เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รายละเอียดงานสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย ตอนที่ 2
   
ปัญหา :
 
 
หลังจากการสัมมนาตอนแรก อาจารย์ประทีป กุณาศล ได้กล่าวถึงประโยชน์สารพัดของมะพร้าว พร้อมตอบข้อซักถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างน่าสนใจ ร่วมกับวิทยากรรับเชิญ อย่าง ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิช จากนั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านก็ได้ชิมรสหวานฉ่ำจากมะพร้าวน้ำหอม ที่ทีมงานเฉาะให้ชิมกันสดๆ หลายท่านดื่มน้ำไปพร้อมตักเนื้อมะพร้าวอ่อนอย่างเต็มที่

ชื่นใจกับมะพร้าวกันแล้วก็กลับมาอิ่มหนำกับความรู้จากประสบการณ์ตรงกันต่อ กับ คุณพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ผู้ผลิตมะพร้าวแกงอินทรีย์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มาเผยข้อมูล ในหัวข้อ "แนวทางการผลิตมะพร้าวยุคใหม่" และ ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 55 ไร่ ระยะเวลา 33 ปี มาเสริมทัพเล่าประสบการณ์การปลูกแบบชาวบ้าน แต่ได้ผลจริง โดยมี อาจารย์ประเวศ แสงเพชร นักวิชาการอาวุโส กรมวิชาการเกษตร ร่วมดำเนินการอภิปราย

อาจารย์ประเวศ : สวัสดีครับ ท่านวิทยากร ท่านผู้บริหารนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ท่านผู้บริหารนิตยสารเส้นทางเศรษฐี ตลอดจนท่านผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกท่าน เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ประทีปก็ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประโยชน์ของมะพร้าวว่ามีหลายอย่าง ผมเองอยากจะเพิ่มเติมว่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริการบุกขึ้นฝั่งที่อ่าวเลเต ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นบ้านของอีเมลดา มาร์คอส (อดีตสตรีหมายเลข 1 ของฟิลิปปินส์) ในช่วงเวลาดังกล่าวทหารอเมริกันได้ปะทะกับทหารของญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีการบาดเจ็บและต้องผ่าตัด แต่ไม่สามารถหาน้ำที่สะอาดได้ สหรัฐอเมริกาจึงได้ใช้น้ำมะพร้าวอ่อนช่วยในการผ่าตัด นอกจากนั้นแล้ว จากประสบการณ์ของผมที่ได้เจอท่านผู้สูงอายุได้ให้การแนะนำว่า สำหรับสุภาพสตรีที่ตั้งครรภ์หลังจาก 3 เดือนแล้ว ควรดื่มน้ำมะพร้าว การที่ได้ดื่มน้ำมะพร้าวนี้จะทำให้ขุยไขมันที่ติดที่ศีรษะและตามตัวของเด็กจะไม่มี ซึ่งกับลูกของผม 2 คน ก็ปรากฏเป็นจริงเช่นนั้น และที่สำคัญได้เห็นประสบมาด้วยตนเองเมื่อคนที่รู้จักกันได้ประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ล้มนิ้วมือแตก นำส่งโรงพยาบาลหมอก็จะตัด แต่คนเจ็บไม่ยอมและได้ไปพบพระ ซึ่งพระท่านก็รักษาโดยให้เข้าเฝือกไม้ไผ่แล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลม และในที่สุดนิ้วของเขาก็หายจากการบาดเจ็บ โดยไม่ต้องตัดทิ้ง ถึงแม้ว่าจะไม่หายเหมือนปกติก็ตาม

