เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
เกษตรกรดีเด่น-ปราชญ์อีสาน จันทร์ที ประทุมภา แนะเทคนิคปลูกผักหวานป่า
   
ปัญหา :
 
 
ทุกวันนี้ผู้คนหันมานิยมรับประทานผักหวานป่ากันมากขึ้นเรื่อยๆ แค่เมนูผัดกับน้ำมันหอยแล้วรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ก็เอร็ดอร่อยยิ่งนัก แต่ใช่จะหารับประทานได้ง่ายๆ ผิดกับผักหวานบ้าน ซึ่งปลูกกันทั่วไป สามารถหาซื้อได้ไม่ยาก แต่ถ้าเลือกได้เชื่อว่าหลายคนคงเลือกผักหวานป่ามากกว่า

วันก่อนสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เชิญเข้าร่วมสื่อมวลชนสัญจรโครงการเฉลิมพระเกียรติ "วิถีพอเพียงตามแนวพระราชดำริ" โดยพาไปชมไร่นาสวนผสมของ "คุณลุงจันทร์ที ประทุมภา" เกษตรกรดีเด่น ผู้ชนะเลิศการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประเภทเกษตรทฤษฎีใหม่ ปี 2550 อยู่ที่บ้านโนนรัง ตำบลตลาดไทร อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา และเป็นปราชญ์อีสานที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการเกษตรให้แก่ผู้สนใจที่มาศึกษาดูงาน

ทั้งนี้ ที่บ้านของคุณลุงจันทร์ทีได้จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดทฤษฎีใหม่ ปีหนึ่งๆ มีผู้คนจากทั่วประเทศมาศึกษาดูงานหลายพันคน และตัวคุณลุงจันทร์ทีเองก็ได้รับประกาศนียบัตรยกย่องคุณงามความดีจากหลายหน่วยงานของภาครัฐ

สมัยก่อนคุณลุงจันทร์ทีเป็นคนร่ำรวยคนหนึ่ง มีที่ดินเยอะแยะ แต่เมื่อใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวังฐานะก็ค่อยๆ แย่ลงๆ จนกระทั่งได้ค้นพบเส้นทางชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"เมื่อก่อนผมเป็นคนมีฐานะดีพอสมควร ชาวบ้านนับหน้าถือตา มาช่วงหนึ่งเกิดวิกฤตวิ่งตามกระแสถูกหลอกจนหมดตัว และผมทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้ขาดทุนล้มละลาย หลังจากนั้น ได้ศึกษาแนวทางทฤษฎีใหม่ของในหลวง ซึ่งพระองค์ท่านเน้นว่าต้องพยายามทำให้พอดีกับฐานะตัวเอง ลดรายจ่ายให้มากที่สุด พร้อมกับน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ และศึกษาหาความรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ได้รู้ว่าการทำเกษตร ถ้าจะอยู่รอดต้องพึ่งตนเอง และพึ่งกันเองในชุมชนให้มากที่สุด"

สำหรับหลักการพึ่งตนเองนั้น ฟังดูง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริง และต้องวางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ โดยอาจจะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนอย่างที่คุณลุงจันทร์ทีแนะนำ "ครั้งแรกไม่มีทุนเลย ต้องปลูกพืชผักสวนครัวไม้ผลไม้ยืนต้นให้ครบวงจร รายจ่ายอยู่ตรงไหนต้องคุมให้ได้ รายจ่ายก็คือ อาหาร เมื่อซื้อผักกินก็ต้องปลูกผัก ซื้อปลาก็ต้องเลี้ยงปลา ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำเอง

ในครอบครัวต้องวางแผนปรึกษาร่วมกัน ผมเริ่มขุดสระด้วยมือ ขนาด 2 งาน แล้วทำบัญชีครัวเรือน ซื้ออะไรก็ปลูกอย่างนั้นเพื่อลดรายจ่าย และทำปุ๋ยใช้เอง การทำปุ๋ยคือการไถกลบตอซังแล้วหว่านปุ๋ยพืชสด พอกำลังงามขึ้นก็ไถกลบแล้วปลูกข้าว ผมทำตรงนี้ได้รูปธรรมชัดเจนมาก ค่อยๆ ลดปุ๋ยเคมีลง จนไม่ต้องใช้เลย หลังๆ แค่ไถกลบตอซังอย่างเดียวข้าวก็งามแล้ว

สอง ลดต้นทุนในการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เก็บเกี่ยว เราต้องศึกษาหาความรู้ให้ชัดเจน ทำได้แล้วก็ขยายผลต่อไป

อย่างผมทำทุกวันนี้ เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ สอนเกษตรกรที่จะลดรายจ่ายในการขยายพันธุ์พืช เพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง ฯลฯ ถ้าทำตรงนี้ได้จะลดรายจ่ายมาก นอกจากนี้ ก็ปลูกไม้ยืนต้นสารพัดในพื้นที่ไร่นาของเรา

ต่อไปก็ลดรายจ่ายในการเลี้ยงสัตว์ ทำบ่อปลา โดยการขยายพันธุ์ปลา เพาะปลาเอง ขายตัวละ 1 บาท เพาะปลาได้แล้วถ้าเรายังซื้อหัวอาหารอยู่ ก็ลดรายจ่ายไม่ได้ วัตถุดิบนั้นก็มาจากเกษตรกรทั้งนั้น มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฯลฯ ที่ไปบดเป็นหัวอาหาร"

ในที่ดินของคุณลุงจันทร์ที จำนวน 22 ไร่นั้น มีต้นไม้หลากหลาย จริงๆ ทุกต้นล้วนมีคุณค่ามีคุณประโยชน์ทั้งสิ้น อย่างเช่นสมุนไพรต่างๆ ซึ่งจะมีป้ายบอกไว้เสร็จสรรพ มีพืชผัก มีผลไม้นานาชนิด มีบ่อปลา 10 บ่อ มีนาข้าว มีคอกเลี้ยงวัว เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ เรียกว่าถ้ามาบ้านคุณลุงจันทร์ทีแล้วอิ่มท้องได้หลายมื้อ

การปลูกพืชผักผลไม้ทั้งยืนต้นและล้มลุก การเลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์ เป็นสูตรสำเร็จของการทำไร่นาสวนผสม เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์

จุดเด่นที่สำคัญของสวนคุณลุงจันทร์ทีอีกอย่างคือ ผักหวานป่า ซึ่งกว่าจะมาถึงขั้นปลูกเพาะกล้าขายและเก็บยอดขายจนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำนั้น คุณลุงจันทร์ทีก็ลองผิดลองถูกมาพอสมควร กระทั่งได้ค้นพบเทคนิคการปลูกผักหวานป่า

"จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้ตรงนี้คือ ผักหวานป่า ทุกคนบอกว่าปลูกยากมาก แต่ก่อนผมปลูกผักหวาน 100 ต้น ตาย 100 ต้น ผมจึงค้นคว้าทำวิจัยเรื่องนี้ เทคนิคคือต้องให้มีเพื่อนมีพืชพี่เลี้ยง ดินต้องมีขยะใบไม้ทับถม ให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ย นี่คือหัวใจสำคัญ บางคนพูดว่าที่นี่สกปรก แต่ว่าสกปรกนี่คือของดี

อีกอย่างคือ การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ตอนปลูกใหม่ๆ ต้องให้น้ำสม่ำเสมออย่าให้ขาด ผักหวานจะต้องเพาะแล้วปลูก อย่าให้ข้ามปี เพาะปีนี้ ปลูกปีนี้ วิธีปลูกคือเตรียมหลุมให้ดี นำดินที่อุดมสมบูรณ์ลงในหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ผ่านไป 1 ปี รากผักหวานยาวสามารถเลี้ยงลำต้นได้ หรือเพาะในถุงพลาสติค

ผักหวานใช้เพาะเมล็ด ช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม ผลผักหวานจะสุกภายใน 1 สัปดาห์ เก็บมาล้างเอาเปลือกออก เนื้อหุ้มเมล็ดก็ล้างออก แล้วเอามาผึ่งในร่ม 2 วัน จากนั้นนำมาเพาะได้ วิธีเพาะก็ใช้ทรายความชื้น 30% เอาใส่กะละมังครึ่งฟุต เอาเมล็ดผักหวานลงแล้วเอาทรายลงทับ 2 นิ้ว แล้วใช้กระสอบที่ชื้นๆ คลุมไว้ 20 วัน เมล็ดผักหวานจะแตกเป็นรากออกมา ประมาณ 30-40 วัน จะแทงยอด ขึ้นอยู่กับความชื้น

3 ปี เก็บผลผลิตได้แล้ว กิโลกรัมละ 150-200 บาท ที่ตลาดขาย ถุงเล็กๆ 1 ขีด 20 บาท ถ้าเราปลูกได้สัก 20-30 ต้น ก็สบายแล้ว ของผมปลูกไม่ต่ำกว่า 2,000 ต้น แต่ก่อนผมวิ่งหาเงิน ตอนนี้เงินวิ่งหาผม"

อย่างที่บอกไว้ ใช่เพียงคุณลุงจันทร์ทีจะเก็บยอดผักหวานป่าขายอย่างเดียว ยังเพาะต้นกล้าขายอีกด้วย ในราคาต้นละ 20 บาท ซึ่งใครไปใครมาที่บ้านคุณลุงจันทร์ทีต่างก็ซื้อคนละหลายต้น เพราะไม่ใช่จะหาซื้อกันได้ง่ายๆ ที่สำคัญเจ้าของยังอธิบายขั้นตอนการปลูกและวิธีการบำรุงรักษาให้อย่างละเอียด ฉะนั้น ถ้าฟังแล้วอยากจะปลูกขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็สามารถทำได้เลย

"ผักหวานออกได้ตลอดถ้าจัดการเป็น การที่จะให้ผักหวานออกยอดจะต้องรูดใบแล้วให้น้ำสม่ำเสมอ พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอก ไม่ควรให้ออกยอดเกิน 3 เดือน เก็บแค่ 3 เดือน แล้วปล่อยไว้ แล้วไปเก็บต้นอื่น แต่ถ้าเก็บทั้งปีจะเฉาตาย ต้องให้เวลาพักฟื้นบ้าง

วิธีการคือ เราสร้างป่าขึ้นมาก่อน ถ้ามีที่ว่างเราต้องปลูกไม้โตเร็ว มะรุม มะขามเทศ ปลูกคู่กับผักหวาน ปลูกให้มันคลุมดิน หรือพริก มะเขือ แล้วก็ใช้วัชพืชคลุมไม่ให้แดดส่องดินจนแห้ง เราให้น้ำครั้งหนึ่งอาจอยู่ได้ถึง 1 อาทิตย์ ถ้าไม่มีต้นไม้วันเดียวก็แห้ง

ตอนนี้มีผักหวานประมาณ 2,000-3,000 ต้น เฉพาะยอด ถ้าต้นละ 1 ขีด กิโลละ 200 บาท อีก 3 ปีข้างหน้าผมก็อยู่ได้เพราะผักหวานอย่างเดียว ขณะนี้มีต้นกล้าปีนี้เพาะ 15,000 กล้า ขายไปแล้วเหลือ 300 ต้น ขายต้นละ 20 บาท"

นอกจากครอบครัวคุณลุงจะมีรายได้จากต้นผักหวานป่า ผัก ผลไม้ และอื่นๆ ในทุกวันและทุกเดือนแล้ว รายได้อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการนำผลผลิตในสวนมาแปรรูป อาทิ จากกล้วย จากน้ำมะพร้าว และเสาวรส รวมทั้งการเพาะกล้าไม้ขาย ซึ่งมีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะรุม ยางนา ฯลฯ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณลุงจันทร์ที ยืนยันว่าเกษตรกรทั่วไปหากใช้หลักปรัชญาพอเพียงของพระองค์ท่าน ก็สามารถอยู่ได้อย่างไม่ต้องเป็นหนี้ใคร

"ถ้าเราน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านมาใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ที่ดินมากเลย ผมทำงานวิจัยเกษตรประณีต แค่ที่ไร่เดียวสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้ เลี้ยงคนในครอบครัว 5 คน อยู่ได้สบายๆ และก็มีเงินเก็บเงินออมจากที่ไร่เดียว เริ่มจากต้องวางแผนพื้นที่ให้ดี อันดับแรกเตรียมดินให้ดีก่อน ทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพมาปรับปรุงบำรุงดิน วัตถุดิบในท้องถิ่นมีเยอะแยะ เช่น เศษวัชพืช ใบไม้ ปุ๋ยคอก แค่ 1 งาน สำหรับเพาะกล้าไม้ ปี "51 เพาะผักหวานป่าที่แค่ 1 งาน 12,000 กล้า ขายใน 5 เดือน ได้ 240,000 บาท ปีนี้เพาะ 15,000 กล้า ขายได้ 300,000 บาท อีก 1 งาน เลี้ยงปลา สามารถขายได้ 3 ครั้ง ต่อปี ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เพาะเองเลี้ยงเอง"

อย่างที่บอก บ้านของคุณลุงจันทร์ทีเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดทฤษฎีใหม่ ซึ่งเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้ตลอด และยังเป็นแหล่งฝึกอบรมเกษตรกรของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีหลักสูตรพร้อม โดยรัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้หมดในช่วงที่มาอบรม 4 คืน 5 วัน ถ้าสนใจ โทร.ติดต่อได้ที่ (089) 948-4737 รับรองกลับไปแล้วหากนำวิชาความรู้ที่ได้จากศูนย์นี้ไปใช้ในการทำเกษตรตามหลักปรัชญาพอเพียงของในหลวง จากที่เคยเป็นหนี้เป็นสิน รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เชื่อว่าย่อมปลดหนี้ได้แน่นอน

วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
นครราชสีมา
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 22 ฉบับที่ 469
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM