เข้าสู่เว็บสำนักหอสมุดฯ


รายละเอียดข้อมูล
เรื่อง :
รายละเอียดงานสัมมนา มหัศจรรย์...มะพร้าวไทย ตอนที่ 3
   
ปัญหา :
 
 
ไม่เพียงวิทยากรแต่ละท่านจะสามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ได้อย่างครบครัน ในงานสัมมนา "มหัศจรรย์ มะพร้าวไทย" ที่ทีมงานนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านจัดขึ้น ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 55 ไร่ ในระยะเวลา 33 ปี ยังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน เนื่องด้วยมีชีวิตที่ผูกพันกับมะพร้าวมายาวนาน จนสามารถผสมพันธุ์มะพร้าว "รบ." ได้สำเร็จ ประกอบกับมิตรไมตรีที่พร้อมถ่ายทอดแก่ผู้สนใจอย่างหมดเปลือก

"ประสบการณ์การปลูกมะพร้าวแบบชาวบ้าน"

โดย ผศ. ประสงค์ ทองยงค์

สวัสดีครับ ท่านประธาน คณะกรรมการจัดงาน และท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ในวันนี้ผมมาจากสวน และได้ถอดเครื่องแบบข้าราชการออกมา 15 ปีแล้ว หลังจากที่ได้ถูกปลดออกเมื่ออายุ 60 ปี ขณะนี้กำลังวังชาได้ลดน้อยถอยลงมาก แต่ยังไม่หมดไฟที่จะพยายามค้นหาพันธุ์มะพร้าวต่างๆ

มะพร้าว เป็นพืชประหลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ รับประทานก็ได้ ดื่มก็ได้ ทาก็ได้ หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ได้ เมื่อตอนสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 ขณะนั้นผมยังเด็กมาก และพี่สาวเป็นนักเรียนทุนจากมะพร้าว และผมเองก็เป็นนักเรียนทุนจากมะพร้าวเช่นกัน จากอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี เมื่อเกิดสงครามขึ้น โรงเรียนถูกสั่งปิด พี่สาวต้องกลับมาอยู่บ้าน ในช่วงนั้นเงินไม่สามารถใช้ได้เลย ทุกอย่างลำบากกันไปหมด ต้องใช้การแลกเปลี่ยน คือใช้มะพร้าว ซึ่งบ้านผมที่วัดเพลงห่างจากแม่กลองประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วการสัญจรของอำเภอวัดเพลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ถ้าท่านนึกภาพออกจังหวัดราชบุรีเป็นภาคกลางตะวันตก ซึ่งอยู่ติดกับเทือกเขาตะนาวศรี มีสภาพพื้นที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองที่เป็นฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายจะเป็นอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม แล้วสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการขุดคลองจากแม่น้ำแม่กลองไปทะลุแม่น้ำท่าจีน คือเชื่อมอ่าวไทย 2 อ่าว ก็คือว่า วัดเพลงที่อยู่กับแม่กลองก็จะออกอ่าวไทยที่แม่กลอง ส่วนท่าจีนก็ออกที่อ่าวท่าจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอบ้านแพ้ว อำเภอกระทุ่มแบน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมที่ผมจะกล่าวถึงในคราวต่อไป

สมัยเดิมที่จังหวัดราชบุรี มีการเพาะปลูกโดยได้ปลูกข้าวเป็นหลัก และทำสวนล้มลุก สวนยกร่องที่ริมฝั่งก็เป็นที่ราบเกิดน้ำท่วมทุกปี หลังจากที่ได้มีการสร้างเขื่อนแล้วน้ำก็ไม่ท่วมอีก นอกจากนั้น น้ำกร่อยยังดันขึ้นมาสูง ซึ่งก็มีลักษณะเหมือนที่อำเภอบ้านแพ้วเช่นกัน จึงทำให้ดินมีลักษณะลักจืดลักเค็ม และเป็นดินที่มีโพแทสเซียมสูง เป็นดินตะกอน เป็นดินเกิดใหม่ ผมจำได้สมัยเด็กเห็นลูกมะพร้าวหล่นลงมาจากต้นแล้วก็งอกขึ้นมาง่ายๆ เป็นต้น ออกลูก ออกผล แล้วก็ดกซะด้วย ซึ่งอันนี้แหละเป็นจุดแรกเริ่มต้นที่ได้นำมาปลูกมะพร้าวว่ามะพร้าวจะต้องอยู่ใกล้น้ำ ยิ่งน้ำมีลักษณะขึ้น-ลง ด้วยยิ่งดี แต่ท่านไม่ต้องตกใจว่าถ้าอยู่ห่างน้ำแล้วจะเกิดปัญหา ซึ่งก็ไม่จำเป็น จะอยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะตัวผมเองได้มีประสบการณ์จากการที่ได้ปลูกมะพร้าวทางภาคอีสานมาแล้ว

ทีนี้แม่น้ำแม่กลองก็มีอิทธิพลต่อการไหลขึ้น-ลง และชาวสวนอำเภอวัดเพลง อำเภอดำเนินสะดวก และอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งติดต่อกันโดยอาศัยลำน้ำแม่กลองและท่าจีน เขาดำรงชีพด้วยการขุดคลอง เป็นคลองย่อยทะลุ 2 แม่น้ำนี้เข้าไป ที่ดำเนินสะดวกนั้นท่านคงเคยได้ยินเรียกกันว่าหลักหนึ่ง หลักสอง หลักสาม กันไปเรื่อยๆ จนทะลุแม่น้ำท่าจีน ชาวแปดริ้วท่านก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะท่านมีอ่าว มีแหล่งน้ำที่มีน้ำขึ้น-ลง เหมือนกัน และก็มีที่ราบลุ่มปลูกมะพร้าวเหมือนกัน จึงเห็นได้ว่าแถวบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ได้มีการปลูกมะพร้าวเช่นกัน ที่บ้านของผมเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวโบราณ สมัยปู่ ย่า ตา ทวด และนักเรียนทุนในสมัยพี่สาวและตัวผมก็เป็นนักเรียนทุนจากมะพร้าว ซึ่งในสมัยก่อนมีโรงงานทำน้ำมันมะพร้าวและโรงงานเหล้า ตั้งแข่งกันเลยบริหารงานโดยรัฐบาลในสมัยนั้น ซึ่งการรับทุนก็จะมีข้อแม้ว่าจะต้องอยู่ทำงานจนเกษียณอายุราชการ ความที่ได้รับเงินทุนไม่มากนักและเวลาที่ต้องเดินทางไปโรงเรียนจะต้องสัญจรโดยทางเรือ ก็จะได้รับเงินจากปู่ ย่า ตา ทวด มาสนับสนุนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าท่านเหล่านั้นมีบุญคุณต่อเราอย่างมาก ดังนั้น ในช่วงปิดเทอมหรือเป็นวันหยุด ก็จะต้องไปเฝ้าสวนให้กับท่านเพื่อเป็นการตอบแทน ซึ่งพวกเราก็จะได้รวมตัวกันเพื่อช่วยลงแขกในการทำความสะอาดเรือกสวนไร่นา และกำจัดวัชพืช

พอหลังจากที่ได้มีการสร้างเขื่อนแล้ว ภาวะน้ำท่วมก็หายไป แล้วก็มีการตัดถนนเข้ามาในหลายพื้นที่ อย่างที่ท่านคงเคยได้ยินว่าถนนคึกฤทธิ์ คราวนี้จะไปไหนมาไหนก็ใช้ถนนเพื่อการเดินทางได้ คราวนี้มาคุยกันว่า ทำไม มะพร้าว จึงเป็นพืชที่ใช้เลี้ยงในการดำรงชีพให้คนในท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ เพราะว่าพื้นที่ในจังหวัดราชบุรีมีการจัดรูปของที่ดินมาก่อน เกษตรกรหรือชาวบ้านจะมีจำนวนที่ดินกันอย่างสูงสุด 20 ไร่ ก็จัดกันเป็นแปลง แปลงละ 20 ไร่ พร้อมจัดแหล่งน้ำให้เสร็จเลย โดยการใช้สัญจรทางเรือ แล้วการที่จัดรูปที่ดินก็มีข้อดีตรงที่ว่าได้ประกาศเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ ยกเว้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเท่านั้น และอาคารจะเกิน 2 ชั้น ไม่ได้ จึงไม่เกิดมลภาวะ ซึ่งเป็นผลดีที่สามารถรักษาสภาพของดินไว้ได้

สำหรับมะพร้าวโบราณที่นำมาแสดงในงานครั้งนี้ก็มาจากที่บ้านของผม เช่น มะพร้าวจันทร์ส่องหล้า มะพร้าวจันทร์แรม หรือมะพร้าวนวลจันทร์ ฯลฯ เป็นต้น เป็นมะพร้าวผลใหญ่ที่มีอายุของต้น 150-170 ปี ลำต้นสูงมาก จนคนไม่สามารถปีนขึ้นไปได้ ได้ลองนำลิงมาให้ปีนขึ้นไป ปรากฏว่าลิงยังส่ายหน้าไม่ยอมปีน ซึ่งทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้นำคณะมาเพื่อวัดความสูงดู ปรากฏว่าได้เกิน 25 เมตร มีขนาดสะโพก 104 เซนติเมตร วิธีการปลูกสมัยโบราณมีการปลูกไว้ที่หัวคันนา ซึ่งก็จะสามารถสร้างรากได้เอง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มีการสร้างเขื่อนในขณะที่มีน้ำท่วมขังก็ได้ท่วมคันนาหมดเลย มะพร้าวปลูกอยู่บนคันนา มะพร้าวมันต้องช่วยเหลือตัวเองให้รอดก็เลยยกสะโพกขึ้น ครั้นพอน้ำลดแล้วรากที่ลอยอยู่ก็ขมวดกันห่อรวมเป็นต้น ซึ่งก็ต่างกับมะพร้าวน้ำหอมหรือมะพร้าวเตี้ย

จากปัญหาที่เกิดจากต้นมะพร้าวโบราณ ไม่ว่าจะเป็นความสูง ที่ยากลำบากต่อการเก็บเกี่ยวหรือสอยลงมาได้ลูกมะพร้าวตกลงมาก็แตกเสียหาย จึงได้ปรึกษากับครอบครัวว่าควรจะต้องเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นจะดีกว่า แต่ในขณะนั้นก็ได้ข่าวมาว่าที่อำเภอกระทุ่มแบน เมื่อสัก 40 ปี ที่แล้ว มีครูท่านหนึ่ง มีมะพร้าวดีอยู่ประมาณ 20 ไร่ ท่านก็ปล่อยแบบธรรมชาติไม่มีการยกร่องแล้วก็เก็บพันธุ์ขาย แล้วท่านก็ยังมีร้านอาหาร ทำน้ำตาลขาย ทำไอศครีมขาย รวมอยู่ในที่แห่งเดียว ซึ่งเรียกกันว่า "ฟาร์มอ่างทอง" และอ่างทองคือ ชื่อของมะพร้าวน้ำหอมที่เป็นต้นกำเนิดของพันธุ์อ่างทอง และเป็นต้นแรกของเมืองไทย จากการสอบถามท่านที่เกี่ยวกับการเริ่มปลูก ท่านบอกว่าเริ่มปลูกมะพร้าวเพียงต้นเดียว ได้ผลมะพร้าวที่มีขนาดเล็ก แต่ดกมาก มีลำต้นผอม ผมก็เลยนำอ่างทองไปปลูกร่วมกับมะพร้าวหมูสีกลาย ซึ่งเขาปลูกเพื่อทำน้ำตาลมะพร้าว ปลูกไปประมาณ 2 ปีครึ่ง ก็ได้ผลมะพร้าวแล้ว และต้นที่ได้ก็มีขนาดใหญ่กว่าอ่างทอง แถมยังมีสะโพกอีก ลำต้นไม่สูง มีใบถี่มาก แผ่งุ้มลงคล้ายใบพัดคร่อมลงมาปิดดิน ได้ลองวัดดู ได้ข้างละ 4 เมตร ก็ลองตั้งกฎว่าถ้าจะปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ลูกโต จะต้องใช้พื้นที่ 8x8 เมตร ใบจึงจะไม่เกย และแสงสว่างจะเข้าได้ แต่ที่น่าอัศจรรย์คือสามารถออกลูกได้รอบต้นเลย แต่น่าเสียดายในตอนแรกผลที่ออกมาเสียหายมาก ทะลายหัก เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ทำไม มะพร้าวยกร่องจึงต้องใช้น้ำมาก เพราะต้องการความชื้นในการเลี้ยงลูก ในปีหนึ่งๆ จะมีความชื้นสักประมาณ 6 เดือน ครั้งพอหน้าแล้งชาวสวนก็จะใช้วิธีลอกดินริมๆ ตลิ่งที่เปียกขึ้นมาถมที่โคนต้นมะพร้าวน้ำหอมหรือมะพร้าวเตี้ย ซึ่งเป็นพันธุ์พิเศษตั้งแต่ที่ฟาร์มอ่างทองเป็นต้นแรกของเมืองไทยและของโลก ที่ความหอมไม่จางหาย แม้จะไปปลูกที่ไหนก็จะยังคงมีรสชาติหวานหอมเหมือนกันหมดเป็นของพันธุ์หมูสี ซึ่งดูจาก ดีเอ็นเอ แล้วจะเป็นพันธุ์ที่มีรูปร่างเตี้ย ชาวบ้านเรียก มะพร้าวค่อม และมีลูกดกมาก ในปีหนึ่งๆ ให้ผลผลิตได้ประมาณ 10 ทะลาย เป็นอย่างต่ำ มีการออกลูกหมุนเวียนตลอด และใน 1 ทะลาย จะให้ผลมะพร้าว 10 ผล อย่างต่ำ ผมเคยเก็บได้ 25-27 ผล แต่ต้องค้ำทะลายให้แข็งแรง เพราะเดี๋ยวจะหักลงมา

อีกอย่างหนึ่งคือ ในขณะที่เราเก็บมะพร้าวก็จะมีปัญหาเรื่องของทางมะพร้าว ลูกมะพร้าวอ่อน หรือลูกมะพร้าวที่กระรอกเจาะ ทั้งหลายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นก็คิดว่าจะนำไปทิ้งที่ไหน ชาวสวนก็เลยเสียสละร่องน้ำที่ใช้แล่นเรือ 1 ร่อง และนำสิ่งเหล่านี้ถมลงไปในร่องดังกล่าว ถมไปถมมานานเข้าเป็นปีๆ และก็มีดินเข้าไปร่วมผสมต่อไปจึงเกิดเป็นดินขึ้นโดยไม่ต้องไปซื้อมาเลย จึงเรียกว่า ทฤษฎีจ่ายคืน ซึ่งเดิมทีในป่าเวลาใบไม้ร่วงที่โคนต้นจะเห็นได้ว่าดินยังเพิ่มพูนขึ้น สำหรับเคล็ดลับในการปลูกมะพร้าว

และสิ่งที่มะพร้าวชอบคืออะไรบ้าง ก็จะบอกกับทุกท่านว่า สำหรับมะพร้าวพันธุ์น้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ยที่ปลูกแถวราชบุรี ไม่ได้มีการใช้สารเคมีที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ ไม่ได้มีการใช้ยากำจัดหญ้า สามารถคุมหญ้าด้วยการลอกเลนบนท้องร่องขึ้นมาไว้บนหลังร่องทำกันทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงหน้าหนาว และหน้าร้อนเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุ ปิดวัชพืช ป้องกันการเกิดของแมลงต่างๆ ซึ่งก็ทำให้มะพร้าวมีการเจริญเติบโตได้ดี ปัจจุบัน มีการพัฒนาใช้เครื่องดูดเลนแล้วเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว ที่ผมอยากจะบอกเรื่องเคล็ดลับของกระบวนการหมักซึ่งเราได้ค้นพบเมื่อปีที่แล้ว โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน พบว่า มูลของหมูมีฮอร์โมน จึงได้นำมาใส่มะพร้าว โดยให้ใส่ระหว่างต้น ในปริมาณ 1 กระสอบใหญ่ และใส่ค่อนมาทางร่องน้ำที่ได้มีการถมทางมะพร้าว ลูกมะพร้าว หรือจั่นไว้ให้มาก ครั้นเวลาฝนตกลงมาจะเกิดปฏิกิริยาปุ๋ยชีวภาพทางธรรมชาติ มูลของหมูที่รากมะพร้าวดูดลงดินไม่ได้ หรือไม่หมดก็จะไหลลงไปในร่องดินดังกล่าว

ส่วนแมลงของมะพร้าวน้ำหอมก็จะเป็นพวกด้วง ซึ่งจะกินยอด กินไส้ ก็มีวิธีป้องกันแบบโบราณคือ ใช้เกลือไปโรยที่คอมะพร้าว สัก 1 ปีก็ใส่ได้แล้ว ใส่ปีละครั้งเดียวก็พอ โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งด้วงระบาดมาก อย่าสุมไฟตอนกลางคืน มันชอบมาเล่น ไม่ควรปลูกบ้านพักคนงานในสวน และควรหมั่นดูแลความสะอาดในสวนอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นพวกมดมักจะเข้ามารบกวน เพราะมะพร้าวลูกที่ตกลงมาบางลูกแตกมดก็จะชอบ และอีกอย่างคือ ทรายเม็ดโตๆ นำไปใส่ที่คอหรือบางคนใช้ลูกเหม็น แต่ไม่อยากแนะนำ เพราะเป็นสารเคมี เวลาฝนตกจะไหลหรือซึมลงไปในดิน จุดอ่อนที่สุดคือ พื้นดินสำหรับท่านที่ปลูกมะพร้าวทรงเตี้ย ท่านจะต้องใช้ดินถมตรงบริเวณสะโพกปิดให้มิดก็จะสามารถป้องกันด้วงไม่ให้เข้าไปทำรังได้ ทีนี้หากท่านปลูกเป็นไร่ท่านก็ต้องทำเป็นแปลงเหมือนกัน และควรจะจำลองลักษณะจากสวนไปใช้ จะต้องทำแปลงสี่เหลี่ยมตามโฉนดระวางพื้นที่ของท่าน ซึ่งมีอยู่ 3 แบบ คือสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส และแบบวงกลม ซึ่งทุกแบบนั้นแล้วแต่พื้นที่ของท่าน กล่าวคือ ถ้าท่านมีพื้นที่มากก็แบ่งซอยเป็นถนนกลาง เพราะมะพร้าวถ้าปลูกตั้งแต่พื้นที่ 20-100 ไร่ จะต้องมีการขนส่ง แล้วกรณีที่ต้องไปปลูกในพื้นที่สูง ที่ทางอีสานหรือทางภาคเหนือตอนล่าง หากไม่มีแหล่งน้ำ ท่านต้องขุดบ่อ ขุดคลอง ซึ่งก็แล้วแต่สภาพของพื้นที่นั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะขุดเป็นจุด หรือขุดเป็นบริเวณโดยรอบ

ในด้านการเก็บเกี่ยวมะพร้าวน้ำหอมมีลักษณะต้นเตี้ย เวลาผ่านไป 30 ปี ใช้ไม้ไผ่ก็ยังไม่สุดลำเลย เวลาสอยต้องระวังอย่าให้ช้ำ เพราะเวลานำมาปอกจะไม่สวยและเสียเร็ว ส่วนพันธุ์น้ำหอมนั้นขณะนี้ทางกรมวิชาการได้ดำเนินการที่สุราษฎร์ธานีก็ได้มีการผสมพันธุ์เป็นน้ำหอมกะทิ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ที่ลูกโตตลาดจะต้องการ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะมีก้นแหลม เวลาขนส่งเกิดกระแทกก็จะไม่เสียหาย เมื่อคราวที่ผมไปปลูกที่ภูกระดึงก็ใช้วิธีการปลูกริมสระน้ำในหุบเขา แล้วก็ที่บึงบอระเพ็ดก็ทำและขายได้แถมยังทำใส่ขนมเม็ดบัวอีกด้วย แล้วยังทำเป็นห่อหมกปลาขายกัน พิจิตรก็ปลูกได้ นอกจากนั้น ยังมีข้าราชการตำรวจเกษียณท่านหนึ่งไปปลูกที่หนองบัวลำภู การที่จะได้ผลมาก/น้อยขึ้นอยู่กับทุนของท่าน เพราะหากไปปลูกแถวนครสวรรค์ก็จะต้องลงทุนสูงเล็กน้อย หรือไปปลูกที่แล้งก็ต้องขุดหลุมใหญ่ หลุมกว้าง ต้องใส่อินทรียวัตถุมากเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ใช่ดินเดิมที่มีอยู่ แต่จะต้องสร้างดินใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการเสียเปรียบพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งเป็นดินที่สมบูรณ์หล่นลงมาก็ออกลูกได้เลย ต่อจากนั้นท่านจะต้องสร้างแหล่งน้ำให้มีความชื้นมากๆ และต่อมาคือ ท่านจะต้องสร้างความชื้นให้เหมือนในป่า เช่น ไปอิงในป่ายาง ไม่ใช่ไปทำลายป่า แต่เป็นการไปปลูกในบริเวณที่เป็นป่าเพราะต้องอาศัยความชื้น และวิธีปลูกก็ต้องปลูกแบบสามเหลี่ยมให้สลับฟันปลา เพราะถ้าหากไปปลูกสี่เหลี่ยมเงามันจะบังกัน ท่านอาจจะได้ลูกมะพร้าวแค่เพียงครึ่งต้น และน้ำที่ใช้จะต้องมีการหมุนเวียนที่ดี คือเข้าทางนี้แล้วไหลออกไปทางนั้น ให้มีการไหลเวียนของน้ำจัดคูคลองไหลมีการไหลวนไปเรื่อยๆ ถ้าหากน้ำไม่วนก็ให้สร้างทำนบขังน้ำให้เต็ม แล้วค่อยๆ ปล่อยน้ำไหลออกมา น้ำจึงจะสะอาดมะพร้าวจะได้เจริญเติบโตเป็นอย่างดี

สำหรับพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่างและทางภาคอีสานแนะนำให้ปลูกตามบริเวณหุบเขาบริเวณที่ราบต่ำ อย่าไปปลูกบนภูเขา แต่ว่าไม่ควรปลูกบริเวณก้นลำธาร อย่างที่อุตรดิตถ์เขาปลูกเหนือลำธารขึ้นมาเล็กน้อยก็ได้ผลดีเช่นกัน และที่สำคัญคือควรจะปลูกใกล้ตลาด การจำหน่ายมะพร้าวในปัจจุบันไม่นิยมขายเป็นลูกๆ แล้วมันหนัก จะมีการผ่าออกแยกเนื้อไปขายส่วนหนึ่ง แยกน้ำไปขายอีกส่วนหนึ่ง มะพร้าวเป็นผลไม้ที่สะอาด สดๆ ไม่มียาฆ่าแมลง ใครก็ต้องการรับประทาน และสอยลงมาจากต้นไม่มีช้ำเลย และกำลังมีการทดลองว่าหากจะเผามะพร้าวโดยไม่มีสารเคมีมาเคลือบให้สุกและเก็บรักษาในที่เย็นจัดก็จะสามารถอยู่ได้นานถึง 3 เดือน เพื่อส่งไปขายทั่วโลก แต่ต้องมีการพัฒนาพันธุ์ให้มีขนาดเล็กลง อย่างลูกขนาดใหญ่ส่งไปขายที่ประเทศจีน เพราะทางจีนนิยมลูกขนาดใหญ่ ก็จะมีการปอกแล้วส่งไปขาย แต่ต่อไปต้องทำให้ลูกมีขนาดเล็กลง สามารถใส่ลงในกล่องเพื่อพกพาไปได้อย่างสะดวก

ตอนนี้ผมได้มีการทดลองวิจัยพันธุ์มะพร้าวไว้หลายชนิด หลายประเภทที่เรียกว่าพวงร้อย ผมไปเจอต้นกะทิ ก็จะลองโคลนนิ่งดูอีกสักปีกว่าๆ คงทำสำเร็จ และมีอีกพันธุ์ที่ผมลองผสมจากพวงร้อยเข้ากับน้ำหอมผลโตที่มีสะโพกใหญ่ และตั้งชื่อว่า รบ. 3 รสชาติหอมฟุ้งเลย ซึ่งก็สามารถนำไปแปรรูปได้ ทำวุ้นกะทิได้ ทำห่อหมกได้ มะพร้าวสังขยาก็ได้ หรือดื่มก็ได้ แถมยังมีขนาดเล็กและเขาใส่ในกระเป๋ายังได้เลย เพราะชาวต่างชาติเขาไม่ดื่ม-กิน มากนัก ซึ่งราคาที่ขายก็คิดเป็นลูกๆ ไม่ได้ชั่งเป็นน้ำหนัก จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นลูกขนาดใหญ่ก็ได้ ขอให้รสชาติอร่อยก็แล้วกัน ซึ่งลูกใหญ่ๆ นั้นเอาไว้ใช้ผลิตใช้น้ำ ผ่าเนื้อ ผ่าน้ำ นำไปบรรจุลงกระป๋องส่งไปขายทั่วโลก ก็อยากจะขอให้ท่านที่มาร่วมงานในครั้งนี้ช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนามะพร้าว และขอให้กำลังใจทุกท่านให้ประสบความสำเร็จ แล้วอย่าเพิ่งท้อแท้ว่าผลิตแล้วจะขายไม่ได้ ฟิลิปปินส์จะมาปีหน้า ท่านไม่ต้องกลัว เพราะของเขาไม่สวย ไม่หอม อย่างของไทยเรา

เรื่องสุดท้าย ที่จะฝากคือ เรื่องของการเก็บเกี่ยว พออายุได้สัก 2 ปีครึ่ง ท่านต้องคอยตรวจตราดู ให้ใช้ไม้ค้ำทะลายเพราะอาจจะหัก ไม่ว่าจะปลูกในที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม แต่พอเก็บปีที่ 4-5 แล้ว ใบจะแข็งก็จะสามารถพยุงทะลายได้แล้ว น้ำหอมจะวางบนทางมะพร้าว หากทางเริ่มเหลืองแสดงว่าเนื้อจะเต็มลูกแล้ว หรือให้สังเกตดูหางหนูจะดำไปครึ่งหนึ่ง แสดงว่าเนื้อเริ่มเต็มแล้ว หรือดูว่าที่ขั้วถ้ามีวงสีขาวน้อยๆ ก็แสดงว่าเนื้อเต็มแล้วเหมือนกัน แต่ถ้าวงสีขาวมากแสดงว่าเนื้ออ่อน ก็จะขอจบการบรรยายสำหรับในช่วงแรกไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ขอบคุณมากครับ

จากนั้นเวทีสัมมนาได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าฟังซักถาม

คำถาม : หากจะใช้ทางมะพร้าวแห้ง หรือหางหนูที่ตกลงมาใช้คลุมที่โคนต้นแทนดินจะสามารถใช้ได้หรือไม่ และจะมีผลดี/ผลเสีย อย่างไร

ผศ.ประสงค์ : จะมีผลเสียมากกว่าผลดี อย่าไปคลุมที่โคนต้น เพราะด้วงไฟชอบมากเลย จริงๆ แล้วบริเวณโคนต้นควรจะโปร่ง อย่างน้อยรัศมี 3 เมตร ที่จะไม่ควรนำวัสดุอะไรไปคลุม อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า มะพร้าว เป็นพืชที่แปลก คือว่าจะไม่ชอบมีอะไรมาขึ้นหรือมาปิดตรงที่โคน อาจจะเพราะว่ารากอ่อนมันจะขึ้นมาหาอาหารลำบาก ควรจะนำไปไว้กลางร่องหรือสลับร่อง อย่าไปเผาเด็ดขาด

คำถาม : การแต่งคอให้สะอาดควรจะทำกับมะพร้าวน้ำหอมหรือไม่

ผศ.ประสงค์ : ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าหากเราไม่แต่งคอให้สะอาด อาจทำให้

1. เวลาออกทะลายใหม่จะแทงออกมาคดเคี้ยว ทำให้ผลออกมารับแสงสว่างได้ไม่เต็มที่

2. ถ้าคอสกปรก จะมีพวกหนูมากวน 2 ชนิด คือหนูตัวเล็กท้องขาวที่อยู่ตามท้องนา และหนูพุกก็ชอบมาอยู่ตามต้นมะพร้าวเหมือนกัน มันจะชอบฉี่แล้วทำให้ลูกมะพร้าวร่วง ดังนั้น ต้องหมั่นดูแลคอให้สะอาดดึงรกออกอย่างสม่ำเสมอ

คำถาม : เวลานี้ต้นมะพร้าวแถวฝั่งธนบุรี ที่บริเวณยอดจะมีลักษณะแห้งระบาดไปทั่ว ก็อยากจะทราบว่ามันเกิดอะไรขึ้น และควรหาทางป้องกันอย่างไร

ผศ.ประสงค์ : เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นแมลงลงต้นมะพร้าว น่าจะเป็นแมลงหนามดำ ซึ่งมาจากทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตอนนี้กำลังระบาดเข้ามาทางบริเวณริมถนนสายพุทธมณฑลสาย 2 หรือแถวบางมด ถ้าเป็นต้นเล็กก็ใช้ยาพ่น แต่ถ้าเป็นต้นสูงต้องตัดทางมะพร้าวทิ้ง

คุณพงษ์ศักดิ์ : สำหรับแมลงหนามดำจะมีวิธีป้องกันคือ ให้เลี้ยงมดแดง แล้วขยายพันธุ์มดแดง เพราะมดแดงจะชอบกินตัวอ่อนของแมลงทุกชนิด เป็นวิธีที่ช่วยได้จริง

ติดตามการเสวนาช่วงต่อไป ในฉบับหน้า
วิธีแก้ไข :
 
ที่อยู่
 
หมู่บ้าน :
ตำบล / แขวง :
อำเภอ / เขต :
จังหวัด :
กรุงเทพมหานคร
รหัสไปรษณีย์ :
ภาค :
ภาคกลาง
แหล่งข้อมูล
 
แหล่งที่มา :
เทคโนโลยีชาวบ้าน : วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 22 ฉบับที่ 471
 

ย้อนกลับ


   
วัตถุประสงค์โครงการ
   
จำแนกปัญหาตามภูมิภาค
จำแนกปัญหาตามจังหวัด
จำแนกปัญหาตามประเภท
สืบค้นตามชื่อเรื่องแบบใช้คีย์เวิร์ด
สรุปภาพรวมของปัญหา
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่ภูมิภาค
สรุปประเภทปัญหาตามแผนที่จังหวัด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สารสนเทศเกษตร
เกษตรพลิกฟื้นชาติ
สารพันความรู้
กรมส่งเริมการเกษตร
ห้องสมุดกรมวิชาการเกษตร
เทคโนโลยีชาวบ้าน
หนังสือพิมพ์มติชน
ติดต่อ E-mail : คลิกที่นี่
 
 

สถิติจาก truehit.net

   


Download Acrobat Reader

Best view with IE 5.0 or later version at 800x600
All comments please mail to
Webmaster

This site is copyright @ 2005 สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
75/7 ถ.พระรามหก แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ 10400 โทร 0 2201 7256 แฟกซ์ 0 2201 7265
Email : info@dss.go.th
ปรับปรุง : Tuesday, May 2, 2017 11:07 PM