ดังนั้น จึงเห็นแล้วว่าคุณประโยชน์ของมะพร้าวมีมากมาย ซึ่งท่าน ผศ.ประสงค์ ก็จะได้มาเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ของมะพร้าวไทย นอกจากนั้น เมื่อครั้งที่ผมได้ร่วมเดินทางไปกับคณะทีมของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านไปที่ประเทศอิสราเอล ก็ได้พบเห็นว่ามีการนำเข้าขุยมะพร้าวที่บรรจุกระสอบจากประเทศศรีลังกาเป็นจำนวนมาก โดยนำไปใช้เป็นวัสดุเพื่อซึมซับน้ำ เนื่องจากประเทศอิสราเอลมีพื้นที่เป็นทะเลทราย

คราวนี้กลับมาสู่การสัมมนา ซึ่งลำดับต่อไปขอเชิญท่านได้รับข้อมูลความรู้จากท่านวิทยากร ซึ่งท่านแรกจะขอเชิญ คุณพงษ์ศักดิ์ ซึ่งท่านเองก็เป็นประธานกลุ่มในการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ เป็นผู้ผลิตมะพร้าวแกงของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์



"แนวทางการผลิตมะพร้าวยุคใหม่"

โดย คุณพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์


มะพร้าวนั้นเป็นพืชพิเศษที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน แต่ในขั้นตอนแรกผมจะขอกล่าวถึงความเป็นมาของการผลิตมะพร้าวของประจวบฯ ซึ่งอยากจะให้ผู้ร่วมสัมมนาเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงจูงใจที่ทำให้เกิดกลุ่มพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีการใช้สารเคมี จะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็จะตรงกับคำว่า "กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด" คือ ในปี 2540 เรารู้ว่ารัฐบาลมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าหินกรูด ซึ่งคำว่า หินกรูด ก็คือ ปะการัง จะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าบนปะการัง แต่พื้นที่อำเภอบางสะพาน มีเนื้อที่ใช้ในการปลูกมะพร้าวถึง 1.64 แสนไร่ และหากรวมทั้งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็มีพื้นที่ถึง 4.6 แสนไร่ ก็เกิดคำถามว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ที่ใช้ปลูกมะพร้าวขนาดนี้ ทำไม รัฐบาลจึงได้มีการอนุมัติให้จัดสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูด โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เพราะการเผาถ่านหินจะทำให้เกิดซัลเฟอร์ และเมื่อซัลเฟอร์รวมตัวกับความชื้นในอากาศจะทำให้เกิดฝนกรด เมื่อตกลงมาก็จะทำลายใบของพืชชนิดต่างๆ ซึ่งใบของพืชที่ใช้สำหรับปรุงอาหาร ที่เรียกว่าคลอโรฟิลล์ เมื่อใบมะพร้าวหรือพืชชนิดอื่นถูกทำลาย เหมือนน้ำกรดที่หยดลงบนใบไม้แล้วมันจะสามารถผลิตอาหารได้อย่างไร ในขณะที่ไฟฟ้าสำรองเหลือใช้ตั้ง 50 เปอร์เซ็นต์ ในต่างประเทศเขาสำรองแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็อยากจะทราบว่าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดแคบๆ ติดทะเลทุกอำเภอ 200 กว่ากิโลเมตร เหตุใดจึงต้องมีโรงไฟฟ้าถึง 3 แห่ง ขนาด 4,000 เมกกะวัตต์

เรื่องนี้มีการต่อสู้กันมายาวนานถึง 10 ปี โดยมีพี่น้องชาวสวนมะพร้าวและทำประมงมาร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งพวกเราต้องการให้มีการยกเลิกการก่อสร้าง แต่กลายเป็นว่ากลับไปก่อสร้างที่จังหวัดราชบุรีแทน ในปี 2546 หลังจากที่ได้รับรู้ว่าโรงไฟฟ้าจะถูกย้าย เราจึงรวมตัวพี่น้องที่ทำสวนมะพร้าวให้เข้ากันเป็นกลุ่ม ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดยโสธร เขาทำข้าวอินทรีย์ ซึ่งข้าวนั้นปลูกได้ยากกว่ามะพร้าว และต้องปลูกทุกปี ในขณะที่เรามีมะพร้าว มีวัตถุดิบเหลือใช้ในทางการเกษตรมาก เช่น ขุยมะพร้าว ซึ่งเมื่อก่อนทิ้งกันเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดว่าทำไมไม่นำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยหมัก นำเศษปลามาทำเป็นน้ำหมัก น้ำมะพร้าวนำมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ผสมแล้วใส่ลงไปในสวน จึงได้มีการศึกษาดูงานที่มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ที่จังหวัดยโสธร แล้วกลับมารวมกลุ่มทำมะพร้าวอินทรีย์ โดยเสียสละและอดทนเป็นเวลา 3 ปี ใช้ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีข้อห้ามหลักๆ เช่น ห้ามใช้มูลคน เพราะมีสารตกค้างมาก หรือสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงห้ามใช้ มีแนวกันชน มีการจดบันทึก ไม่เผาตอซัง ในขณะที่มะพร้าวในท้องตลาดไม่มีราคาประกัน และขึ้นอยู่กับนายทุน รัฐบาลส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักใส่ แต่ราคาท้องตลาดไปตายข้างหน้า เพราะฉะนั้นจึงต้องรวมตัวกันเพื่อทำเป็นอินทรีย์ มีราคาประกัน 6 บาท ซื้อใหญ่ กลาง รักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อดินดีเราก็ปลูกพืชแซม เช่น ตะไคร้ หัวข่า หรือกล้วย เป็นต้น เพราะที่บ้านกรูดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ชาวต่างชาติถ้ารู้ว่าเป็นอินทรีย์จะซื้อทุกอย่าง ทุกชนิดเพื่อรับประทาน ขณะนี้มะพร้าวขายดีมาก มีปริมาณไม่เพียงพอ ความต้องการในประเทศมีที่บ้านกรูดวางขายในระดับสหภาพยุโรป นอกจากนั้น ก็มีที่ศรีลังกาที่เป็นอินทรีย์เหมือนกัน แต่ที่ศรีลังการสชาติหรือแม้กระทั่งการบรรจุจะสู้ของประเทศไทยไม่ได้

เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นทางออกและทางรอดที่จะรักษาสวนมะพร้าว รักษาแผ่นดินในระบบทุนโลกาภิวัตน์ ผมได้ติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่ามีการเปิดเสรีพืช 23 รายการ ซึ่ง 1 ในนั้นมีน้ำมันมะพร้าวและมะพร้าวแห้ง เนื้อมะพร้าว ผมอยากถามชาวสวนมะพร้าวว่าเวลาเจรจาข้อตกลง ทำไมให้กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้เจรจา ซึ่งในต่างประเทศเขามีวิธีเจรจาต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ทำไม ไม่ให้เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวเป็นผู้เจรจา อันนี้คือความผิดพลาด เมื่อเจรจาเปิดเสรี 1 มกราคม 2553 แล้ว จะแก้ปัญหากันอย่างไร รับจำนำมะพร้าวแห้งกิโลกรัมละ 12 บาท แล้วเกิดการฮั้วประมูล ซื้อมะพร้าวแห้งกิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเงิน 160 ล้านบาท 3 งวดหมด นั่นคือสมัยของ คุณชวน หลีกภัย สำหรับประเด็นที่สอง รัฐไม่เคยส่งเสริมเกษตรกร คือเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ได้อนุมัติให้สร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็กและโรงถลุงเหล็ก ที่บางสะพาน โดยที่รัฐจะต้องสนับสนุนด้านสาธารณูปโภค นั่นคือ เขื่อน ถนน โรงไฟฟ้า พวกเรารวมกลุ่มกัน 10 ปี และทราบว่านี่คือ โครงการเซาเทิ้ลซีบอร์ด ในขณะที่ระยองคืออีสเทิ้ลซีบอร์ด นอกจากนั้น โรงงานถลุงเหล็กที่บางสะพานก็ตั้งอยู่ที่แหลมแม่รำพึง ซึ่งก็อยู่ในพื้นที่วนอุทยานฯ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งวางไข่ปลาทูขนาดใหญ่อันดับ 1 ซึ่งมีการปิดอ่าวถึง 3 ชั้น เป็นเวลา 3 เดือน อันดับ 2 อยู่ที่สุราษฎร์ธานี ปลาทูมาวางไข่แล้วไปโตที่แม่กลอง แล้วกลับมาวางไข่อีกครั้งที่แหลมแม่รำพึง

ผมเห็นด้วยที่ว่าประเทศชาติต้องมีการพัฒนา แต่ควรเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม ขณะนี้แต่ละประเทศมีการลงนามในพิธีสารเกียวโตเพื่อให้มีการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นเกิดขึ้นจากถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงถลุงเหล็ก เพราะฉะนั้นญี่ปุ่นเขารู้เรื่องนี้แล้วและไม่สามารถแก้ไขได้ เขาจึงได้ย้ายให้ออกไปอยู่นอกประเทศ 1 ในนั้นก็คือ อ่าวไทย เมื่อรัฐบาลคุณทักษิณอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อน พอมาถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้ตั้งงบฯ ไทยเข้มแข็งศึกษาพื้นที่แล้วให้รายงานผลกระทบ และดำเนินการสร้างเขื่อน ในขณะที่พี่น้องชาวสวนมะพร้าวต่อสู้ด้วยลำแข้ง มะพร้าว จำนวน 4.6 แสนไร่ ทำไม จึงไม่จัดหาโรงงานกะทิมาลง หรือทำไมจึงเปิดเสรีมะพร้าว นั่นคือ ทำให้ชาวสวนมะพร้าวล่มสลาย ลืมวิถีชีวิตความเป็นสวนมะพร้าวจะต้องเข้าไปอยู่ในระบบทุน ในระบบโรงงานอุตสาหกรรม เราจึงต้องมีการรวมกันเพื่อพลิกฟื้นทำให้สำเร็จและถ่ายทอดไปยังกลุ่มพี่น้องเครือข่ายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเมื่อทำสำเร็จก็ขยายไปยังกลุ่มแม่รำพึง ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อสู้ วันนี้เราสามารถยันไม่ให้พื้นที่สีม่วง คือเขตอุตสาหกรรมครอบมาในส่วนของบ้านกรูดซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับท่องเที่ยว และวันนี้เราทำมะพร้าวอินทรีย์สำเร็จ ได้ขยายไปสู่โรงเรียนให้เด็กๆ รู้ว่าการทำอินทรีย์นั้นจะต้องอยู่กับชุมชน คือทำอย่างไร อย่าให้เขาไปเรียนเรื่องเหล็ก เรื่องของเครื่องจักร มิฉะนั้นเวลาไปทำงานก็จะต้องไปเป็นลูกจ้าง และอีกไม่กี่ปีก็จะเกิดวิกฤตที่เกี่ยวกับอาหาร เราอย่ามองแต่ GDP แต่ควรมองที่ความสุขของประชาชน คำว่า มะพร้าวอินทรีย์นั้น เงินอยู่ในกระเป๋าของชาวบ้านแล้วจริงๆ เพราะชาวบ้านเป็นผู้จัดการ ชาวบ้านเป็นคนกำหนดราคาต่อรองกัน ไม่ใช่ให้นายทุนมากำหนด นอกจากนั้น เรายังเลือกใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาลดต้นทุน รักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อดินดีแล้วอะไรอีกหลายอย่างก็ดีหมด เมื่อมะพร้าวมีราคาประกัน พี่น้องประชาชนก็มีความสุข เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะบอกกับทางรัฐบาลว่า เราต้องการอย่างที่พวกเราได้ และไม่ต้องการสิ่งที่จัดมาให้

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ได้ประกาศพื้นที่ตรงนี้ว่าเป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์ระดับชาติ แต่รายงานผลกระทบของกระทรวงทรัพยากรกลับรายงานว่า เป็นป่าเสื่อมโทรม เห็นหรือเปล่าว่า 10 ปี ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และเราจะเชื่อได้หรือไม่ว่าโครงการ 5 แสนล้านบาท จะอยู่กับชุมชนของเราได้ โรงไฟฟ้าหินกรูด มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท โรงถลุงเหล็กมูลค่า 5 แสนล้านบาท และก็อยากจะถามว่า พวกเราทำอาชีพมะพร้าวอินทรีย์ แล้วพวกเราจะขายมะพร้าวกันได้อย่างไร แล้วถ้าเกิดมีฝนกรดและเมื่อชาวต่างประเทศมาตรวจดูพบว่ามีสารปนเปื้อน แล้วจะขายกันได้อย่างไร และนี่คือปัญหาเพราะทำสวนทางกัน ดังนั้น ผมและพี่น้องจึงอยากจะบอกว่า เราไม่ต้องการโรงงานถลุงเหล็ก เราต้องการโรงงานกะทิกล่อง กะทิอินทรีย์ และไม่ต้องมาช่วยพวกเรา เพียงแต่ขอให้อย่าซ้ำเติมก็พอ

คราวนี้ผมจะคุยในเรื่องที่ไปดูงานที่จังหวัดยโสธร ที่นั่นเขาทำนากัน และชาวต่างชาติมีความสนใจ จึงให้ชาวบ้านเป็นคนจัดการ ตอนหลังเขาก็มีงบประมาณมาสนับสนุน มีโรงสี มีการแปรรูปทำข้าวหอมมะลิอินทรีย์และส่งออกนอกประเทศ ถ้าหากเราดูในมุมกลับ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า เรือใบ ตรากระต่าย มอนซานโต้ ดูปอง เหล่านั้นล้วนผลิตจากต่างประเทศ แต่เขาไม่รับประทานกัน เขารับประทานแต่เฉพาะที่เป็นอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งก็ทำมาจากปุ๋ยหมัก พืชตระกูลถั่ว มูลสัตว์แห้ง หรือปุ๋ยน้ำชีวภาพ และก็ยอมซื้อของเหล่านี้ในราคาแพงด้วย แล้วทำไมจึงกล้าซื้อ อันนี้มันกลับกัน ในขณะที่คุณมีของดีคุณจะผลักดันของดีออกไปนอกประเทศไหม ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ควรจะเก็บไว้ในประเทศ จัดการย้ายของเสียหรือของไม่ดีให้ออกไปอยู่นอกประเทศ ก็เห็นด้วยกับทุกที่ทุกแห่งที่นำการทำมะพร้าวอินทรีย์ไปใช้ และก็มาดูงาน มาศึกษางาน ทำกันง่ายๆ คือ สิ่งที่เรามี เราพอเพียง แล้วพี่น้องก็จะมีความสุข เพราะจะไม่มีหนี้ เรามีของกินของใช้ และที่เหลือเราก็ขาย

สำหรับความสมบูรณ์ของดินนั้น ได้มีการเสริมเพื่อให้ดินมีความสมบูรณ์ คือมีการใช้ขุยมะพร้าว มูลสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากเศษปลาของชาวประมง ใช้เปลือกหอยเชอรี่เผาเพื่อเสริมแคลเซียม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมี ในสวนมะพร้าวก็ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเลย ซึ่งเมื่อเกิดมีแตนเปียนดำหนาม เราก็เลี้ยงมดแดง ขยายพันธุ์มดแดง เมื่อมีอะไรมากินมดแดงก็ไปกัดตัวอ่อน เป็นการใช้วิธีการจัดการตามธรรมชาติ มีแนวกันชนเพื่อเป็นการบอกว่า เรามีการป้องกันสารตกค้าง ก็ทำเพียงแค่นี้ใช้เวลาเพียง 3 ปี เราก็สามารถขายมะพร้าวได้ดี เราตั้งราคาเองโดยไม่ต้องให้พ่อค้าคนกลางมากำหนด เป็นการรักษาที่ดิน เป็นสมบัติเพื่อให้ลูกหลานอย่างยั่งยืน การใช้น้ำหมักก็ใช้สูตร พด. เพียงแต่ใช้ผสมในปุ๋ยหมัก หรือในหน้าแล้งก็ใช้ผสมน้ำแล้วรดที่สวน

ด้านการเก็บผลผลิตก็ใช้เป็นตะขอสามท่อนสอย ทำให้เก็บได้อย่างรวดเร็ว และราคามะพร้าวในท้องตลาดขณะนี้ ขนาดใหญ่ 6 บาท กลาง 3.50 บาท แต่มะพร้าวอินทรีย์ราคา 7.50 บาท ขนาดใหญ่และกลางราคาเดียวกัน ส่วนมะพร้าวทั่วไปแถม 10 ลูก แต่ทางกลุ่มให้ 5 ลูก ส่วนเปลือกหรือวัสดุอื่นๆ ก็ให้ทางสมาชิกบริหารจัดการ ซึ่งผลประโยชน์ก็อยู่ในกลุ่มของสมาชิกทั้งหมด เราจะได้แพงกว่าตลาดไม่ต่ำกว่า 1 บาท แล้วมีราคาประกันที่ 6 บาท ซึ่งมะพร้าวทั่วไปจะไม่มีราคาประกัน

อาจารย์ประเวศ กล่าวสรุป

อยากจะเสริมว่า การเก็บมะพร้าว นอกจากที่ได้ใช้อุปกรณ์ช่วยในการเก็บให้รวดเร็วแล้ว ผมยังเห็นว่าควรจะใช้ลิง ที่เดิมใช้เก็บมะพร้าว ให้กลับมาใช้กันต่อไปบ้าง ทั้งนี้ เพราะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยผมเองก็ได้มีส่วนดูแลศูนย์การท่องเที่ยวอยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งก็มีชาวต่างชาติชอบการเก็บมะพร้าวโดยใช้ลิงมาก

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งนำไปสู่การผลิตมะพร้าวอินทรีย์ ผมอยากจะฝากในเรื่องของกะลามะพร้าวที่ได้นำไปแปรรูปได้ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นมารับซื้อกะลาที่สับแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากกันก๊าซพิษได้อย่างดีเยี่ยม และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้เข้าร่วมสัมมนากับ สกว. โดยท่าน ดร.กมล ได้นำเสนอว่ามีอยู่โปรแกรมหนึ่งซึ่งได้โฆษณาอยู่ต่างประเทศ เป็นมะพร้าวกะทิกล่อง เมดอินไทยแลนด์ ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านกรูดที่ส่งไปขาย เพราะฉะนั้นยังมีช่องทางอีกมากสำหรับมะพร้าว

สำหรับวิทยากรท่านต่อไปคือ ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ ท่านเป็นอดีตอาจารย์จากสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ท่านมีความรักและสนใจในเรื่องของมะพร้าวอย่างมาก ขณะนี้ท่านได้ทำเชิงวิชาการ ได้มีการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งก็มีพันธุ์ รบ.1 (ราชบุรี) - รบ.5 และมีความเป็นมาอย่างไร มีแรงกระตุ้นอะไรให้อาจารย์หันมาชอบมะพร้าว จึงใคร่ขอเชิญท่านอาจารย์มาเล่าประสบการณ์การปลูกมะพร้าวแบบชาวบ้านให้แก่ท่านทั้งหลาย

ติดตามข้อมูลจาก ผศ.ประสงค์ ได้ ในฉบับต่อไป...
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 470
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM