริ่มต้นปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไม่ต้องทำใหญ่โต ด้วยอาชีพการรับราชการของ คุณเกรียงศักดิ์ จะต้องมีการย้ายสถานที่ทำงานอยู่เป็นประจำ โรงเรือนกล้วยไม้เล็กๆ จะถูกย้ายตามไปด้วย ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เพียงแค่ 40-50 ต้น ปลูกเลี้ยงให้ออกดอก ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมาตลอดอายุการทำราชการ จนมาถึงปัจจุบัน อายุ 68 ปี



หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เงินล้าน" พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ "เทคนิคการผลิตกล้วยไม้เชิงพาณิชย์" และหนังสือ "การผลิตและการตลาดกล้วยไม้สกุลหวาย" รวม 3 เล่ม จำนวน 252 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 100 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
พิจิตร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 469
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM