ตราสัญลักษณ พระไตรปิฏกฉบับคอมพิวเตอร์  โครงการ DLF e-Learning ในหลวงกับการสื่อสารในหลวงกับคอมพิวเตอรพระราชดำรัส
พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
ในหลวงกับการถ่ายภาพกังหันน้ำชัยพัฒนาโครงการฝนหลวงวันเทคโนโลยีไทย
พระราชทานพรปีใหม
กลับหน้าแรก


เมื่อครั้งทรงพระเยาว์





      สมเด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาชูเซสท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๘๙ ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช       กรมหลวงสงขลานครินทร์(พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ซึ่งภายหลังทั้งสองพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนน


 

       
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเชษฐาภคินีและพระเชษฐา ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟัากัลยาณิวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ณ เมือง ไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๑ได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา กลับประเทศไทย ประทับ ณ วังสระประทุม 
 
      ต่อมาในวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกทิวงคตขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุได้ไม่ถึงสองพรรษา และเมื่อพระชนมายุได้ ๕ พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษาชั้นต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงได้เสด็จไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐาภคินี และพระเชษฐา ขณะประทับอยู่ ณ ประเทศวิตเซอร์แลนด์ ทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนเมียร์มองต์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ จากนั้นทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออีส โรมองต์ เมืองแซลลี ซือ โลซานน์ ทรงได้รับประกาศนียบัตรทางอักษรศาสตร์ จาก ยิมนาส กลาซีค กังโตนาล แห่งเมืองโลซานน์ แล้วทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ โดยทรงเลือกศึกษาในแขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงได้รับสถาปนาขึ้นครองราชสมบัติสืบสันติวงศ์ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย

      ขณะที่ยังทรงพระเยาว์และประทับทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราช พร้อมด้วยสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และสมเด็จพระราชชนนี นิวัติสู่ประเทศไทยสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑ เป็นเวลา ๒ เดือน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มิได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยเป็นเวลานาน จนกระทั่งสงครามสงบจึงได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘การนิวัติสู่พระนครในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงเยี่ยมเยียนราษฎรยังหัวเมืองต่าง ๆ ทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ยังความปลาบปลื้มและเพิ่มความจงรักภักดีเป็นล้นพ้น
นอกจากนั้นยังได้โดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราชประพาส “สำเพ็ง” ซึ่งเป็นถิ่นพำนักของชาวจีนในประเทศไทย ยังความปลาบปลื้มแก่ชาวจีนเป็นยิ่งนัก ความขุ่นข้องหมองใจระหว่างชาวไทยและคนจีนในประเทศไทย ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงได้คลี่คลายไปในทางที่ดี

      ต่อจากนั้น สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ทรงกำหนดที่จะเสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เพื่อทรงศึกษาต่อให้จบหลักสูตร แต่แล้วในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงประสบอุบัติเหตุ สวรรคตท่ามกลางความวิปโยคของพสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งประเทศ
เมื่อเหตุการณ์ปรากฏดังนี้ รัฐสภาจึงได้ประชุมแถลงลำดับการสืบสันตติวงศ์ ซึ่งอันดับแรกได้แก่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ ในพระบรมราชจักรีวงศ์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยต้องทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ระหว่างประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาในพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ กิติยากรทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาหลังเสด็จนิวัติสู่พระนครพร้อมด้วย ม .ว. สิริกิติ์ กิติยากร จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในวังสระประทุม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓
พระคู่พระคู่บารมี


      วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงรับเฉลิมพระนามเต็มว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเปล่งปฐมบรมราชโองการว่า“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
      หลังจากนั้น ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีจากสมเด็จพระราชอนุชาสู่ตำแหน่งพระประมุขแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงละทิ้งความสุขสำราญส่วนพระองค์มาทรงรับพระราชภารกิจอันหนักหน่วง นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แก่พสกนิกรว่า พระทรงเป็นยิ่งกว่ามหากษัตริย์






กลับด้านบน

      หลังจากเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาสุขภาพ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามที่คณะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำ และระหว่างนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ หลังจากนั้น ๗ เดือนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัติพระนคร ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทรงมีประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐

      นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจในทุกด้านที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขและความเจริญรุ่งเรืองของราษฎรและประเทศชาติ พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติจึงครอบคลุมไปทั่วทุกภูมิภาค การเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นจริงและทรงตระหนักถึงปัญหาอันแท้จริงของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาของเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทรงมุ่งมั่นพัฒนาแหล่งน้ำเป็นอันดับแรก เพราะน้ำเป็นปัจจัยแห่งการพัฒนาและการช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนสามารถบรรเทาอุทกภัยได้ และที่สำคัญก็คือ เป็นทรัพยากรที่สามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยง่าย จึงได้มีพระราชดำริให้ดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่จำเป็นทั่วประเทศ อ่างเก็บน้ำดังกล่าวทุกแห่งจะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและกุ้งน้ำจืดซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญอย่างยิ่ง การเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ไร้ประโยชน์ให้สามารถเปิดเป็นที่ทำกินได้นั้น ก็เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเกษตรกรขาดแคลนที่ดินทำกิน และยังช่วยชะลอการบุกรุกทำลายบริเวณป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ช่วยฟื้นฟูที่ดินที่ถูกทำลายให้กลับมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อีก ปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูคุณภาพดินส่วนหนึ่งก็คือน้ำนั่นเอง เมื่อมีระบบชลประทานที่สมบูรณ์แบบ ก็จะสามารถเปิดขยายที่ทำกินออกไปได้อีก
เสด็จเยี่ยมราษฎร    
             
      ปัจจุบันป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว พื้นที่ป่าอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม นับว่าอยู่ในระยะอันตรายหากไม่รีบแก้ไข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีในปัญหานี้ จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เช่นในอดีต ดังแนวพระราชดำรัสความว่า“แต่ป่าไม้ที่ปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าสำหรับใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง แต่ไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตามหรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละเป็น ป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่าคือเป็นต้นไม้ และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับเป็นผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้”
      ความสนพระราชหฤทัยในเรื่องการสร้างเขื่อนและการปลูกป่าได้ปรากฎให้เห็นตั้งแต่ยังทรงพระยาว์ แต่ก่อนนั้นชาวไทยภูเขายังมีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม มีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพซึ่งเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในชุมชนของตน ขาดความรู้ในการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ จึงใช้วิธีการถากถางป่า และเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นการทำลายทรัพยากรอันล้ำค่าของชีวิตไปโดยไม่คุ้มค่า นอกจากนี้ชาวเขาบางพวกยังทำมาหากินด้วยการปลูกฝิ่น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในป่าลึก บนยอดดอยที่สลับซับซ้อน ยากแก่การควบคุม และเป็นการยากมากที่จะให้ชาวเขาเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตอันเก่าแก่ของตน
   

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่า ถ้าไม่พยายามหยุดยั้งปัญหาเกี่ยวกับชาวเขาแล้ว ปัญหาจะทวีความซับซ้อนและรุนแรงยิ่งขึ้น พระองค์จึงได้ทรงรวบรวมผู้มีความรู้ความสามารถในแขนงต่าง ๆ มาร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ โครงการหลวงพัฒนาชาวเขาจึงได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ปัจจุบันนี้โครงการหลวงได้ร่วมมือกับองค์กรของรัฐ เอกชน และองค์กรต่างประเทศ การดำเนินงานครอบคลุมหมู่บ้านชาวเขา ๑๒๖ แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำพูน เป็นระบบการพัฒนาแบบครบวงจร
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัย และทรงเชื่อมต่อข้อสรุปทางวิชาการกับการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ งานวิจัยทั้งหมดมุ่งที่จะค้นหาพืชที่ปลูกง่าย มีราคา และเป็นที่ต้องการของตลาดมาทดแทนการปลูกฝิ่น
ปัจจุบันมีการวิจัยพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ กว่า ๕๐ ชนิด ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ธัญพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ กาแฟ เห็ด พืชน้ำมัน ฯลฯ พืชพันธุ์ไม้เมืองหนาวเหล่านี้ขยายจากแปลงทดลองสาธิตไปสู่ไร่ของชาวเขาอย่างแพร่หลาย บัดนี้ ด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชาวเขาได้เปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมลงแล้ว พวกเขามีพืชพันธุ์ใหม่ มีเทคโนโลยีใหม่ในการเพาะปลูก มีบ้านเรือนถาวรตั้งอยู่เป็นหลักแหล่ง มีการสื่อสารสมาคมกับคนพื้นราบอย่างกว้างขวาง มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ชาวเขาเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของชาวพื้นราบ และค่อย ๆ กลายสภาพเป็นชุมชนคนไทย เกิดความสำนึกในความเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ที่สำคัญยิ่งคือ พวกเขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในชะตาชีวิตอีกต่อไป
   
      ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกร พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายเสด็จทั่วผืนแผ่นดินไทย เพื่อทรงศึกษาปัญหาและพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาด้วยพระปรีชาญาณอันล้ำลึก พระองค์ทรงทำให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าตระหนักถึงมรดกอันล้ำค่าซึ่งฝังอยู่ในแผ่นดินไทยทุกตารางนิ้ว หากทุกคนรู้จักคุณค่าและมีสำนึกหวงแหนใน “ แผ่นดินของเรา ”
ยามใดที่มีการสู้รบสูญเสียเลือดเนื้อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินยังพื้นที่การรบ เพื่อทรงตรวจสถานการณ์และทรงเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บ พระองค์ทรงเป็นมิ่งขวัญของเหล่าทหารหาญ น้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นกำลังให้สู้ต่อไปโดยไม่ถอยเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภพที่ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นทุกศาสนา ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความแตกต่างกันในลัทธิศาสนาจึงไม่เคยอุบัติขึ้นในผืนแผ่นดินไทย


      
ในด้านการศึกษาของราษฎรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียนและการศึกษานอกระบบโรงเรียน ดังพระบรมราโชวาทความว่า การศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่ไม่มีสิ้นสุด ผู้ปรารถนาความเจริญในการประกอบกิจการงานจะต้องหมั่นเอาใจใส่แสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้ที่ล้าสมัยหย่อนสมรรถภาพไป ดังนั้น ในการพัฒนาชนบท พระองค์จึงทรงเน้นในเรื่องการส่งเสริมความรู้ให้แก่ชาวบ้าน ทรงเห็นว่าชาวชนบทจะต้องมีความรู้ในเรื่องการทำมาหากินและการทำการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

       ส่วนการศึกษาของเยาวชน ทรงตระหนักว่าเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ พระองค์ได้พระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงแก่นักเรียนที่สำเร็จระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนดีเพื่อไปศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ โดยมีพระราชประสงค์ให้ผู้ได้รับทุนได้รับการอบรมให้รู้และเข้าใจขนบประเพณีของชาวตะวันตกไปด้วย เพราะอายุยังอยู่ในวัยที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมตะวันตกได้
สำหรับนักศึกษาที่เล่าเรียนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งทุน "ภูมิพล" ขึ้น เพื่อพระราชทานแก่ผู้ที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รับทุนอุดหนุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยที่ทรงตระหนักถึงความวิริยะอุตสาหะของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ พระองค์จึงได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่บัณฑิตเหล่านั้น ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรและพระบรมราโชวาทที่ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิตในสังคมแก่บัณฑิตจากทุกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเกียรติ เป็นสิริมงคล และกำลังใจอันสูงยิ่งแก่บัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร แม้จะเป็นพระราชภาระที่หนักและน่าเหน็ดเหนื่อย แต่พระองค์ก็ได้พระราชทานเกียรตินี้แก่บัณฑิตทุกคน


       ในด้านการกีฬานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการกีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันเรือใบ และทรงมีพระปรีชาในการทรงต่อเรือด้วยพระองค์เอง ลำแรกได้พระราชทานชื่อว่า “ราชปะแตนท์” ซึ่งทรงชนะรางวัลที่ ๑ ในการแข่งขันหลายครั้ง ที่ประทับใจชาวไทยมิรู้ลืม คือ การทรงแข่งขันเรือใบประเภทโอเค พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ฯ ในกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในครั้งนั้นทรงชนะเลิศนำเหรียญทองให้แก่ประเทศไทย

   
ภาพวาดฝีพระหัตถ์
   


       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดศิลปการวาดภาพและการถ่ายภาพ ดังปรากฏภาพฝีพระหัตถ์จำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับในบรรดาศิลปินและประชาชนทั่วไปว่า ทรงมีพระอัจฉริยะในทางศิลป ในระดับสากล พระราชนิยมในศิลป และดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยและกระจายไปถึงชาวต่างประเทศด้วย ทรงศึกษาดนตรีและทรงได้รับการฝึกหัดดนตรีตามแบบฉบับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ผนวกกับพระอัจฉริยภาพทางศิลป จึงมีผลให้ทรงมีพระปรีชาในการพระราชนิพนธ์เพลงและทรงบรรเลงเครื่องดนตรีได้เกือบทุกชนิด ทรงโปรดดนตรีแบบแจ๊ส และทรงชำนาญเครื่องเป่าต่าง ๆ จนได้รับการถวายการยกย่องว่าทรงเป่าโซปราโนแซกโซโฟนได้ดีที่สุดในประเทศไทย
   

      ในการสร้างสรรค์ทางดนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนับสนุนให้มีการตั้งวงดนตรีขึ้น ในระยะแรกทรงตั้งวง“ลายคราม” ต่อมาทรงตั้งวง “อ.ส. วันศุกร์”และทรงสร้างวงแตรวง“สหายพัฒนา” โดยรวมขึ้นจากผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิด นอกจากนี้ ทรงสนับสนุนการดนตรีของนิสิตนักศึกษาทุกระดับ เมื่อมีพระราชวโรกาสก็จะเสด็จไปทรงดนตรีตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์ทำให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์และทรงมีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงไว้มากถึง ๔๓ เพลงทั้งเพลงขับร้องและเพลงประกอบการแสดงทุกเพลงมีความไพเราะเป็นที่ซาบซึ้งประทับใจของพสกนิกรชาวไทยรวมถึงชาวต่างประเทศด้วยดังเห็นได้จากการที่วงดนตรีและคณะละครชั้นนำของต่างประเทศได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลงในโอกาสต่าง ๆ และสถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาสมาชิกกิตติมศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗ โดยที่ทรงเป็นชาวเอเชียเพียงพระองค์เดียวที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรตินี้

กลับด้านบน

   

ตราสัญลักษณ พระไตรปิฏกฉบับคอมพิวเตอร์  โครงการ DLF e-Learning ในหลวงกับการสื่อสารในหลวงกับคอมพิวเตอรพระราชดำรัส
พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร
ในหลวงกับการถ่ายภาพกังหันน้ำชัยพัฒนาโครงการฝนหลวงวันเทคโนโลยีไทย
พระราชทานพรปีใหม
กลับหน้าแรก